จาก 921 เหลือ 19 จุดฮ็อตสปอตในเชียงราย นาทีนี้เป็นอย่างไร ฝุ่นควันภาคเหนือ 2560

จาก 921 เหลือ 19 จุดฮ็อตสปอตในเชียงราย นาทีนี้เป็นอย่างไร ฝุ่นควันภาคเหนือ 2560

 ภาพ / ข่าว  : นักข่าวพลเมือง  คุณสร้อยแก้ว คำมาลา

25 เมษายน 2560 ณ ห้องประชุม คำมอกหลวง อาคารเอ็มสแควร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการไทยพีบีเอสภาคเหนือ ร่วมกับสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เปิดเวที เสวนาสถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือและบทเรียนจากจังหวัดเชียงราย

นับเป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้วที่ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาวิกฤติหมอกควันเป็นพิษ (เกินค่ามาตรฐาน 10 PM) ในช่วงหน้าแล้ง (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน)  ส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งด้านสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยรวม จนรัฐบาลต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อดำเนินการแก้ไข แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่อาจแก้ไขได้สำเร็จ หนำซ้ำยิ่งพยายามแก้ไขก็ยิ่งสร้างปัญหาใหม่ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงพยายามดำเนินการแก้ไขและพยายามจะแก้ให้ถูกจุดที่สุด

ปี 2560 นี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้ 9 จังหวัดภาคเหนือที่จะต้องประสบปัญหาเรื่องนี้เป็นเงินจำนวน 145 ล้านบาท และปรากฎว่าปีนี้อาจนับได้ว่าเป็นปีที่ภาคเหนือประสบปัญหาเรื่องนี้น้อยที่สุด ภาวะวิกฤติไม่หนักเท่าทุกปี โดยจังหวัดเชียงรายมีสถิติการเกิดฮ็อตสปอต (จากภาพถ่ายดาวเทียม) เพียง 19 จุดเท่านั้น นับว่าน้อยที่สุดของ 9 จังหวัดภาคเหนือที่อยู่ในข่ายวิกฤติ

แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการที่มีฝนตกมาก่อนในช่วงเดือนมกราคม  – กุมภาพันธ์ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าขณะที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม ประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีจุดสีแดงๆ ของฮ็อตสปอตเกิดขึ้นมากมาย แต่ของเรายังนับว่ามีน้อยกว่ามากทีเดียว โดยรวมจุดความร้อนสะสมของภาคเหนือลดลง โดยจังหวัดที่ลดลงได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ พะเยา แต่อีกสามจังหวัดหนักกว่าปีที่แล้ว คือ  น่าน ลำพูน ลำปาง แต่สำหรับน่าน และ ลำพูน นั้น จุดสะสมความร้อน (หรือฮ็อตสปอต) ถือว่าทั้งสองปีที่ผ่านมานี้ไม่ได้สูงมากนัก แต่จังหวัดลำปางถือว่าค่อนข้างสูง คือ 623 จุด (ข้อมูลจาก Gisda สรุปเมื่อ 19 เมษายน 2560 โดย ดร.นิอร สิริมงคลเลิสกุล)

ดังนั้น การถอดบทเรียนเรื่องปัญหาฝุ่นควันของปีนี้จึงเกิดขึ้น โดยโฟกัสมาที่เชียงรายก่อนว่า อะไรที่ทำให้เชียงรายสามารถทำให้ตัวเลขการเกิดฮ็อตสปอตเหลือเพียง 19 จุด (จากปีที่แล้วเกิดขึ้นสูงถึง 921 จุด)

เวทีเสวนาประกอบด้วย ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ปรีชา ทองคำเอี่ยม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)  บุญส่ง ตินารี นายอำเภอแม่สรวย  ดุสิต จิตรสุข ผู้ประสานงานโครงการวิถีพอเพียงบนกระแสการเปลี่ยนแปลงอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย  ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (นักวิจัยโครงการ Chaingmai Zero Waste) และ ดาริน คล่องอักขระ บรรณาธิการข่าวอากาศและภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการ

โดยภาพรวม จุดเด่นและนับเป็นจุดแข็งของเชียงรายมากที่สุดคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกฝ่าย การร่วมไม้ร่วมมือของคนทุกส่วนทุกระดับ ซึ่งทุกคนได้กล่าวคล้ายๆ กันถึงการทำงานแบบประสานทั่วทุกทิศและการทำงานภายใต้บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าภาครัฐ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน ชาวบ้าน โดยฝ่ายบริหารระดับจังหวัดได้สั่งการเรื่องนี้ภายใต้ 7 มาตรการ และที่น่าสนใจทีเดียวคือ การสื่อสารระดับชุมชนซึ่งทำได้อย่างละเอียด ไม่ว่าโปสเตอร์ แผ่นพับ การประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย สื่อวิทยุ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เรียกประชุมลูกบ้าน นักเรียน โรงเรียน ครู ได้คุยกับผู้ปกครองนักเรียน และกลุ่มนักศึกษาที่เข้าไปเผยแพร่รณรงค์ โดยเน้นการขอความร่วมมือ การสร้างสำนึกร่วมกัน มากกว่ามาตรการทางกฎหมาย

ขณะที่จุดเด่นอีกด้านคือการให้ความร่วมมือของภาคเอกชน อย่างผู้ประกอบการ นักธุรกิจโรงแรม ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์และระดมทุนเพื่อสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานเป็นเงินจำนวนไม่น้อย เพราะเห็นว่าตัวพวกเขาเองไปช่วยดับไฟไม่ได้ แต่สามารถช่วยด้านอื่นๆ ได้

หรือการที่วัดหลายแห่งจากพื้นราบได้ส่งอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ไปให้ผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าบนดอยที่เป็นคริสตชน ถือเป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่เห็นได้ถึงน้ำใจและความร่วมมือกันที่จะรักษาสภาพอากาศให้คนเชียงรายด้วยกัน

ขณะที่นักพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิกระจกเงา นายณัฐพล สิงห์เถื่อน ก็เห็นว่า เรื่องนี้ควรให้น้ำหนักที่ชุมชนให้มากๆ เพราะชาวบ้านเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง ต้องสู้กับไฟ และอยู่กับความเสี่ยงอันตราย ซึ่งปีก่อนนั้นมีชาวบ้านของภาคเหนือเสียชีวิตจากการไปดับไฟป่าถึงสองราย โดยไปด้วยจิตอาสาจริงๆ

ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การทำงานดับไฟป่าควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การที่ทางมูลนิธิเคยนำโดรนบินสำรวจไฟป่า จะเห็นว่าถ้ามองด้วยสายตาอาจจะคิดว่า ดับเท่านี้ก็น่าจะจบ เพราะข้างหน้าคือลำห้วย ไฟไปต่อไม่ได้แล้ว แต่ระยะสายตามีจำกัด มองไม่เห็นว่าไฟอีกฝั่งได้โหมหนักแล้ว แต่ไม่มีใครรู้

ส่วนเกษตรกรที่เข้ามาร่วมการเสวนาด้วยก็เสนอว่า การส่งเสริมการทำการเกษตรให้เหมาะสมเป็นหนทางที่ช่วยได้จริงๆ เพราะที่ผ่านมาการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดสร้างปัญหาจริง การที่เราพยายามจะช่วยกันแนะนำทางเลือกใหม่ๆ รวมถึงวิธีการกำจัดเศษฟางหรือเศษวัชพืชโดยการไม่เผา แต่ให้นำไปทำปุ๋ยหรืออื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพวกเขาจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ รวมถึงการเปิดช่องทางตลาดให้พวกเขาด้วย

และปิดท้ายที่ สืบสกุล กิจนุกร ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้สรุปข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในระยะยาวและยั่งยืน

โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญคือ แต่ละพื้นที่จะมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างและมีสาเหตุการเกิดปัญหาเรื่องฝุ่นควันไม่เหมือนกัน บางพื้นที่อาจมาจากภาคเกษตรเป็นหลัก (อาทิ ข้าวโพด) บางพื้นที่มาจาก ไฟป่า บางพื้นที่มาจากไฟเผาขยะ ควันจากยานพาหนะรถยนต์ ฝุ่นจากการก่อสร้าง ดังนั้น แต่ละพื้นที่จึงต้องหาวิธีจัดการ หาวิธีรับมือ การแก้ไข ที่แตกต่างกัน หมดสมัยแล้วที่จะนำวิธีคิดเดียวกันมาใช้กับทุกพื้นที่แล้วทำให้ชาวบ้านกลายเป็นจำเลยของสังคม

(ข้อสังเกตอีกประการคือ หัวข้อเสวนาวันนี้ใช้คำว่า สถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนือ 2560 แทนที่จะใช้คำว่า หมอกควัน หรือ หมอกควันไฟป่า ซึ่งคณะผู้จัดงานได้ระบุว่า การใช้คำว่าฝุ่นควัน เพื่อจะได้สื่อสารให้ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริงที่สุด เพราะปัญหาของมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน คือ ฝุ่นควัน และสาเหตุของฝุ่นควันมาจากหลายสาเหตุไม่ใช่แค่ไฟป่า)

ในระยะยาว หลายฝ่ายก็ยังเห็นว่า การป้องกันการเกิดปัญหาฝุ่นควันของภาคเหนือต้องขบกันให้ละเอียดและประสานความร่วมมือไปยังเพื่อนบ้านให้ได้ รวมถึงการกำหนดค่าฝุ่นควันเป็นมลพิษ 10 PM นั้น แท้ที่จริงควรน้อยกว่านี้หรือไม่ เพราะค่าฝุ่นควันเกินมาตรฐานนี้บางประเทศกำหนดค่าที่ 2.5 PM แต่ 10 PM เป็นค่าที่หนักมากจนวิกฤติแล้ว

(หมายเหตุ : ภาพกราฟและแผนภูมิ สรุปและจัดทำโดย ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ