“บ้านเราไม่ได้มีประวัติแค่วานซืน กี่ปีกี่เดือนผ่านมามีคนทำไว้ให้ แล้วเราต้องถามตัวเองว่า เราจะไม่ส่งต่อมรดกนี้ให้ลูกหลานหรือ บ้านโคกสะอาดเป็นทรัพยากรเป็นสมบัติที่เรามีมาต่อกัน เราจะช่วยกันรักษามรดกนี้ไว้ลูกหลาน อย่าให้อะไรข้างนอกมารบกวน…” คุณพ่อประยูร พงษ์พิศ บาทหลวงอัครสังฆมณฑลท่าแร่หนองแสง กล่าวให้โอวาทแก่ผู้มาร่วมงานและชวนให้ตั้งคำถามถึงความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชุมชนหากมีการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในงานบุญตุ้มโฮมตุ้มฮักแม่น้ำอูน ผูกแขนสู่ขวัญ 20 สมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ วัดนักบุญยอห์นบอสโกโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
บรรยากาศงานบุญสู่ขวัญในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย แม้จะดูไม่คุ้นตาทีมข่าวตามแบบชาวอีสานมากนัก เพราะชุมชนที่นี่นับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นในช่วงเช้าจึงมีพิธีกรรมถวายบูชามิซาสุขสำรวญอวยพรกลุ่มรักษ์น้ำอูน โดยมีคุณพ่อประยูร พงษ์พิศ บาทหลวงอัครสังฆมณฑลท่าแร่หนองแสงเป็นประธานในพิธี แต่พาขวัญ ฝ้ายผูกแขน และการห้อมล้อมของเครือข่ายพี่น้องจากหลายพื้นที่ยังทำหน้าที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาร่วมงานได้เป็นอย่างดีไม่ตกหล่น
“นี่เห็ดอะไร กินได้ไหม ทำไมใหญ่จัง ขอยืมมาถ่ายรูปหน่อย…” หลากหลายคำถามจากทีมข่าว หลังเจอเห็ดดอกสีดำแปลกตา ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าโทรศัพท์มือถือ IPhone 5S ถูกจัดวางรวมกับหน่อไม้ มะม่วง กล้วย ดอกกระเจียว และพืชผัก ผลไม้นานาชนิด“อันนี้ ‘เห็ดผึ้งทาม’ กินได้นะ แม่เก็บมาจากป่าทามบ้านเรานี่แหละ ทามน้ำอูน” เสียงคุณป้าท่านหนึ่งพยายามอธิบายด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจใน “เห็ดผึ้งทาม”
“เอาไปทำอะไร แกงได้ไหม ทำไมที่นี่มีเห็ดหน้าแล้ง ที่อื่นดินเขาแห้งหมดนะ” “มีทุกอย่างในป่าโคกเรานี่ มีจักจั่น มีดอกกระเจียวด้วยนะ เดี๋ยวกินตอนเที่ยง แต่ถ้ามีโรงงาน เห็ดผึ้งแบบนี้อาจไม่มี..” คุณป้าอธิบายที่มาของเห็ดและทิ้งท้ายความห่วงใยต่อป่าโคกของเขา
“คือหม้อข้าวหม้อแกงเลยครับ เรื่องป่าโคก ผักหวานดอกกระเจียว พืชและสัตว์ทุกชนิดครับ ต้องหาเอาจากตรงนั้นมากิน ค่ำมาไม่มีอะไรกิน ก็หาผักหวานมาแกงกินก็ได้” เสงี่ยม สุดไชยา ซึ่งเป็น 1 ใน 20 คนซึ่งถูกฟ้องคดีข้อหาหมิ่นประมาทด้วยเอกสาร เพราะทำหนังสือ “ร้องเรียน อบต. ให้เข้าระงับการถมคลองไส้ไก่และเปลี่ยนทางลำน้ำสาธารณะ” และทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ จากกรณีคัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลสกลนคร ได้อธิบายถึงความสำคัญและความกังวลของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับป่าโคกชุมชนของพวกเขาที่ได้หาอยู่หากินตลอดมา
“สมุนไพรต่างๆ บางครั้งไม่จำเป็นต้องไปหาหมอก็ได้ หาสมุนไพรกันมาตั้งแต่สมัยก่อน หาสมุนไพรตามป่าเรานี่แหละ พวกไม้โกกา ไม้แดง เขาเอามาต้ม พวกเครือข้าวแจ๊บ หลายอย่างมากอยู่ในป่า เป็นห่วงอย่างหนึ่งคือ ถ้ามีน้ำเสียลงน้ำห้วยคลอง สัตว์ทั้งหลายในน้ำเราก็จะเอามากินไม่ได้ จากตรงนี้ถึง ศรีสงคราม น่าจะโดนผลกระทบมาก”
“ให้ฮักกันมั่น คือ ฝ้ายผูกแขน…” หนึ่งในคำอวยพรระหว่างผูกข้อมือสู่ขวัญให้กันได้ช่วยเติมกำลังใจและดึงความอบอุ่นกลับมาห้อมล้อมชุมชนที่นี่อีกครั้งโดยเฉพาะต่อตัวแทนชาวบ้านที่ถูกฟ้องจำนวน 20 คน
“จริงๆ กรณีนี้มันชัดเจนมากที่ชาวบ้านใช้สิทธิในการร้องเรียน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นเรื่องปกติทั่วไป ที่หากเกิดเหตุมีผลกระทบต่อพื้นที่สาธารณะ พี่น้องก็สามารถยื่นหนังสือร้องเรียนได้ แล้วอีกอย่างคือหนังสือเรียกร้องการคัดค้านโครงการ ที่มันเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นสิทธิอันหนึ่งว่า ถ้าพี่น้องในพื้นที่รู้ หรือ ทราบว่าจะมีอุตสาหกรรมมาลงในพื้นที่และอาจจะเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือประเด็นต่างๆ พี่น้องก็จะมีสิทธิ ในการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะพิจารณาในการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการนั้นๆ
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นสิทธิโดยทั่วไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเฉพาะที่มีอยู่แล้ว ว่าประชาชนก็มีส่วนร่วมกับรัฐในการที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการร้องเรียน ร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นคนในพื้นที่จะทราบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิต กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นไร เพราะฉะนั้นกระบวนทางกฏหมายจึงเปิดช่อง ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการที่จะดำเนินการให้ข้อมูล มีส่วนร่วมในการร้องเรียนร้องทุกข์หรือคัดค้านได้ ถ้าไปดูทุกหน่วยงานจะมีการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่จะตอบกับพี่น้อง” สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานของชาวบ้านว่าเป็นไปตามขั้นตอนและชาวบ้านยังทำหน้าที่มีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลรักษาทรัพยากรของชุมชน
ไม่ต่างจาก อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ร่วมยืนยันอีกเสียงถึงศักยภาพในด้านการเกษตรของพื้นที่โดยรอบชุมชนเพราะที่นี่เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านกว่า 100 สายพันธุ์โดยมองว่ารัฐไม่ควรนำนโยบายเหมารวมจากส่วนกลางมากดทับศักยภาพของชาวบ้าน พร้อมต้งข้อสังเกตว่าหากมีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จะเป็นอย่างไร
“อ้อยเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ต้องการพื้นที่จำนวนมาก ถึงวันนี้ข้อเท็จจริงของเกษตรกรรม คือ พี่น้องเป็นเกษตรกรที่สูงอายุแล้ว เพราะฉะนั้น อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ตอบโจทย์ฐานล่าง เพราะว่ามันไม่ใช่อาหารหลัก และมันทำลายฐานทรัพยากรอาหาร ไม่หลากหลายและไม่มีความยั่งยืนในกระบวนการผลิต เพราะฉะนั้นชุมชนท้องถิ่นจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การปลูกอ้อยจะใช้สารเคมีเยอะมาก จะทำลายฐานทรัพยากรอื่นๆ เช่น น้ำ โดยอ้อยก็จะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อพื้นที่เสื่อมโทรม ก็จะย้ายไปเปิดป่าใหม่ใช้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ใหม่ เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมน้ำตาล จะไม่ตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจฐานล่าง เกษตรกรรายย่อยที่เข้าสู่วงจรอ้อยก็จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แล้วก็จะนำไปสู่การสูญเสียที่ดินในที่สุด
จริงๆ แล้ว นโยบายการเปลี่ยนพื้นที่ไม่ปลูกข้าว เป็นที่มาของโรงงานน้ำตาล 8 แห่งทั่วอีสานเป็นนโยบายแบบเหมารวม เป้าหมายคือต้องการลดพื้นที่การปลูกข้าว แล้วด้านหนึ่งมันมากดทับศักยภาพของชาวบ้าน มากดทับศักยภาพของชุมชน ซึ่งมีความพยายามที่จะแสวงหาทางออกให้ตัวเอง ด้วยวิถีทางต่างๆ มากมาย เช่นการปลูกข้าวพื้นบ้านที่หลากหลาย หรือการทำสมุนไพร จริงๆ ควรมีนโยบายที่หลากหลายตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ มาทำความเข้าใจกับศักยภาพของพื้นที่ แล้วก็หนุนตามศักยภาพที่เขามี อย่างสกลนครเขาก็ชัดเจนว่าวางวิสัยทัศน์จังหวัดตนเองเป็นเมืองสมุนไพร แต่ว่าก็ส่งโรงงานน้ำตาลมาอย่างนี้มันย้อนแย้ง
ในแต่ละพื้นที่ ควรจะเอารูปธรรมของจริงของพื้นที่ขึ้นมา โดยวิถีการทำกินของพี่น้อง ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปในสายพานของอุตสาหกรรมน้ำตาล นี่คืออันที่หนึ่ง ส่วนที่สองเนื่องจากอุตสากรรมน้ำตาลมันเข้ามาในอีสานนานแล้ว พื้นที่ที่อยู่กับโรงงานน้ำตาลมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ควรจะมีนักวิชาการไปเอางานวิจัยขึ้นมา ว่าคนที่อยู่กับอ้อยมาเขารวยขึ้นหรือเปล่า ชีวิตดีขึ้นหรือเปล่า หรือยังเหลือที่ดินอยู่เท่าไร หรือสูญเสียที่ดินไปแล้ว หรือคนที่เหลือที่ดินอยู่ เขาปลูกอ้อยหรือเปล่าอันนี้เป็นข้อมูลที่น่าจะเรียนรู้ได้ไม่ยากแล้วควรจะเอามาชี้แจ้งว่าพี่น้องควรจะเข้าไปในวงจรของอุตสาหกรรมโรงงานหรือไม่”
มากมายคำถามที่จำเป็นต้องหาข้อมูลมาเป็นคำตอบ เพื่อคลายข้อสงสัย ทั้ง ต่ออนาคตของพืชสมุนไพร เห็ดผึ้งทาม และโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลสกลนคร (ถ้ามี)