คนชุมชนน้ำแดงผวา โฉนดโผล่นายทุนอ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่

คนชุมชนน้ำแดงผวา โฉนดโผล่นายทุนอ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่

บริษัทเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมากว่า 20 ปี ติดป้ายขับไล่ชาวชุมชนน้ำแดงออกจากพื้นที่ ชาวบ้านหวั่นความขัดแย้งรุนแรงถูกอิทธิพลมืดคุกคาม ทั้งโดนคดีแพ่ง-อาญา เตรียมเข้ากรุงเทพฯ พร้อม Pmove ยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 11 ก.ย.นี้

9 ก.ย. 2560 ความคืบหน้ากรณีเกษตรกรไร้ที่ดินชุมชนน้ำแดงพัฒนาเข้าใช้ประโยชน์สร้างที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ หมู่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และเรียกร้องการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ได้ถูกตัวแทนบริษัทสากลทรัพยากร จำกัด อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมากว่า 20 ปี โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในชั้นศาล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งอ้างเป็นตัวแทนบริษัทสากลทรัพยากร จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ สภ.ชัยบุรี เดินทางเข้าไปปักป้ายประกาศบริเวณชุมชนน้ำแดงพัฒนา กว่า 6 จุด เพื่อแสดงสิทธิ์ในที่ดิน โดยเนื้อหาในประกาศระบุให้ชุมชนออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน นับจากวันประกาศ คือวันที่ 16 มี.ค. 2560 ซึ่งผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว

“ก่อนหน้านี้ตัวแทนชุมชนน้ำแดงได้ไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เข้ามาระงับการจับกุมและดำเนินคดีกับสมาชิกที่อาศัยอยู่ในชุมชน และเรียกร้องให้แก้ปัญหาตามแนวทางเดิม ตามมติของอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของพีมูฟ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแม้แต่หน่วยงานเดียว” สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนากล่าวว่า

สมาชิกชุมชนน้ำแดงระบุด้วยว่า ขณะนี้ชาวบ้านมีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะบานปลายเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และวิตกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังหวั่นว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากการที่คนงานบริษัทได้เข้ามาปักป้ายข้อความที่ระบุถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นช่วงก่อนที่ชาวบ้านชุมชนน้ำแดงพัฒนาชุดแรกจำนวน 5 คน จะถูกจับกุม ในวันที่ 20 ก.ย. 2560 ภายในชุมชนน้ำแดงพัฒนา หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านที่ถูกออกหมายจับทยอยเข้ามอบตัวรวมเป็นจำนวนทั้งหมด 15 ราย ในเวลาต่อมา และเรียกหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวถึง 600,000 บาทต่อคน

ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องชาวบ้าน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 แยกเป็น 3 คดี คือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1460/2560, หมายเลขดำที่ 1461/2560 และหมายเลขดำที่ 1462/2560 โดยแต่ละคดีจะถูกฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1) บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข 2) ทำให้เสียทรัพย์ และ 3) อั้งยี่ ซ่องโจร

คดีดังกล่าวมีเอกชน 3 รายเข้าเป็นโจทก์ร่วม คือ 1.บริษัท สากลทรัพยากรพัฒนา จำกัด 2.บริษัทอิควอโทเรียลคอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด 3)นายภาสกร เจริญมีชัยกุล แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเวียงสระอ่านแถลงการณ์ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิ์ยื่นฟ้องในข้อหาซ่องโจร เนื่องจากข้อหาซ่องโจรเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐ โจทก์ที่มีสิทธิ์ยื่นฟ้องเป็นอัยการเท่านั้น

สำหรับความเคลื่อนไหวต่อไป สมาชิกชุมชนน้ำแดงกล่าวว่า จะเดินทางขึ้นไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ Pmove (พีมูฟ) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในวันจันทร์ที่ 11 ก.ย. 2560

 

ประวัติความเป็นมา ของชุมชนน้ำแดงพัฒนา

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งอยู่ ม.9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ชาวบ้านใช้ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน 4 หมู่บ้าน

ต่อมา พ.ศ. 2520 ได้มีนายทุนชาวสิงคโปร์ร่วมกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพียงไร่ละ 100-200 บาท มีการเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์ม จำนวน 2,545 ไร่ โดยมีการออกเอกสารสิทธิบางส่วน และจดทะเบียนในนาม บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด

พ.ศ. 2531 บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด ประสบปัญหาภาวะหนี้สิน จนถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นที่ดิน NPL ถูกปล่อยทิ้งร้าง

พ.ศ. 2551 เกษตรกรไร้ที่ดินได้รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เปลี่ยนจากสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจน โดยใช้มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และ อ้างอิงรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2550 เรื่องสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ และเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

พ.ศ. 2552 สกต.ได้มีการร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว ผลการตรวจสอบที่ดินส่วนหนึ่งพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิที่ดินมิชอบ ไม่ได้มีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในที่ดินในช่วงปี พ.ศ.2497-2505 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง และที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจำนวนมาก โดยใน พ.ศ.2546 ภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน พบว่ารัฐเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ เช่าที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยใน พ.ศ.2546 มีพื้นที่หมดสัญญาเช่าประมาณ 70,000 ไร่ ในขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน

แม้รัฐบาลมีมติ ค.ร.ม. วันที่ 26 ส.ค. 2546 ให้เร่งรัดสำรวจพื้นที่ทั้งที่หมดอายุและยังไม่หมดอายุการอนุญาต และนำมาจัดระเบียบการอนุญาตได้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้ไม่มีการนำที่ดินหมดสัญญาเช่า และที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมาจัดสรรให้คนจน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ