19 เมษายน 2560 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
โดยสายัณน์ ข้ามหนึ่ง หนึ่งในตัวเเทนเครือข่ายกล่าวว่า ในระยะเวลา 1 เดือนผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มีการพิจารณา พ.ร.บ.เรียงลำดับตามมาตรา ได้เพียงแค่ 5 มาตรา จาก 100 มาตรา เพราะว่าด้วยความต่างและล้าหลังของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ จึงทำให้การพิจารณาล่าช้า ส่งผลให้มีการขยายกรอบเวลาการทำงานนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจึงเป็นกังวลต่อเนื้อหาสาระของร่างฉบับนี้และไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนเคยเสนอผ่านการทำงานของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท) ซึ่งมีความต่างกันทั้งในเชิงเนื้อ นิยามความหมาย
จดหมายเปิดผนึก
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน)
19 เมษายน 2560
เรียน พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…..
เรื่อง ให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 พ.ศ.2560 ก่อน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ…ยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวให้ครบถ้วน
ด้วยในคราวการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 13 / 2560 วันพฤหัสบดี ที่ 2 มีนาคม 2560 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแล้วลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….เป็นคณะทำงานตามบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ได้รับ
ที่ผ่านมามีการประชุมพิจารณาผลการศึกษาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. โดยเรียงลำดับมาตรา การพิจารณาในครั้งนี้ได้ยืดเอาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ที่ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จ ที่ 1427/2558 เป็นหลักในการพิจารณา ตามการเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อหาของร่างฉบับนี้มีข้อแตกต่าง ไม่ทันสมัยและล้าหลังกว่าร่างที่สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท) เคยจัดทำและพิจารณามาแล้ว โดยมีข้อแตกต่างมากกว่า 60 มาตราเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน
1 เดือนผ่านไปมีการพิจารณาเรียงลำดับตามมาตรา ได้เพียง 5 มาตรา จาก 100 มาตรา ด้วยความต่างและล้าหลังของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ จึงทำให้การพิจารณาล่าช้า ส่งผลให้มีการขยายกรอบเวลาการทำงาน และที่สำคัญเนื้อหาสาระของร่างฉบับนี้เป็นที่กังวลและไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนเคยเสนอผ่านการทำงานของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท)
และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำได้เข้าสู่สถานิติบัญญัติก่อนและไม่ได้รับฟังความคิดเห็นให้ทันสมัย ถึงแม้จะรับฟังก็รับฟังก่อน พ.ศ.2556 ไม่ทันสมัยพอ และจะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมายด้วย
ดังนั้นเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน) และภาคีเครือข่าย ตามรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้
- เปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 วรรค 2 เนื่องจากการการรับฟังความเห็นของกรมทรัพยากรน้ำใน ปี 2554-2556 ไม่ครอบคลุมและไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
- ยึดร่างสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช) เป็นหลักในการพิจารณา
- กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอนร่างฉบับที่พิจารณาในขณะนี้ออก และให้ยึดร่างของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช)
4.มีองค์กรใหม่ ทำหน้าที่เลขานุการ แทนกรมทรัพยากรน้ำเพื่อการประสานงานและการสั่งการได้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
5.ให้มีการศึกษา การประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (RIA)
ด้วยความเคารพ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน) และภาคีเครือข่าย
รายชื่อแนบท้าย
ลงชื่อในนามองค์กร และ เครือข่าย
1.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน)
2.ภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง
3.ภาคีเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำโขง
4.สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (MCI)
5.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)Thai-Water Partnership
6.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
7.สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณะประโยชน์)
8.เครืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง – ล้านนา
9.เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแจ่มตอนบน ต.แม่นาจร จ.เชียงใหม่
10.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
11.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
12.กลุ่มตะกอนยม
ติดต่อ สายัณน์ ข้ามหนึ่ง 098-7493424 089-6345667 Kulriver @gmail.com
138/1 หมู่ 4 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200