หรือนี่คือ… ขบวนการ ‘ยึดที่ดินป่าไม้’ นำไปออกประทานบัตร ‘ทำเหมืองถ่านหิน’ ที่ปากชม

หรือนี่คือ… ขบวนการ ‘ยึดที่ดินป่าไม้’ นำไปออกประทานบัตร ‘ทำเหมืองถ่านหิน’ ที่ปากชม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตั้งคำถามถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง การรุกทวงคืนผืนป่ากับชาวบ้านเพียงแค่ 2 หมู่บ้าน ในพื้นที่ทับซ้อนกับคำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหิน ในนามพื้นที่นำร่องยึดคืนเพื่อเป็นป่า หรือนี่คือกระบวนการที่นำไปสู่การแปรสภาพพื้นที่ให้เป็นเหมืองถ่านหิน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
7 พฤษภาคม 2560

ชื่อบทความเดิม: ขบวนการยึดที่ดินป่าไม้เพื่อนำไปออกประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินที่ปากชม

การขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินที่บ้านคอนสา หมู่ 4 และบ้านสาธร หมู่ 10 ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด เป็นปัญหาขึ้นมาตั้งแต่รอบปีที่ผ่านมาก็เนื่องมาจากการลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านของชาวบ้านในนาม ‘กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว’ เหตุก็เพราะหน่วยงานราชการร่วมมือกับผู้ประกอบการเข้ามาปักป้ายเขตคำขอประทานบัตรในที่ดินทำกินของชาวบ้าน

แต่การเดินหน้าเพื่อขอประทานบัตรก็มีอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากว่ากระบวนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โดยทั่วไปต้องแสดงข้อมูลให้เห็นว่าในพื้นที่คำขอประทานบัตรนั้นเป็นที่ดินประเภทใดบ้าง เช่น ที่ดินทำกินของประชาชนทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์หรือมีเพียงแค่สิทธิถือครอง ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ที่ดินป่าไม้ประเภทต่าง ๆ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ แหล่งโบราณวัตถุโบราณสถาน แหล่งซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) แหล่งทรัพยากรธรณีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่หวงห้ามการใช้ประโยชน์ตามกฎหมายฉบับอื่น เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยจะต้องสั่งให้ผู้ประกอบการแสดงเอกสารหรือหลักฐานในการยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านั้นเพื่อทำเหมืองแร่ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้กระบวนการขอประทานบัตรเดินหน้าไปต่อไม่ได้หรือสะดุดหยุดชะงักลง

ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการขอประทานบัตรพยายามข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่โดนปักป้ายเขตคำขอประทานบัตรในที่ดินทำกินให้หวาดกลัวว่าอย่าได้พยายามโต้แย้งสิทธิในที่ดินทำกิน มิฉะนั้นจะโดนเล่นงานเอาคืนว่าที่ดินทำกินที่ชาวบ้านถือครองสิทธินั้นเป็นการได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ จึงทำให้ชาวบ้านกล้า ๆ กลัว ๆ เนื่องจากว่าปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ต่างจากที่อื่น ๆ ในประเทศนี้ที่มีความเปราะบางจากการอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามการบังคับใช้ของกฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ ที่มองเห็นชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเป็นศัตรูต่อพื้นที่ป่าไม้ตลอดมา

แต่ครั้นจะไม่ให้ต่อสู้คัดค้านก็จะทำให้สูญเสียที่ดินทำกินไปอย่างน่าเวทนา เนื่องจากที่ดินคือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่สำคัญที่สุด และส่วนใหญ่ของชุมชนหมู่บ้านที่นี่ก็ตั้งรกรากมาก่อนการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ เกือบทั้งสิ้น จึงเห็นความจำเป็นและความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นให้ต้องลุกขึ้นต่อสู้คัดค้าน ก็เพราะคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินของผู้ประกอบการจำนวน 4 แปลง ๆ ละประมาณ 300 ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ไร่ ทับซ้อนลงไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหมด หากมีการทำเหมืองก็จะทำให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านกลายเป็นบ่อเหมืองใหญ่และลึกมาก

รวมถึงความหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แม้บางรายจะไม่มีที่ดินอยู่ในพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินก็ตาม แต่ก็กังวลเรื่องผลกระทบที่อาจแพร่กระจายมาถึงที่ดินของตนเองที่อยู่รายรอบใกล้ ๆ เพราะการทำเหมืองถ่านหินที่นี่ต้องขุดลึกไม่ต่ำกว่า 250 เมตร เข้าไปในชั้นแร่ถ่านหินบิทูมินัส ก็จะส่งผลทำให้ที่ดินทำกินที่อยู่รายรอบใกล้ ๆ เสียหายจากการที่บ่อเหมืองใหญ่และลึกได้ตัดการไหลของระบบน้ำใต้ดินและผิวดินที่เชื่อมต่อกันให้เสียหาย ส่งผลให้ต้องขาดแคลนน้ำสำหรับทำนาและการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นได้

นอกจากนี้ถนนดินซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักเส้นทางเดียวระหว่างหมู่บ้านเข้าไปยังที่ดินทำกินที่ไม่สะดวกต่อการสัญจรในฤดูฝนยังจะต้องหลบหลีกให้กับรถพ่วงบรรทุกแร่ขนาดใหญ่ขนาด 40 ตัน วิ่งไปมาวันละเกือบร้อยเที่ยวอีกด้วย

เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านจึงตัดสินใจว่าจะต้องรวมพลังกันต่อสู้คัดค้านเหมืองขึ้นมา แม้จะถูกข่มขู่คุกคามให้หวาดกลัวจากผู้ประกอบการและผู้นำหมู่บ้านบางคนว่าจะถูกเล่นงานด้วยการถูกจับฟ้องคดีว่าบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ก็ตาม

เริ่มด้วยการปฎิเสธความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการด้วยการกดดันให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านส่งคืนทรัพย์สินที่ได้รับมอบมาเมื่อครั้งงานทำบุญล้างป่าช้าในวันที่ 18 มิถุนายน 2559 ได้แก่ เต็นท์สนามผ้าใบหมู่บ้านละ 2 เต็นท์ แก้วน้ำหมู่บ้านละ 200 ใบ โต๊ะยาวหมู่บ้านละ 4 ตัว เก้าอี้พลาสติกหมู่บ้านละ 200 ตัว เครื่องเสียงพร้อมไมโครโฟนกระเป๋าหิ้วหมู่บ้านละ 1 ตัว ห้องส้วมใหม่ที่เมรุเผาศพ 2 ห้อง และปรับปรุงซ่อมแซมห้องส้วมเดิม สร้างบันไดขึ้นศาลาฌาปากิจสถาน รวมทั้งเงินค่าใช้จ่ายในการทำบุญล้างป่าช้าทั้งหมด โดยส่งคืนไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559

ต่อด้วยการทำประชาคมหมู่บ้านในวันที่ 2 กันยายน 2559 เรื่องการลงมติการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้าร่วมทั้ง 2 หมู่บ้าน 1,300 คน ว่า (1) ไม่เห็นชอบกับการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น (2) ไม่อนุญาตให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐเข้ามากระทำการใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในพื้นที่โดยเด็ดขาด และ (3) ให้กันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าภูเขาแก้ว-ป่าดงปากชม) พร้อมทั้งให้ออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หลังประชาคมหมู่บ้านดังกล่าวความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการที่เข้ามาขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินกับชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ โดยชาวบ้านพยายามช่วยกันสอดส่องดูแลการเข้ามาในพื้นที่ของคนแปลกหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ด้วยความสะดวกง่ายดายเหมือนแต่ก่อนได้อีก เพราะชาวบ้านจะคอยไล่ออกและไม่ยอมเจรจาพูดคุยด้วย

จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกกลั่นแกล้งจากมือที่มองไม่เห็น ด้วยการทำจดหมายปลอมแปลงลายมือชื่อของนายวีระพงษ์ ส้านสิงห์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านคอนสา ที่ร่วมคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินร่วมกับชาวบ้าน ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ส่งถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาโดยสรุปใจความว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารเข้ามาปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในหมู่บ้านคอนสาและสาธรโดยเร่งด่วน เพราะมีการบุกรุกพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ตลอดแนวซ้าย-ขวาของแผนที่มากกว่า 4,000 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา มันสำปะหลังและข้าวโพด

ในเนื้อหาจดหมายปลอมแปลงยังระบุด้วยว่า “2 หมู่บ้านนี้มี 423 หลังคาเรือน แต่มีรถไถหรือฟาร์มแทรกเตอร์เกือบ 200 คัน ส่วนใหญ่ซื้อได้ประมาณ 1-2 ปี กำลังผ่อนส่งอยู่ เนื่องจากราคายางพาราไม่ดีจึงจำเป็นต้องบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 2 หมู่บ้านนี้จึงเป็นพื้นที่อันตราย”

แม้นายวีรพงษ์ ส้านสิงห์ จะทำหนังสือร้องเรียนกลับไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและได้รับหนังสือตอบกลับมาว่าได้ยุติเรื่องร้องเรียนตามจดหมายปลอมแปลงฉบับดังกล่าวแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559

แต่เรื่องก็ยังไม่จบเพียงแค่นี้ ต้นเดือนเมษายน 2560 มีการร้องเรียนจากราษฎรนิรนามใน ต.เชียงกลมว่าชาวบ้านในหมู่บ้านคอนสาและสาธรและนายวีรพงษ์ ส้านสิงห์ได้ทำการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม) ทำการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด และตัดไม้ใหญ่นำไปก่อสร้างที่พักอาศัยให้ผู้บังคับบัญชาที่มีตำแหน่งอยู่ในที่ว่าการอำเภอปากชม ตามลำดับ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารจากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย 11 จุดชมน้อย อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม (เตรียมการ) และเจ้าหน้าที่่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เลย ลงตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 นับแต่นั้นมา จุดเริ่มต้นในการชงเรื่องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารเข้ามาในพื้นที่เพื่อเริ่มปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าจึงเริ่มขึ้น

เป้าหมายก็เพื่อทำให้ความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกินเกิดขึ้นในหมู่บ้านทั้ง 2 จนสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านไม่กล้าออกมาแสดงสิทธิถือครองที่ดินทำกินที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ เมื่อไม่กล้าแสดงสิทธิถือครองที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าไม้ก็จะทำให้การขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินไม่มีปัญหาต้องรับฟังเสียงของชาวบ้านอีกต่อไป

และเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อการดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินว่าจะไม่เกิดอุปสรรคติดขัดใด ๆ อีกต่อไป

เนื่องจากว่ายังมีข้อห่วงกังวลอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ก็คือพื้นที่คำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไว้แล้วเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านสาธรและคอนสาทั้งหมด แม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ก็ตาม ดังนั้น ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเข้าไปตีสนิทกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่บ้านโพนทอง หมู่ที่่ 3 ที่เป็นหมู่บ้านติดกันได้ก็ไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอประทานบัตรกับชาวบ้านในหมู่บ้านโพนทองแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านคอนสาและสาธรได้ เพราะเป็นการทำประชาคมหมู่บ้านแบบผิดฝาผิดตัว เป็นการกระทำความผิดที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ที่กำหนดให้ต้องรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ตั้งคำขอประทานบัตรเป็นหลัก ไม่ใช่รับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ตั้งของคำขอประทานบัตร

หรือหากจะให้รอบคอบครบถ้วนโดยคำนึงถึงการแพร่กระจายของผลกระทบเป็นสำคัญ แม้หมู่บ้านที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของคำขอประทานบัตรก็สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านดังกล่าวได้ แต่ต้องรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านร่วมกันระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ตั้งของคำขอประทานบัตรและชาวบ้านในหมู่บ้านนอกพื้นที่ตั้งของคำขอประทานบัตร

แต่เมื่อการร้องเรียนว่าที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกชาวบ้านบุกรุกป่าสงวนฯ ไม่ส่งผลให้ชาวบ้านกลัวจนไม่กล้าออกมาแสดงสิทธิการถือครองที่ดินที่คำขอประทานบัตรทับซ้อนอยู่ตามที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามกฎหมายแร่ที่ระบุให้ต้องคำนึงถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านในหมู่บ้านที่คำขอประทานบัตรตั้งอยู่เป็นหลัก

ในกรณีนี้ วิธีที่ดีที่สุดเพื่อขจัดเสี้ยนหนามให้เด็ดขาด จึงเหลืออยู่อีกวิธีเดียวเท่านั้นที่จะเปิดทางให้ผู้ประกอบการดำเนินการขอประทานบัตรตามขั้นตอนต่อ ๆ ไปได้ นั่นก็คือต้องหาวิธีการเปลี่ยนที่ดินทำกินของชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามบังคับของกฎหมายป่าสงวนฯ ที่ได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม) ให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ตามบังคับของกฎหมายอุทยานฯ แทนให้ได้

ก็เพราะว่าหากที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินทับซ้อนยังอยู่ในสภาพบังคับของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ก็จะต้องดำเนินการรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 ที่ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 8 (5) ว่า “พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ ต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่”

แต่ถ้าถูกเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กระบวนการรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อประกอบการขอประทานบัตรตามระเบียบฯ ดังกล่าวจะถูกตัดออกทั้งหมด เหลืออยู่เพียงแค่การเดินเรื่องประสานงานระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืชโดยตรงเท่านั้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใดอีกต่อไป

ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นเหตุที่มาที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารกำลังปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในหมู่บ้านทั้ง 2 อยู่ในขณะนี้ ด้วยความขลาดเขลาของผู้นำหมู่บ้านบางคนที่ตกเป็นเครื่องมือของปฏิบัติการดังกล่าวคอยข่มขวัญชาวบ้านไม่ให้แสดงตัวคัดค้านต่อต้านการยึดที่ดินทำกินของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหาร เพราะมิเช่นนั้นอาจจะถูกจับดำเนินคดีได้ และให้ชาวบ้านยอมรับที่ดินทำกินเฉพาะ ‘หน้าป้าย’ ที่มีการกันเขตเอาไว้เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 แล้วเท่านั้น ส่วนที่ดินทำกิน ‘หลังป้าย’ ที่ชาวบ้านบุกเบิกเพิ่มเติมตามการขยายตัวของประชากรและครัวเรือนในหมู่บ้านทั้ง 2 ที่พื้นที่กว่าร้อยละ 60 ของคำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินทับซ้อนอยู่นั้น ห้ามเข้าไปใช้เป็นที่ดินทำกินอีกต่อไปโดยเด็ดขาด

ป้ายเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้วและป่าดงปากชมที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ดินทำกินของชาวบ้านบ้านคอนสา หมู่ 4 และบ้านสาธร หมู่ 10 โดยเป็นป้ายที่ปักไว้เสมือนเป็นแนวเขตที่ดินทำกินที่เรียกว่า ‘หน้าป้าย’ และ ‘หลังป้าย’ ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำมาปักไว้เมื่อปี 2552 เพื่อจัดแบ่งเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้วและป่าดงปากชมบริเวณหน้าป้ายเอาไว้ให้เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน

แต่เขตที่ดินทำกิน ‘หน้าป้าย’ ที่จัดสรรให้ชาวบ้านตั้งแต่ปี 2552 มีข้อบกพร่อง 2 ประการ ดังนี้

(1) เกินร้อยละ 50 ของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านดังกล่าวขาดแคลนที่ดินทำกินหากพื้นที่หลังป้ายถูกยึดคืน

(2) พื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินทั้ง 4 แปลงดังที่ได้กล่าวไว้แล้วทับซ้อนอยู่กับที่ดินทำกินทั้งในส่วนของหน้าป้ายและหลังป้าย ประมาณร้อยละ 60 ทับซ้อนอยู่ในที่ดินทำกินในส่วนที่เป็นหลังป้าย ชาวบ้านจึงหวั่นเกรงว่าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าครั้งนี้มีความจงใจยึดที่ดินทำกินในส่วนของหลังป้ายไปทั้งหมด ไม่ใช่เพราะเหตุผลต้องการนำที่ดินทำกินหลังป้ายของชาวบ้านไปฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อต้องการเปลี่ยนสภาพที่ดินหลังป้ายไปอยู่ในบังคับของกฎหมายอุทยานฯ โดยยึดคืนให้เป็นป่าเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นป่าอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อรอให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินเสียมากกว่า

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า หนึ่ง-หากจะปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ให้เกิดความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ทำไมไม่ทำทั้ง ต.เชียงกลม หรือทำทั้ง อ.ปากชม หรือทำทั้งจังหวัดเลย ซึ่งมีสภาพการถือครองที่ดินไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งรกรากเป็นบ้านเรือนอยู่มาก่อนการประกาศใช้กฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ ทั้งสิ้น ทำไมถึงเฉพาะเจาะจงยึดคืนที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านในส่วนของหลังป้ายเท่านั้น มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร ?

สอง-เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาสงสัยว่าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าครั้งนี้มีความไม่ชอบธรรม ดังนั้น ถ้าจะยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านในส่วนของหลังป้ายทั้งหมดให้ได้ ก็น่าที่จะต้องเพิกถอนคำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินทั้งหมดของผู้ประกอบการที่ทับซ้อนอยู่ในที่ดินทำกินชาวบ้านในส่วนของหลังป้ายออกด้วย และประกาศให้ที่ดินทำกินหลังป้ายที่ถูกยึดคืนไปเป็นพื้นที่พิเศษที่ห้ามมิให้มีการขอสัมปทานเพื่อขอสำรวจและทำเหมืองแร่ชนิดใด ๆ อีกต่อไป จึงจะยุติธรรม

สาม-นโยบายรัฐบาล คสช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557[1] พิจารณาตามตัวอักษรแล้วเหมือนว่าจะเป็นผลดีต่อชาวบ้าน คนยากคนจนและคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งในกรณีปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าโดยยึดที่ดินทำกินหลังป้ายของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านน่าจะใช้คำสั่ง คสช. มาเป็นเกณฑ์พิจารณาสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินหลังป้ายซึ่งเป็นการบุกเบิกเพิ่มเติมหลังปี 2552 ได้ เพราะชาวบ้านได้อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่เดิมก่อนคำสั่ง คสช. ทั้ง 2 ฉบับจะประกาศใช้เมื่อปี 2557 ดังนั้น จึงควรใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านจนถึงปี 2557 ก่อนคำสั่ง คสช. ประกาศใช้เป็นหลัก โดยมุ่งคำนึงถึงการดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้

แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารในพื้นที่ว่ามีเอี่ยวกับการกลั่นแกล้งชาวบ้านเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้การขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ติดขัดต่ออุปสรรคปัญหาจากการที่ต้องเสียเวลามาจัดเวทีรับฟังความเห็นหรือทำประชาคมหมู่บ้านอีกต่อไป เพราะขาดหลักฐานที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

แต่การใช้กฎหมายที่เข้มงวดและเฉพาะเจาะจงเพื่อทวงคืนผืนป่ากับชาวบ้านเพียงแค่ 2 หมู่บ้านซึ่งมีที่ดินทำกินทับซ้อนกับคำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินอยู่พอดี โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่นำร่อง ต่างจากชาวบ้านในหมู่บ้านที่เหลืออยู่อีก 8 หมู่บ้านในตำบลเดียวกันซึ่งสิทธิสภาพการถือครองที่ดินทำกินไม่แตกต่างจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้ง 2 แต่อย่างใด เพราะมีการตั้งรกรากเป็นชุมชนอยู่มาก่อนกฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ จะถูกประกาศใช้ จึงทำให้ที่ดินทำกินถูกกฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ ประกาศทับทั้งสิ้น แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารหน่วยใดไปปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในหมู่บ้านที่เหลือเหล่านั้นเหมือนที่ทำกับชาวบ้านในหมู่บ้านทั้ง 2

จึงเห็นเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่ามีการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สมควรแก่เหตุ ครั้นจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารในพื้นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดูจะไร้เดียงสาไปสักหน่อย ไม่สมควรแก่ความรับผิดชอบต่อตำแหน่งและหน้าที่การงานของตน ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นการสมรู้ร่วมคิดเพื่อกลั่นแกล้งชาวบ้านไปโดยปริยาย

หรือหากให้ความเป็นธรรมสักหน่อยก็อาจจะพูดให้ดูดีขึ้นได้ว่าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารในพื้นที่ถูกผู้ประกอบการหลอกใช้หรือยืมมือมากลั่นแกล้งชาวบ้าน

…………………….

[1] คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557

…………………….

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ