ร้อง DSI ตรวจสอบปมที่ดินเอกชนในชุมชนน้ำแดงฯ ด้าน ‘คดีชาวบ้าน’ ศาลไม่ถอนประกัน แต่ห้ามเข้าพื้นที่พิพาท

ร้อง DSI ตรวจสอบปมที่ดินเอกชนในชุมชนน้ำแดงฯ ด้าน ‘คดีชาวบ้าน’ ศาลไม่ถอนประกัน แต่ห้ามเข้าพื้นที่พิพาท

เกษตรชุมชนน้ำแดงพัฒนาเดินน้าร้อง DSI ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เอกชนในพื้นที่พิพาท หลังเคยตรวจสอบพบการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบเมื่อปี 2552 ทั้งขอรัฐเร่งเปิดประชุมสางปัญหา ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ศาลจังหวัดเวียงสระศาลให้ประกันตัวต่อไป แต่ห้ามเข้าพื้นที่ เตรียมขึ้นศาลสืบพยานนัดแรก 7 ต.ค. 60

11 ก.ย. 2560 เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เดินทางเข้ายืนหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของที่ดินพิพาทในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา โดยเฉพาะแปลงที่บริษัทเอกชนอ้างสิทธิมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 54 แปลง แบ่งเป็นเอกสารโฉนดที่ดิน 14 แปลง และ นส. 3 จำนวน 40 แปลง ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนามาแล้วเมื่อปี 2552

การยื่นหนังสือดังกล่าวมี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับหนังสือและร่วมพูดคุยโดยรับว่าจะดำเนินการพิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไป

สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนากับบริษัทเอกชนที่เข้ามาอ้างสิทธิในที่ดินในพื้นที่ชุมชน โดยบริษัทเอกชนดังกล่าวได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเกษตรกรทั้งคดีแพ่งและอาญาหลายคดี ทั้งยังมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเกษตรกรกับคนของบริษัทในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนาตกอยู่ในความหวาดกลัว ไม่กล้าเข้าไปทำงานในแปลงเกษตรของตนเอง ส่งผลให้ขาดรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งนี้หากปล่อยให้เนิ่นนานไปอาจจะลุกลามบานปลายกลายเป็นความรุนแรงขึ้นได้

จากนั้นตัวแทนเกษตรกรได้เดินทางไปเข้ายืนหนังสือที่กรมที่ดินเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง ได้ไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งดำเนินการเปิดประชุมกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างในระดับอำเภอและดับจังหวัด กรณีชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่ประสบปัญหาป่าไม้-ที่ดินในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ

อีกทั้งขอให้มีการประสานกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเพื่อร่วมหาทางออกในการจัดซื้อที่ดินทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ แต่มีเอกสารสิทธิ์ของบริษัท/เอกชน เพื่อนำมาจัดสรรกระจายสิทธิการถือครองให้เกษตรกรได้เช่าซื้อในราคาที่เป็นธรรม เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและลดการเผชิญหน้าระหว่างเกษตรกรกับนายทุนและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งในวันเดียวกันนี้ (11 ก.ย. 2560) เวลา 9.00 น ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี นัดไต่สวน เรื่องโจทย์ยื่นฟ้องเพิกถอนการขอปล่อยตัวชั่วคราวเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนา 4 คน ในช่วงเช้าศาลพิจารณาไต่สวนไม่ทันจึงเลื่อนเป็นตอนบ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานผลการพิจารณาว่า ผู้พิพากษาได้สอบถามในเบื้องต้น จากการกล่าวอ้างของพยานโจทก์ว่าจำเลยทั้ง 4 คน เข้าไปข่มขู่ คุกคามรบกวนการทำงาน ของพยานโจทก์ ทางจำเลย ทั้ง 4 ให้การยืนยันว่าการเข้าไปของจำเลยทั้ง 4 เพื่อปกป้องสิทธิ์ในผลอาสินที่ปลูก ศาลพิจารณาให้โอกาสการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าโจทย์มีการยื่นฟ้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งจะพิจารณาไต่สวนอย่างละเอียด

อีกทั้งแต่มีเงื่อนไขว่า ห้ามกษตรกรเข้าไปในพื้นที่พิพาท (พื้นที่โจทก์ฟ้อง) และศาลนัดกำหนดวันสืบพยาน ในวันที่ 7 ต.ค. 2560

 

ข้อเท็จจริงเบื้องต้น

1.ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 – 2519 มีนายทุนสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสากลการลงทุน ได้ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน โดยตกลงจะให้เงินในราคาครอบครัวละ 10,000 บาท โดยได้จ่ายมัดจำให้กับชาวบ้านก่อนครอบครัวละ 100 -200 บาท หลังจากนั้นก็ไม่มีการจ่ายเงินส่วนที่เหลือแก่ชาวบ้านอีกเลย

ต่อมาเมื่อประมาณปี 2530 ทางบริษัทได้มีการขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จนทำให้ขาดการบริหารจัดการ มีหนี้สินจำนวนมาก จนถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินติดจำนองในธนาคารกลายเป็นหนี้เน่าที่ลูกหนี้ไม่ประสงค์ไถ่ถอน (ที่ดิน NPL) จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนปาล์มทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์

เกษตรกรไร้ที่ดินได้ร่วมกันเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้างดังกล่าว โดยคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 87/2550 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอตรวจสอบที่ดินแปลงสวนน้ำแดงและแปลงบริษัทศรีไสวสวนปาล์ม จำกัด ในท้องที่อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานีและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อทำการเข้าตรวจสอบพื้นที่

จากนั้นได้ก่อตั้งเป็นชุมชนน้ำแดงพัฒนาขึ้นในเดือน ก.พ. 2551 ปัจจุบันมีเกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 58 ครอบครัว เกษตรกรเหล่านี้ได้บุกเบิกใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในที่ดินทิ้งร้าง ทำให้เปลี่ยนจากสภาพสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นป่าทึบ กลายเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นฐานเศรษฐกิจให้คนจนมีรายได้พออยู่พอกิน

ชุมชนน้ำแดงพัฒนาและสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้นำเสนอด้านนโยบายร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในทางนโยบายเป็นไปในทิศทางที่ดี อาทิ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2556 ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ข้อ 1 – 3 ระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกับตัวแทนรัฐบาลในขณะนั้นว่าระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้ชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. 2558 ได้มีคำสั่งของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ซึ่งปัจจุบันปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนาอยู่ระหว่างการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว

2.ในปี 2551 ช่วงเริ่มต้นที่เกษตรกรไร้ที่ดินเข้าไปก่อตั้งชุมชนและใช้ประโยชน์พื้นที่ทิ้งร้าง ไม่มีเอกชนรายใดมาแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับเกษตรกรแต่ผ่านไปเกือบ 7 ปี ในช่วงปี 2559 ก็เริ่มมีเอกชนเข้ามาอ้างสิทธิและทำการตัดปาล์มในแปลงที่ชาวบ้านทำการผลิต และต่อมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 ได้มีการดำเนินคดีกับเกษตรกรทั้งทางแพ่งและอาญาหลายคดี ดังนี้

2.1 วันที่ 22 มี.ค. 2560 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนา 12 คน จากแปลงที่ดินที่พิพาท นส.3 ก เลขที่ 1939, 1943, 1959 เป็นคดีดำหมายเลขที่ 90/2560 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างสืบพยาน

2.2 วันที่ 7 เม.ย. 2560 นายภาสกร เจริญมีชัยกุล ฟ้องดำเนินคดีอาญากับเกษตรกรชุมชนน้ำแดง 2 คน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 870/2560 ในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์

2.3 วันที่ 20 มิ.ย. 2560 บริษัทสากลทรัพยากรพัฒนา จำกัด ได้ฟ้องดำเนินคดีกับเกษตรกร 1 คนเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1629/2560

2.4 วันที่ 20 เม.ย. 2560 ตำรวจ สภ.ชัยบุรี เริ่มทำการจับกุมเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนาตามหมายจับที่ลงวันที่ 17 ก.พ. 2560 ซึ่งมีเกษตรกรที่ถูกออกหมายจับทั้งสิ้น 15 คน เกษตรกรบางส่วนถูกจับกุมและบางส่วนเข้าพบตำรวจเอง แต่ทั้งหมดถูกเรียกหลักทรัพย์ในการปล่อยตัวชั่วคราวสูงถึงรายละ 600,000 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีเช่าหลักประกัน บางส่วนหยิบยืมจากญาติและได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม

ต่อมามีการยื่นฟ้องชาวเกษตรกร 15 คน แบ่งออกเป็น 3 คดี คือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560 (มีนายภาสกร เจริญมีชัยกุล เป็นโจทก์ร่วม), หมายเลขดำที่ 1461/2560 (มีบริษัท อิควอโทเรียมคอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ร่วม) และหมายเลขดำที่ 1462/2560 (มีบริษัท สากลทรัพยากร จำกัด เป็นโจทก์ร่วม) โดยแต่ละคดีฟ้องใน 3 ข้อหา คือ 1) บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข 2) ทำให้เสียทรัพย์ และ 3) อั้งยี่

3.ปัจจุบันบริษัทเอกชนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ได้ให้คนงานเข้ามาตัดปาล์มในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เกษตรกรได้ไปแจ้งความที่ สภ.ชัยบุรี หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการตอบสนองจากทางตำรวจและไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใด ๆ

วันที่ 31 ส.ค. 2560 กลุ่มคนของบริษัทสากลทรัพยากรพัฒนา จำกัดได้เข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของและพยายามทำให้สวนปาล์มที่เกษตรกรปลูกเป็นของบริษัทให้ได้ โดยใช้วิธีการให้ชายฉกรรจ์เข้ามาปักป้ายให้เกษตรกรออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน

วันที่ 2 ก.ย. 2560 มีรถไถเข้ามาตัดหญ้า ตัดปาล์มในแปลงของนายวิจิตร กรดนวล สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา ซึ่งเป็นแปลงที่มีข้อพิพาทและศาลจังหวัดเวียงสระรับฟ้องวันที่ 7 มิ.ย. 2560 และยังไม่มีคำพิพากษาว่าใครมีสิทธิดีกว่าในที่ดิน ทั้งนี้ หากเกษตรกรคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาเข้าไปยุ่งก็จะถูกขู่ว่าจะยื่นขอถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งก็มีการได้ยื่นคำร้องขอถอนการปล่อยชั่วคราวจริง และศาลได้มีการนัดไต่สวนในวันที่ 11 ก.ย.นี้

4.คณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2552 เห็นชอบให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่ดินในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่งทั้ง 3 ชุมชนเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

คณะทำงานได้ทำการตรวจสอบที่ดินแปลงที่มีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก จำนวน 9 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 239-0-52 ไร่ ได้แก่ น.ส. 3 ก เลขที่ 1940, 1969, 1943, 1941, 1954, 1984, 1945, 1987, 1944 ซึ่งเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดออกในช่วงปี 2520 จากการตรวจสอบจากข้อมูลในเอกสารสอบสวนสิทธิการถือครองที่ดิน (นส.3 ก ) กับภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าข้อมูลเรื่องการทำประโยชน์ขัดแย้งกับภาพถ่ายทางอากาศ ผลการตรวจสอบจึงเชื่อว่าเอกสารสิทธิ์แปลงที่ถูกตรวจสอบดังกล่าวมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าข่ายออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ และยังพบว่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียงก็มีการออกเอกสารสิทธิ์ในลักษณะดังกล่าวอีกหลายแปลง

5.ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่บริษัทนำมาฟ้องชุมชนน้ำแดงพัฒนา ได้แก่ เอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก. เลขที่ 1941, 1945, 1984, 1987 เป็นแปลงที่เคยมีการตรวจสอบจากคณะทำงานฯ เมื่อปี 2552 แล้ว และพบว่าเข้าข่ายออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ส่วนเอกสารสิทธิ์แปลงอื่นๆ ที่เอกชนนำมาฟ้อง ก็เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงและออกในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่ดินแปลงที่เคยถูกตรวจสอบแล้วเมื่อปี 2552 จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าเอกสารสิทธิ์ที่เอกชนน้ำมาฟ้องชาวชุมชนน้ำแดงพัฒนานั้น น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเช่นเดียวกัน

6.เมื่อผลการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนาเมื่อปี 2552 พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ น่าเชื่อได้ว่าการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนาที่บริษัท/นายทุนนำมาอ้างสิทธิกับเกษตรกรนั้น จะเป็นการได้มาซึ่งที่ดินที่ขัดหรือแย้งต่อประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งคดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ถือเป็นคดีความผิดที่อยู่ในขอบเขตที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจที่จะทำการสืบสวนสอบสวนได้ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559

เอกสารสิทธิ์ที่บริษัทเอกชนนำมาเป็นฐานในการฟ้องเกษตรชุมชนน้ำแดงพัฒนา มีจำนวนกว่า 54 แปลง ซึ่งเอกสารสิทธิ์ในแปลงเหล่านั้นมีการออกมาตั้งแต่ปี 2520 หรือ 2524 และหลายแปลงมีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองมาแล้วหลายราย ทำให้มีความยุ่งยากซับซ้อนในการตรวจสอบ ลำพังอาศัยกำลังของเกษตรกรย่อมไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้อง และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเอกชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ จึงจำเป็นต้องอาศัยอำนาจและวิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

นอกจากนี้ กรณีพิพาทเรื่องที่ดินในพื้นที่ชุมชนน้ำแดง ปรากฏว่ามีตัวแทนของบริษัทหรือลูกจ้างนายทุนเข้ามาในพื้นที่ และเกิดการกระทบกระทั่งกัน การข่มขู่ คุกคามกันอยู่บ่อยครั้งดังที่กล่าวไว้แล้วนั้น น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีนายทุน ผู้มีอิทธิพล หรือแม้แต่ข้าราชการบางคนมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนในการดำเนินการ เพราะแทบทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่คนของบริษัทเข้ามาอ้างสิทธิ์และเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มที่เกษตรกรปลูกไว้ เมื่อสมาชิกสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ชุมชนน้ำแดงพัฒนาไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ชัยบุรี ตำรวจก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนและผู้มีอิทธิพล

บางครั้งมีการปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงให้เปลี่ยนจากการแจ้งความให้ดำเนินคดีเป็นเพียงแค่การลงบันทึกประจำวัน ที่จะรับแจ้งความจากเกษตรกรที่ประสบปัญหาถูกลักขโมยผลปาล์มน้ำมัน ในทางกลับกันหากเป็นฝ่ายบริษัทเข้าไปแจ้งความเกษตรกร การจับกุมและดำเนินคดีกลับเป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ