‘คุรุสภา’ เร่งถกโมเดลมาตรฐานครู ตอบโจทย์นายกฯ ปั๊ม ‘แม่พิมพ์ 4.0’

‘คุรุสภา’ เร่งถกโมเดลมาตรฐานครู ตอบโจทย์นายกฯ ปั๊ม ‘แม่พิมพ์ 4.0’

รองเลขาฯ สกศ.ชี้ คุรุสภาตอบโจทย์นโยบายประเทศไทย 4.0 “พัฒนาครู-มาตรฐานการผลิตครูไทย” ต่อยอดจากของเก่าตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เผยเร่งสังเคราะห์ข้อมูลเสนอคณะกรรมการคุรุสภา-เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูครั้งใหญ่ ต้น มิ.ย.นี้

วันนี้ (9 พ.ค. 2560) ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า คุรุสภาขับเคลื่อนพัฒนามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 49 กำหนดให้มีข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ 3 ข้อ 1.ครูมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ 2. ครูมีมาตรฐานการปฏิบัติงาน และ 3.ครูมีมาตรฐานการปฏิบัติตน โดยให้มีการกำหนดระดับคุณภาพของมาตรฐานในกสรประกอบวิชาชีพครูเป็นหลัก อยู่แล้ว

ดังนั้น คุรุสภา สามารถตอบโจทย์การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาครูและมาตรฐาน การผลิตครูของประเทศไทย และตอบโจทย์การสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ เพื่อพัฒนาสังคม และเพิ่มศักยภาพ ประเทศไทย 4.0 ได้ทันท่วงที ต่อยอดจากสิ่งเดิมที่ขับเคลื่อนอยู่แล้วและไม่ได้เริ่มจากศูนย์ จึงสามารถเร่งสังเคราะห์และสรุปแนวทางพัฒนามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาอย่างเร่งด่วน

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ กล่าวว่า คุรุสภา ได้หารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หน่วยผลิตบัณฑิตวิชาชีพทางการศึกษา หน่วยใช้ครูทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบวิชาชีพครู และภาคเอกชน โดย ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ที่มีรายละเอียดกระชับ ชัดเจน วัดได้ เหมาะสมกับวิชาชีพปัจจุบัน และสอดคล้องมาตรฐานวิชาชีพระดับสากล โดยยึดมาตรฐานวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 49 เป็นแกนกลางของวิชาชีพครู เน้นให้ครูเปลี่ยนและปรับปรุงตนเองได้เสมอตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

แต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปครูต้องมีหลักคิดของตนเองเสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อสรุปการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประเด็นการพัฒนากรอบสมรรถนะวิชาชีพครูอาเซียน ซึ่งที่ประชุมได้หารือและอภิปรายอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น เช่น แนวทางการนำมาตรฐานครูไปสู่การปฏิบัติ เชื่อมโยงกับมาตรฐานของหน่วยผลิตครู สถาบันผลิตครูควรมีรายวิชาสอน ผู้เรียนวิชาชีพครูมีเจตคติและจิตวิญญาณความเป็นครู รวมทั้งแนวทางการฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียนควรเริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 และกำหนดสมรรถนะความเป็นครูที่ชัดเจน ฯลฯ

เบื้องต้นได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู ยึดเกณฑ์ที่เป็นคุณลักษณะและสมรรถนะครูที่มีทั้งความรู้ ความคิด ทักษะ และคุณธรรมครบถ้วน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ครูปฏิบัติการ มีความรู้ปฏิบัติการสอนในชั้นพัฒนางานได้ 2.ครูชำนาญการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดใหม่ ปรับปรุงแสวงหาวิธีการสอนใหม่ ๆ ทันสมัยเสมอ 3.ครูเชี่ยวชาญ มีความชำนาญ รู้ลึกซึ้ง บูรณาการในการสอนได้ สร้างและพัฒนาทักษะใหม่เพื่อเด็ก และ 4.ครูทรงคุณวุฒิ คิดสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ตกผลึกในความคิด สามารถคาดคะเนได้ สำหรับประเด็นอื่น ๆ เช่น การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูยังดำเนินการเหมือนเดิม และควรมีการพัฒนามาตรฐานสถาบันผลิตครูด้วยพร้อมกันไป

“สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะเร่งสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู สรุปนำเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภา และเตรียมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูครั้งใหญ่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้” ดร.สมศักดิ์ กล่าว

ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ