บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพ ผนึก 2 องค์กร สังคายนาการผลิต-บริหารจัดการวิชาชีพด้านสุขภาพ

บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพ ผนึก 2 องค์กร สังคายนาการผลิต-บริหารจัดการวิชาชีพด้านสุขภาพ

ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ บูรณาการแผนกำลังคนด้านสุขภาพ 10 ปีข้างหน้า ดึง สวค. ร่วมมือกับ สกอ. สังคายนาการผลิต-บริหารจัดการวิชาชีพด้านสุขภาพ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ย้ำต้องมีการกระจายบุคลากรสู่พื้นที่ทั้งในเมืองและชนบทอย่างทั่วถึง

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560 มีมติให้ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกันศึกษาความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพในอนาคตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหาข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อจัดทำ ข้อเสนอเชิงนโยบายการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) นำเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ

นพ.มงคล กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนในระยะยาวเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ทำให้บุคคลากรทำงานเองน้อยลง รวมถึงประชากรไทยที่มีอัตราเกิดลดลง และพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป หันมาดูแลเรื่องสุขภาพด้วยตัวเองมากขึ้น

“การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ต้องนำทุกปัจจัยมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่เอาความรู้สึกในปัจจุบันที่มองว่าขาดแคลนมาเป็นหลักในการตัดสินใจ เนื่องจากถ้าเรากำหนดแผนพัฒนาคนเพิ่มไปแล้ว จะมีผลตามมาในเรื่องงบประมาณผลิตบุคลากรที่รัฐต้องสนับสนุนหัวละหลายแสนจนถึงหลักล้านบาท รวมถึงการลงทุนในเรื่องโครงสร้างที่มารองรับการผลิตบุคลากรเพิ่มด้วย เช่น สถาบันทางการแพทย์ใหม่ๆ ดังนั้น ต้องนำปัจจัยที่อาจส่งผลให้ความต้องการบุคลากรลดลงในระยะยาวมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย เพราะถ้าวางแผนผลิตเพิ่มไปแล้ว การยุบเลิกหรือลดขนาดการผลิตในอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย”

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่กระทบต่อการพัฒนากำลังคน อาทิ การสูญเสียบุคลากรด้านสาธารณสุขออกไปนอกระบบ เช่น ไปทำงานในภาคเอกชน หรือหันไปประกอบวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้พิการติดบ้านติดเตียงมากขึ้น หรือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ซึ่งทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันดูแลและรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งหมดส่งผลต่อความต้องการบุคลากรด้านสุขภาพทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการวางแผนด้านกำลังคนด้านสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้า ที่เบื้องต้นมีข้อเสนอให้ผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ปัจจัยสำคัญคือต้องหากลไกในการกระจายบุคลากรให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง ไม่กระจุกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือในสาขาใดสาขาหนึ่งมากเกินไป ซึ่งในรายละเอียดนั้น ทาง สวค. และ สกอ. จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ชัดเจน

ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า แผนการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพใน 10 ปี จะเป็นข้อเสนอต่อแผนการผลิตบุคลากรวิชาชีพในสาขาต่างๆ ได้แก่ วิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ สัตว์แพทย์ เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุข และแพทย์แผนไทย รวมถึงแผนไทยประยุกต์ โดยไม่ได้หมายถึงต้องเป็นข้อเสนอให้ผลิตบุคลากรเพิ่มเสมอไป เพราะในบางสาขาวิชาชีพอาจต้องระมัดระวังในการผลิตเพิ่มจนเกินความต้องการ แต่ข้อเสนอจะรวมไปถึงเรื่องการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย

ที่มา : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ