บทความและคลิปที่จะได้อ่านและชมนี้ เก่ง – วัชรินทร์ ยอดคำเหลือง ศิลปินพื้นบ้านผู้สนใจผลิตสื่อเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับศิลปพื้นเมืองล้านนา มอบให้ร่วมกันเผยแพร่เพื่อแสดงความคารวะ และ อาลัย พ่อครูอำนวย กลำพัด ผู้ก่อตั้ง “อำนวยโชว์” วงดนตรีวัฒนธรรมวงแรกของเชียงใหม่ ซึ่งได้ที่เสียชีวิตในวัย 85 ปี ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2560
โดยเป็นบทความที่ได้เรียบเรียงจากการพูดคุย กับ พ่อครูอำนวย กลำพัด ณ ห้องบันทึกเสียงรายการวิทยุ ย่านตลาดสันป่าข่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546
ส่วนคลิปเป็นบรรยากาศงาน กิ๋นหอมต๋อมม่วน อู้ม่วนจ๋าหวาน กับ พ่อครูอำนวย กลำพัด จัดขึ้น ณ บ้านของพ่อครูอำนวย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ในงานนี้มีศิลปินช่างซอ นักค่าว นักกวี นักดนตรี ลูกศิษย์ รวมถึงญาติสนิทมิตรสหาย ของพ่อครูอำนวย มาร่วมพบปะสังสรรค์-พูดคุย รำลึกถึงครั้งสมัยวงดนตรีคณะอำนวยโชว์ เมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อนด้วย ซึ่งเป็นคลิปบรรยากาศสุดท้ายของการรวมกลุ่มของคนในแวดวงศิลปินพื้นบ้านล้านนาที่ได้พูดคุยกับพ่อครูอำนวย กลำพัด
ข้อเขียนและคลิปภาพที่เก่งบันทึก จะเป็นส่วนหนึ่งที่เก่งตั้งใจทำให้ผลงานของพ่อครูอำนวย จะคงอยู่แผ่นดินล้านนา ตลอดไป”… ดังคำพูดที่พ่อครูอำนวยบอกเสมอว่า…”ตั๋วต๋าย บะเสียดายเต๊าฮีตฮอย”(แม้ว่าตัวเราจะเสียชีวิตไป ก็ไม่เสียดายเท่าการสูญเสียจารีตประเพณี-ศิลปวัฒนธรรม ของเรา)
1. ภูมิหลัง
นายอำนวย กลำพัด เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่กรุงเทพ ต่อมาย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงสงครามโลก เมื่อครั้งสมัยเด็ก มีนิสัยชอบอ่านหนังสือ คนเฒ่าคนแก่ก็มักหา “ค่าวซอ”มาให้อ่าน รวมทั้งสอน และถ่ายทอดลีลาการเล่าค่าว ให้นายอำนวย ในสมัยก่อนวิทยุมีราคาแพงมาก “ค่าว” จึงถือเป็นเครื่องที่สร้างความบันเทิงให้แก่คนในยุคนั้น การเล่าค่าวสมัยนั้น เนื้อมีหลากเรื่องราว และหลายอารมณ์ เช่น ธรรมมะสอนใจ วิถีชีวิตชาวบ้าน อู้สาวบะเก่า ฯลฯ ขณะเดียวกันก็หัดเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา คือ “ขลุ่ย” ควบคู่ไปกับการเล่าค่าว
ด้านการศึกษา นายอำนวย เข้าศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนบ้านแมวิทยาคาร และโรงเรียนบูรณศิลป์ ต่อมาย้ายบ้านอยู่ข้างวัดช่างกระดาษ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่ออายุประมาณ 13 ปี มีโอกาสบวชเรียน กับครูบาสุตานนท์ และได้เรียนการอ่านกาพย์ และการเทศน์มหาชาติ กับพระมหาปรีชา จนกระทั่งอายุ 16 ปี จึงลาสิกขาออกมา เพื่อทำงาน
2. แรงบันดาลใจ และการก้าวเข้าสู่ “ธุรกิจ ซอ-ดนตรีล้านนา”
นายอำนวยย้ายจากบ้านที่อำเภอสันป่าตอง มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ สมัยนั้น สถานีวิทยุ วปถ.2 พึ่งจะก่อตั้งขึ้น ช่วงแรกนั้นเจ้าที่สถานียังไม่มีบ้านพัก จึงมาต้องมาเช่าบ้านของนายอำนวยอยู่ มีเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ วปถ.2 ท่านหนึ่งชื่อ จ่าผ่อน ถวิลกิจ เห็นว่านายอำนวย เสียงดี เลยชวนไปเล่นละครวิทยุ คณะมิตรไมตรี เรื่องที่แสดงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ โดยนายอำนวยรับบทเป็นพระเอก ซึ่งก็เป็นที่รู้จักแก่แฟนละครวิทยุอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น ต่อมาปี 2504 ได้ตั้งคณะละครกับเพื่อน ชื่อคณะ สามปอยหลวง ใช้ดนตรีสะล้อ ซึง บรรเลงประกอบการแสดง เนื้อเรื่องที่แสดงก็จะเกี่ยวกับธรรมะ และเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน ทุกครั้งที่แสดงจะมีผู้ชมมาชมกันจนเต็มสถานี สมัยนั้นค่าจ้างนักแสดงเพียง 3-5 บาท และชื่อเสียงของนายอำนวยก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
ต่อมา ห้างเชียงใหม่เกษม ย่านสันป่าข่อย อ.เมืองเชียงใหม่ มาจ้างให้โฆษณายางรถบริสโตน เป็นรูปแบบค่าววิทยุ นายอำนวยจึงแต่งค่าวโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก เรื่องราวของความรักที่ไม่สมหวัง รำพึงรำพันถึงคนรัก รวมถึงศึกษาการแต่งกลอนจาก คุณวันเพ็ญ ณ เชียงใหม่ (ณ เวียงพิงค์)
มีครั้งหนึ่ง นายอำนวย มีโอกาสไปเที่ยวงานฤดูหนาว จ.เชียงใหม่ ได้เห็นการแสดงละคร การแสดงลิเก และการแสดงลำตัด โดยศิลปินจากภาคกลาง สังเกตเห็นว่าการแสดงเหล่านั้น มีการร้องตอบโต้กัน แบบสองแง่ สองง่าม รวมถึงเอาเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงประกอบ จึงเกิดความคิดว่า “น่าจะลองเอา ซอพื้นบ้านล้านนา มาทำแบบนี้บ้าง เพื่อเป็นการยกระดับซอ และดนตรีพื้นบ้านล้านนา” ขณะเดียวกัน นายอำนวยอ่านหนังสือพิมพ์พบเรื่องราวของ นายสมัย อ่อนวงศ์ ซึ่งเป็นวงแคน จากทางภาคอีสาน ที่สามารถนำวงแคนไปทำการแสดงถึงต่างประเทศได้เป็นวงแรก
นับจากจุดนี้เอง ถือเป็นจุดประกายความคิด และเป็นแรงบันดาลใจให้นายอำนวย คิดริเริ่มตั้งวงดนตรีพื้นบ้านล้านนา และปรับเปลี่ยนรูปแบบของการขับซอพื้นบ้านล้านนา
ช่างซอ ช่างปี่ และนักดนตรี ในทีมงาน “อำนวยโชว์” ควบคุมวง โดย พ่อครูอำนวย กลำพัด ถ่ายเมื่อประมาณ ปี 2512
ปี 2507 นายอำนวย ได้ก่อตั้งวงดนตรีวัฒนธรรมวงแรก ชื่อว่า “อำนวยโชว์” โดยดึงเอาศิลปินช่างซอหลายๆท่านมาร่วมงาน อาทิ บัวซอน เมืองพร้าว บุญศรี สีดำ ฯลฯ
นายอำนวยเป็นผู้ริเริ่มปรับเปลี่ยนขนบหลายๆอย่างในวงการซอ เช่น ยกระดับการขับซอให้ขึ้นแสดงบนเวที ปรับจากนั่งซอมาเป็นยืนซอ(ได้แนวคิดมาจากการดูลำตัด) มีการสอน และปรับเทคนิค บทบาทในการแสดงซอ ให้เหมาะสมกับบุคลิคของช่างซอแต่ละคน รวมทั้งเป็นผู้คิดค้น และสร้างรูปแบบของ “ละครซอ” (ได้แนวคิดมาจากละครโทรทัศน์ ละครเวที) ในส่วนเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงก็เอามาจากชีวิตจริงของนายอำนวยเอง นอกจากนี้นายอำนวยยังเป็นผู้ริเริ่มนำเพลงพื้นบ้านล้านนา มาประยุกต์โดยการแต่งเนื้อร้อง เช่น เพลงแม่เหล้ละกอน ใส่บทซอเข้าไป จนกลายเป็นที่รู้จักในชื่อว่าเพลงสาวเหนือเบื่อรัก
การแสดงของคณะอำนวยโชว์ นายอำนวยทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศ(พิธีกร) โดยจะเริ่มเปิดการแสดงเวลา 20.00 น. จนถึง 00.00 น. โดยมีรายการแสดง ดังนี้
1. เปิดวง/เปิดการแสดง โดยการอ่านค่าว เชิญคนมาดูการแสดง และนำทำนองซอล่องน่านมาใส่จังหวะ
2. ซอทำนองน้อยใจยา
3. เพลงไทยลูกทุ่ง 3 เพลง ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา สะล้อ ซึง บรรเลง
4. ซอทำนองพม่า (ใช้ตัวตลกสองคนเล่นมุขตีฉิ่ง)
5. รำยอยศพระลอ
6. ละครซอเรื่องแฝงคติสอนใจ เช่น น้ำตาเมียหลวง เตโจยาโม(ผัวดีเมียดี ผัวชั่วเมียชั่ว) ใช้เวลาในการแสดง 1 ชั่วโมง โดยนายอำนวยจะเป็นผู้กำกับตลอดการแสดง รวมทั้งแทรก ซอทำนองซอเงี้ยวตอบโต้กัน เชิงสองแง่สองง่าม เพื่อสร้างสีสันให้การแสดงอีกด้วย
7. การแสดงฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง ตบมะผาบ ฟ้อนสาวไหม ฯลฯ
8. การแสดงฟ้อนดาบ และร้องเพลงปลูกใจ เพลง “หากสยามยังอยู่”
9. ซอทำนองปั่นฝ้าย แบบเมืองน่าน จังหวะ 3 ช่า (โดยมีนายอำนวยเป็นนักร้องนำ)
10. เพลงลา
11. เพลงมอญกละ 3 ช่า (เพลงไตเติ้ลปิดรายการ)
สมาชิกในวงขณะนั้นมี 37 คน นายอำนวยได้วางระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล มีการจ้างครูมาสอนสมาชิกในวงให้อ่านโน้ตสากล สอนให้เล่นดนตรีสากล สอนการเต้น รวมไปถึงสอน และดูแลในเรื่องการแต่งกายในการแสดง
คณะอำนวยโชว์ เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2513 ถึง 2517 ถือว่าเป็นช่วงที่คณะอำนวยโชว์โด่งดังถึงที่สุด ต่อมาสังคมไทยมีการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรม วัยรุ่นนิยมนุ่งสั้น สมาชิกในวงบางคนก็หันไปนิยมการแต่งตัวตามกระแสสังคมขณะนั้น ซึ่งก็สวนทางกับความคิดของนายอำนวย ประกอบกับ ในปี 2518 นายอำนวยลงสมัครสมาชิกสภาผู้เทนราษฏร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเกิดความท้อแท้ และยุบคณะอำนวยโชว์ ในปี 2520
สำหรับคลิปด้านล่างนี้ เป็นภาพบรรยากาศงาน กิ๋นหอมต๋อมม่วน อู้ม่วนจ๋าหวาน กับ พ่อครูอำนวย กลำพัด จัดขึ้น ณ บ้านของพ่อครูอำนวย ณ บ้านเวียงหนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน วันที่ 28 เมษายน 2560 ในงานนี้มีศิลปินช่างซอ นักค่าว นักกวี นักดนตรี ลูกศิษย์ รวมถึงญาติสนิทมิตรสหาย ของพ่อครูอำนวย มาร่วมพบปะสังสรรค์-พูดคุย รำลึกถึงครั้งสมัยวงดนตรีคณะอำนวยโชว์ เมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน (เช่น ค่าวลาผู้ชม และเพลงปิดวง หลังจากจบการเเสดงของคณะอำนวยโชว์) และที่สำคัญ พ่อครูอำนวย ได้ฝากปรัชญาการดำเนินชีวิต รวมถึง ข้อคิดดีๆในรูปแบบของ ค่าว และ กำบะเก่าล้านนา ไว้ให้ผู้ชมผู้ฟังทุกท่านได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจติดตามผลงานการจัดรายการวิทยุของ อำนวย กลำพัด ในช่วงปี 2544-2549 สามารถคลิปรับฟังย้อนหลังได้จากช่องยูทูปด้านล่างนี้
ขอบคุณภาพ และเรื่องราว โดย เก่ง วัชรินทร์ ยอดคำเหลือง