ติงโรงแรมดังปลูกต้นไม้ใหญ่เบียดทางเท้าย่านนิมมานฯ แขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ระบุ โครงการขอปรับภูมิทัศน์และเว้นระยะทางเท้า 0.9 เมตร ชาวเน็ตแชร์ภาพจุดแคบไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ขณะที่ย่านนิมมานเป็น 1 ใน 4 ย่านที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นเมืองเดินได้ที่จะช่วยฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ได้ในอนาคต
กรณีมีผู้โพสต์ภาพและแชร์ไปอย่างแพร่หลายถามถึงความเหมาะสมของพื้นที่ทางเดินเท้า หน้าโรงแรมยูนิมมานต์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ที่กำลังมีการปรับภูมิทัศน์ โดยนำต้นไม้ใหญ่มาปลูกและปรับพื้นที่ทางเดิน แต่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการกีดขวางการเดินเท้าของบุคคลทั่วไปและผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ ซึ่งพบว่าบางจุดมีระยะคับแคบนั้น
จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ทางเท้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของแขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 กรมทางหลวงที่ได้รับมอบมาจากเทศบาลนครเชียงใหม่เนื่องจากมีโครงการขยายถนนและรางระบายน้ำย่านถนนนิมมานเหมินท์ นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ ผอ.แขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ชี้เเจงว่าทางโครงการของโรงเเรมยูนิมมานต์ ได้ขอปรับปรุงทางเท้าและปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงามหน้าโครงการ และแขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้อนุญาตให้ดำเนินการเพื่อความสวยงาม ซึ่งดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยปลูกไม้ยืนต้น (ต้นแอปเปิ้ลเมือง) เพื่อให้เกิดความร่มรื่น ซึ่งขณะทำการลงต้นไม้ต้องมีการค้ำยันให้แข็งแรง จึงทำให้พื้นที่ทางเท้าลดลง อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้สัญจรบนทางเท้า ทางแขวงการทางฯ ได้แจ้งโครงการแก้ไขค้ำยันใหม่ไม่ให้กระทบกับผู้สัญจร และขออภัยในความไม่สะดวก
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวและสื่อสังคมออนไลน์มีข้อสังเกตุสอบถาม ผอ.แขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 เพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น การนำต้นไม้ใหญ่ยืนต้นมาปลูกใหม่ อาจให้ร่มเงาก็จริง แต่พื้นที่สาธารณะสำหรับคนเดินได้หายไป และในอนาคตเกรงว่ารากต้นไม้อาจจะเจาะทำลายถนนได้ โดยเฉพาะต้นแอ็ปเปิ้ลเมือง ซึ่งมีขนาดใหญ่ เบียดพื้นที่ทางเท้า ใบร่วงและต้องตัดแต่งกิ่งบ่อย ซึ่งผอ.แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 ระบุว่า มีการบล็อคหลุมปลูกไว้ และโครงการยืนยันจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษ
ส่วนระยะความกว้างของทางเท้าผอ.แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 แจ้งว่ากำหนด อยู่ที่ระยะ 0.9 เมตร ขณะที่จากการสำรวจพื้นที่ของผู้สื่อข่าวพบว่า หลายจุดมีระยะแคบที่ผู้เดินเท้าและรถวีลแชร์ไม่สามารถผ่านได้ โดยเฉพาะจุดที่มีบันไดขึ้นโครงการ และมีผู้แสดงข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ถึงระยะสัดส่วนทางเท้าที่เหมาะสมของแต่ละคน คือบุคคลทั่วไป 0.75 เมตร รถวีลแชร์ มีระยะ 1 เมตร ผู้พิการทางการมองเห็น ระยะ 1.200 เมตร เป็นต้น ทั้งนี้ ผอ.แขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 จะทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวกับประชาชนอีกครั้ง
อ้างอิง : ขนาดความกว้างของทางเท้า https://japan1616.wordpress.com/2014/09/02/sidewalk-width/
อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม หมอต้นไม้ แสดงความเห็นว่า แอปเปิ้ลเมืองเป็นไม้ผล ช่วงแก่และผลสุกจะร่วงหล่นลงพื้นได้ ดูจากลักษณะต้นได้เห็นว่ามีขนาดใหญ่ เป็นไม้ขุดล้อมที่รากจะถูกตัดไปมากแล้ว โอกาสที่รากจะดันทางเท้าอาจมีน้อย แต่สิ่งที่เกรงคือไม้ค้ำยัน หากไม่แข็งแรงพอจะล้มก่อน ซึ่งจากที่เห็นการใช้ไม้ค้ำยัน บางต้นเป็นแป๊บเหล็ก เป็นค้ำยันถาวร สวยงามแข็งแรง ทนทานกว่าใช้ไม้เพราะเป็นที่สาธารณะ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ปลูกต้นไม้ ทำให้ทางเท้าสาธารณะหายไป และในความเป็นจริงแล้วการสร้างอาคารขนาดใหญ่จะมีระยะถอยร่นกับพื้นที่สีเขียวยั่งยืน
จากการตรวจสอบข้อมูล การควบคุมอาคารในกรุงเทพและต่างจังหวัด จะมีกฏหมายบังคับคือ มีข้อบัญญัติและกฏกระทรวงหรือเทศบัญญัติของท้องถิ่นบังคับใช้ เกี่ยวกับแนวร่นอาคารจากทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลังอาคาร และระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียง ขณะที่พื้นที่บริเวณนี้ เดิมไม่มีอาคารประชิดกับถนน แต่ต่อมามีการก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้ตามกฏหมายอาคาร ถ้ายิ่งสูงยิ่งต้องถอยร่นห่างออกไปจากทางสาธารณะ เพื่อความปลอดภัย
อ่านรายละเอียด http://www.nrv.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539733874&Ntype=2
ทั้งนี้ ย่านนิมมานเหมินท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีการสำรวจวิจัยว่า เป็น 1 ใน 4 ที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่เดินได้ของเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นการสำรวจของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผลสำรวจพื้นที่ที่เหมาะแก่การเดินในเชียงใหม่สิบแห่ง อันดับ 1 ย่านช้างเผือก 72 คะแนน 2. ย่านท่าแพ 58 คะแนน 3.ย่านเจริญเมือง ย่านช้างคลาน และย่านในเวียง 57 คะแนน 4.ย่านกาดหลวง 56 คะแนน 5. ย่านไนท์บาซาร์ ย่านประตูหายยา ย่านอินทวโรรส และย่านนิมมานเหมินท์ 52 คะแนน ซึ่งพบว่าคนที่จะมาเดินในเชียงใหม่ มี 2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปในเมือง ซึ่งกลุ่มหลังต้องใช้การเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเมืองเดินได้เมืองเดินดีจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ได้ในอนาคต อ่ายรายละเอียด http://prachatham.com/article_detail.php?id=347
หมายเหตุ : นิยามของ “ทางเท้า”
พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 109 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางเท้าหรือทางใด ๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร”
พรบ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ระบุ” ทางเท้า” หมายความว่า ส่วนหนึ่งของทางหลวงที่ทําหรือจัดไว้สําหรับคนเดิน ในมาตรา 47 ระบุ “ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างสิ่งใดในเขตทางหลวง เว้นแต้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อํานวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อํานวยการทางหลวง” แต่ ถ้าหากผิดเงื่อนไขที่กําหนดในการอนุญาตผู้อํานวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อํานวยการทางหลวงจะเพิกถอนเสียก็ได้
คลิปข่าวจากเพจ : https://www.facebook.com/guruguroochiangmai/