กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสฯ ลุ้น! อัยการนัดฟังคำสั่งคดี ‘ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ’ เพราะชวนคนไปร่วมงานบุญ 27 เม.ย.นี้

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสฯ ลุ้น! อัยการนัดฟังคำสั่งคดี ‘ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ’ เพราะชวนคนไปร่วมงานบุญ 27 เม.ย.นี้

ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร และภาคีเครือข่าย รวมตัวให้กำลังใจ ‘ศตานนท์ ชื่นตา’ สมาชิกกลุ่มฯ ก่อนตร.ส่งคดีให้อัยการ ข้อหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากกรณีจัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” แต่ ตร.ชี้เป็นการชุมนุมคัดค้านการสำรวจแร่โปแตช ด้านอัยการนัดฟังคำสั่ง 27 เม.ย.นี้

ประมวลภาพ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร และภาคีเครือข่ายให้กำลังใจ นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มฯ วันนี้ (24 เม.ย.2560) ก่อนตร.ส่งคดีให้อัยการ หลังถูกแจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากกรณีจัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” แต่ ตร.ชี้เป็นการชุมนุมคัดค้านการสำรวจแร่โปแตช ด้านอัยการนัดฟังคำสั่ง 27 เม.ย.นี้

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2017

 

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 เวลาประมาณ 10.50 น. กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส และภาคีเครือข่าย จ.สกลนคร กว่า 100 คน เดินทางไปร่วมให้กำลังใจ นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ที่สำนักงานอัยการจังหวัดสว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เพื่อรับทราบข้อกล่าว “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง” ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการส่งต่อสำนวนให้กับอัยการจังหวัดสว่างแดนดิน

ทั้งนี้ ทางอัยการฯ ได้นัดหมายอีกครั้ง ในวันที่ 27 เม.ย. 2560 เวลา 09.00 น. เพื่อรับฟังคำตัดสินว่าจะส่งฟ้องศาลในขั้นตอนต่อไปหรือไม่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก การร่วมเดินขบวนบอกบุญเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ก่อนวันที่ 12 มี.ค. 2560 จะมีงาน “สืบชะตาห้วยโทง” ที่บ้านวังบงน้อย ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาต่อนายศตานนท์ว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยเจ้าตัวให้การปฏิเสธ พร้อมสู้คดี

ในวันเดียวกันนี้ ทนายความได้รับมอบอำนาจจากนายศตานนท์ ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดสว่างแดนดิน ในคดีดังกล่าวด้วย

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดสว่างแดนดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและภาคีเครือข่ายได้แสดงจุดยืนค้านการสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ อ.อวานรนิวาส จ.สกลนคร อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงออกภายใต้กรอบกฎหมายมาตลอด

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมร่วมกันอ่านแถลงการณ์หน้า สภ.วานรนิวาส ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมในวันที่ 8 มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นเหตุให้ นายศตานนท์ สมาชิกกลุ่มฯ ถูกออกหมายเรียกนั้นไม่ใช่การชุมนุม แต่เป็นการเดินบอกบุญ เพื่อเชิญชวนพี่น้องมาร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่พึงกระทำได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่มีเงื่อนไข และอย่าเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย

ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปรแตชในพื้นที่นั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร แก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 12 แปลง แปลงละประมาณ 10,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 116,875 ไร่ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2558 ถึง 4 ม.ค. 2563 สร้างความวิตกกังวลถึงผลกระทบ ประชาชนในพื้นที่จึงเริ่มมีการรณรงค์คัดค้าน

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและภาคีเครือข่ายหลายครั้งถูกปิดกั้นจากหน่วยงานรัฐ ทั้งในส่วนนายอำเภอ ทหาร และตำรวจ เช่น ให้ปลดป้ายคัดค้าน เรียกแกนนำกลุ่มคัดค้านเข้าพบเพื่อห้ามชุมนุมและทำกิจกรรมคัดค้านเหมืองโปแตช โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ 13/ 2559

นอกจากนี้ เคยมีการแจ้งข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานก่อนการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตช เมื่อเดือน เม.ย. 2559 จำนวน 2 ราย ไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ มีการรายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่า บริษัทฯ นำรถแบคโฮขนาดเล็กและรถบรรทุกขนอุปกรณ์สำหรับการเทแท่นปูนเข้าเตรียมพื้นที่สำหรับการรองรับเครื่องมือขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในที่นาของชาวบ้านที่ให้บริษัทเช่าพื้นที่ บริเวณบ้านแหลมทอง หมู่1 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน

อีกทั้งพบว่าได้มีการนำธงสำรวจไปปักไว้บนพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ชาวบ้านจึงได้เข้าแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากทางตำรวจ

00000

ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่โปแตชในประเทศ

สำหรับภาพรวมของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่โปแตชในประเทศ ปัจจุบันมี 5 บริษัทใน 5 พื้นที่ ส่วนแรกที่ได้ประทานบัตรขุดเจาะแล้วเพียง 2 แห่ง คือ 1.บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี ขณะนี้อยู่ในแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 เริ่มการซ่อมบำรุงอุโมงค์ใต้ดินหลังขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่มานานถึง 30 ปี

และ 2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด เริ่มขุดอุโมงค์ใต้ดินได้ประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 พื้นที่ 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันราคาแร่โปแตชอยู่ที่ 12,200 บาทต่อตัน มูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท

ส่วนที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษและผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว 3 แห่ง คือ

  1. บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการยืนขอประทานบัตร พื้นที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ใน อ.เมือง จ.อุดรธานี กำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี
  2. บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างการสำรวจแหล่งแร่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และ
  3. บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด พื้นที่ 4 แปลง หรือ 40,000 ไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ จากรายงานใบอนุญาตอาชญาบัตร ณ วันที่ 1 ส.ค. 2559 พบว่ามีบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแหล่งแร่โปแตชจำนวน 4 แห่ง ได้แก่

  1. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จำกัด ได้อาชญาบัตรสำรวจโปแตชและเกลือหิน เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา จำนวน 13 แปลง พื้นที่ 130,000 ไร่
  2. บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลอปเมนท์ จำกัด สำรวจแร่โปแตช จำนวน 2 แปลง พื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
  3. บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด จำนวน 2 แปลง พื้นที่ 20,000 ไร่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา และ
  4. บริษัท แปซิฟิค มิเนอรัล รีซอร์สเซส จำกัด จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 56,020 ไร่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2558 อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ