ปักหมุดชัยภูมิ ณ จุดเกิดเหตุ ร้องอัยการภาค 5 สอบพยานเพิ่ม

ปักหมุดชัยภูมิ ณ จุดเกิดเหตุ ร้องอัยการภาค 5 สอบพยานเพิ่ม

60 วันแห่งการจากไปของชัยภูมิ ป่าแส  ร่วมรำลึกปักหมุดชัยภูมิ ณ จุดเกิดเหตุ ย้ำเตือนหลักการกระบวนการยุติธรรม เร่งให้คืนความจริงและลดอคติ ส่วนคดีสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว ทนายเตรียมยื่นหนังสืออัยการภาค 5 พรุ่งนี้ ให้สอบพยานเพิ่มและเปิดกล้องวงจรปิด

วันที่ 17 พค. 60 เป็นวันครบรอบ 60 วันที่นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เสียชีวิตจากการวิสามัญฆาตกรรม ที่ด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านกองผักปิ้ง เครือข่ายเยาวชนพื้นที่นี้ดีจัง คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายประชนจับตามองคดีชัยภูมิ ร่วมกันจัดกิจกรรม 60 วันแห่งการจากไปของชัยภูมิ ป่าแส บริเวณจุดเกิดเหตุ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

โดยเริ่มเวลา 12.30 น.มีพิธีชอเชยอ่อจ่าปี้เว เป็นพิธีทำบุญเลี้ยงข้าวให้ผู้เสียชีวิต ชาวบ้านได้ทำกับข้าวมาบอกกล่าวให้ชัยภูมิรับรู้ และเลี้ยงข้าวผู้ร่วมงาน จากนั้นเป็นพิธีชอเชยแปห่อตู๊ปาปี้เว พิธีจุดเทียนอธิษฐานตามธรรมเนียมความเชื่อดั้งเดิมของชาวลาหู่ และภาวนาให้ความจริงและความเป็นธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว มีตัวแทนกล่าวรำลึกถึงเหตุการที่เกิดขึ้น

จากนั้นมีการปักหมุดชัยภูมิและอ่านคำประกาศ โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายประชนจับตามองคดีชัยภูมิ ซึ่งได้จัดทำหมุดรูปสามเหลี่ยมจารึกไว้ ณ จุดเกิดเหตุ จากนั้นมีกิจกรรม นำอ่อเวะ หรือ ดอกเสื้อลาหู่ ที่ทำจากไหมพรมตกแต่งเสื้อชนเผ่าลาหู่ นำมาวางรำลึกถึงชัยภูมิ และการเต้นแจโก่ลาหู่โดยเยาวชนลาหู่ที่ชัยภูมิเคยสอนตีกลองและเต้นรำ

นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ที่ดูแลชัยภูมิ กล่าวว่าสำหรับตัวเองเมื่ออยู่ในพื้นที่ยอมรับว่ารู้สึกกังวลและกลัว. การมาที่นี่เพื่อมารำลึกถึงน้องชายคืชัยภูมิในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งอยากเห็นความจริงและความยุติธรรมที่เกิดขึ้นและอยากรู้ว่าสังคมเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิอย่างไร คิดว่ามันควรที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ควรก็ถึงเวลาที่ความจริงน่าจะปรากฏและอยากเห็นความจริงเกิดขึ้นกับน้องชายที่ตายไปและคิดว่าการที่ตัวเองอยู่ในพื้นที่ก็อยากจะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมิตรกับประชาชน อยากฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหันมามองชุมชนเล็กๆแห่งนี้มากขึ้ยอย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องชายแล้วก็ไม่อยากให้มันเป็นเพราะมันไม่ควรแลกกันแบบนี้ อยากจะให้เราเห็นว่าทุกชีวิตมีคุณค่าและมองเห็นความเป็นคน

 

อ.มาลี สิทธิเกรียงไกร ตัวแทนอาจารย์กล่าวว่า ชัยภูมิ ป่าแส เป็นเพียงหนึ่งในสามัญชนมากมายที่ประสบกับการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เราจึงจัดทำหมุดอนุสาวรีย์นี้ขึ้นมาเพื่อรำลึกและตั้งคำถามต่อกรณีชัยภูมิ ป่าแส โดยมีข้อความตรงกลางว่า “เพื่อสัจจะและความยุติธรรม ณ. ที่แห่งนี้ ชัยภูมิ ป่าแส ถูกสังหารอย่างมีเงื่อนงำ” และมีข้อความรอบหมุดขึ้นมาว่า “แด่สามัญชนผู้ถูกสังเวยด้วยอยุติธรรม ให้ปวงชนพ้นจากชะตา ไม่ตาย ก็ติดคุก สามัญชนจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาค”
อ.มาลีกล่าวว่า สามเหลี่ยมของหมุดเพื่อเตือนให้สังคมไทยระลึกถึงหลักการสำคัญ 3 ประการของกระบวนการยุติธรรม คือ 1 การแสวงหาสัจจะในคดีความ 2.การมีจิตประภัสสรอันปราศจากอคติ 3.มนุษยธรรมหรือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเลือกสามเหลี่ยมด้านเท่าเพื่อย้ำเตือนถึงความเท่าเทียมเสมอภาค
“หมุด หรืออนุสาวรีย นี้จะบรรลุผลก็ต่อเมื่อมันได้ทำหน้าที่ของมันคือการบรรจุและส่งต่อข้อความความหมายความรู้สึกและความทรงจำอันขมขื่นของสามัญชนทั้งปวงจากกลุ่มหนึ่งสู่อีกรุ่นจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นที่สองจากสังคมนี้ไปถึงสังคมอื่นๆเพื่อแสวงหาสัจจะและความยุติธรรมอันเป็นเป้าหมายสุดท้าย”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า ตนเห็นว่าหน่วยงานรัฐจะต้องปรับปรุงหลายเรื่องเพื่อไม่ให้เกิดบุคคลที่ต้องประสบชะตากรรมแบบชัยภูมิโดยเห็นว่ามี 6 เรื่องที่รัฐจะต้องนำไปแก้ไขคือ

1.รัฐต้องมีกฎหมายคือร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายให้ออกโดยเร็วเพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าหนุนร่างฉบับนี้แต่เมื่อผ่านเข้าสู่ สนช.ถูกตีกลับ นายรัฐมนตรีและรัฐบาลจะต้องรีบผลักดันให้เข้าสู่ สนช.อีกครั้งและยืนยันว่าเป็นนโยบายเพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดลักษณะเดียวกัน

2.มีคนจำนวนหนึ่งพยายามทำเรื่องสังคมและชุมชนคนเหล่านี้ควรที่จะได้รับการคุ้มครองเราเรียกว่า White list โดยมีชื่อของพวกเขาอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นบทบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรมโดยตรง

3.การเยียวยารัฐจะต้องเข้ามาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างกรณีนี้ ถึงแม้ว่าทหารจะมาช่วยซ่อมแซมบ้านให้ชัยภูมิ แต่คิดว่าควรดำเนินการมากกว่านี้ในภาพรวมของชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยงานรัฐและอยากจะเห็นว่ารัฐประกาศแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ร่วมกันกับเรา

4.รัฐจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานในการใช้อำนาจตรวจสอบควบคุมอย่าง ที่เราเห็นบริเวณด่านมักจะมีการใช้อำนาจถือปืน ตรวจค้นและสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรมีแต่ความสูญเสียและไม่เข้าใจกันของประชาชน

5.รัฐต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมีความคิดความเชื่อและมีชาติพันธุ์ที่หลากหลายและพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยโดยควรที่จะต้องมีหน่วยงานด้านวัฒนธรรมโดยตรงซึ่งที่ผ่านมาไม่มี

6. รัฐต้องพยายามลดคติทางชาติพันธุ์ว่าชนเผ่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่าเลิกการปรักปรำและทำความเข้าใจใหม่เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าลดช่องว่างระหว่างกันได้มากขึ้นไม่ให้เกิดความไม่เข้าใจกันจนปัญหาบานปลาย

ด้านนายสุมิตรชัย หัตถาร ทนายความผู้ดูแลคดึกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในคดีนี้ได้มีการสรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้วแต่ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากขาดภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งแม้ทหารจะมอบให้จนท.ตำรวจแต่เปิดไม่ได้ อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ตัวแทนเครือข่ายจะไปยื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการภาค 5 ให้ติดตามภาพจากกล้องวงจรปิดและสอบพยานเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อเท็จจริงเปิดเผยสู่สาธารณะ

สำหรับในภาคค่ำ มีการเปิดมินิคอนเสิร์ตสานฝันจะอุ๊ ที่ลานโบสถ์ บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดย กลุ่มรักษ์ลาหู่ คลองเตยดีจัง คลี ปกาเกอะญอ

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ