เรื่อง:สันติสุข กาญจนประกร ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ
สมัยยุค 60 ตอนที่คนหนุ่มสาวกำลังหันหลังให้สังคมชนชั้นกลาง ปฏิเสธปรัชญาอเมริกัน จำพวกคาถาแห่งการประสบความสำเร็จในชีวิต กระทั่ง เสียงเปล่งตะโกนประโยค “ให้ความรัก ไม่ใช่สงคราม” กำลังดังกึกก้อง
ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทินกร หุตางกูร เพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนดาวสีฟ้าดวงนี้ได้ 3 ปี เขาจบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มต้นเขียนหนังสือจริงๆ จังๆ ด้วยการเขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์และดนตรี มีงานรวมเล่มครั้งแรกคือ ดวงดาวในบ่อน้ำ
นวนิยาย โลกของจอม ของทินกร เข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ปี 2546 โดยก่อนหน้านี้ เคยได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เสาร์สวัสดี ของ กรุงเทพธุรกิจ
แม้ไม่ได้รางวัล แต่นักอ่านคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ลายเซ็นในงานเขียนของเขานั้น ได้สร้างจุดเปลี่ยนให้แก่วงการวรรณกรรมไทยไม่มากก็น้อย จนได้รับการเรียกขานว่า เจ้าชายโรแมนติก
สำหรับผม นอกจากเป็นนักเขียนที่มีดีเอ็นเอเฉพาะในสำนวน ทินกรยังเป็นรุ่นพี่ที่น่ารัก นั่นเป็นสาเหตุให้ผมต้องหาเรื่องไปจิบน้ำจิบท่าที่บ้านของเขาย่านประชาชื่นอยู่เป็นประจำ
หลายครั้ง ผมรู้สึกคล้ายมีเงาร่างอีกร่างซ้อนทับเขาอยู่ อาจเป็นเงาของเด็กชายจอมคนนั้นก็ได้
กลับมาที่เรื่องงาน ในเบื้องต้น ผมตั้งโจทย์กับตัวเอง และบอกกับทินกรไว้หลวมๆ ว่า จะขอพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องความคิดล้วนๆ ประมาณว่าความคิดเปลี่ยนโลกได้ไหม ความคิดของใครในประวัติศาสตร์ที่ชื่นชอบ คนเราห้ามคิดกันได้ไหม แต่สุดท้าย บทสัมภาษณ์กลับมีทั้งเรื่องการเขียน เรื่องของยุค 60 เหล้า บุหรี่ เดวิด โบวี่ ฮิปปี้ เรื่องผี ไปจนถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ
พูดอีกแบบคือ เป็นการสนทนาแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วๆ ไป ในทำนองเอาใจคนคิดถึงทินกร
และไหนๆ ก็ไหนๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมขออนุญาตท่านผู้อ่าน เปลี่ยนสรรพนามการเรียกผู้ถูกสัมภาษณ์จากคำว่า คุณ มาเป็นคำว่า พี่ แทน เหตุผลไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่า เพื่อให้ได้อารมณ์เหมือนตอนสัมภาษณ์จริงๆ
ช่วงนี้พี่คิดถึงเรื่องไหนมากเป็นพิเศษ
คิดถึงนิยายของตัวเอง เรื่องการเมืองบ้าง แต่ที่คิดหนักสุดคงเป็นเรื่องนิยายเรื่องล่าสุดที่กำลังทำ
ก่อนไปเรื่องนิยาย ถ้าเป็นเรื่องช่วงวัย เรื่องตัวเลขอายุที่มากขึ้น คิดถึงเรื่องไหนเป็นพิเศษไหมครับ
ผู้สูงวัยคิดเรื่องอะไรกัน พี่ไม่ค่อยรู้ (หัวเราะ) เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้คิด อาจเป็นเพราะตัวเองไม่ได้เป็นอะไรหนักหนาสาหัสมาก พี่ก็ใช้ชีวิตเหมือนที่เคยใช้มาตลอด ก็ยังกินเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก อยากนอนเมื่อไหร่ก็นอน
ร่างกายก็เสื่อมถอยเป็นธรรมดา?
นั่งพิมพ์หนังสือนานๆ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ก็มีปวดไหล่ ปวดอะไรไป เมื่อก่อนไม่เป็นเลยนะ ส่วนการแฮงค์ตอนกินเหล้า พี่เป็นรอบๆ นะ จะแข็งแกร่งได้สัก 3-4 ครั้ง พอครั้งที่ 5 นี่อาหารหนัก กินหล้าทำเก๋ได้ไม่กี่ครั้ง
ไม่คิดกินคลีนเพื่อสุขภาพเหมือนคนอื่นบ้างหรือครับ
ยินดีด้วยสำหรับคนที่กิน คือเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่มีพิษเต็มไปหมด คนจึงหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ทำไมก็ไม่รู้พี่ไม่ค่อยกังวล อย่างที่บอก อาจยังไม่เคยเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหนักๆ ถ้าเป็นสักครั้งคงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต
เคยเขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า ตัวเองเหมือนยังติดอยู่ในยุค 60 ที่คนไม่ค่อยสนใจเรื่องสุขภาพ สนใจการแสวงหาด้านใน ไม่เหมือนยุคนี้ที่ใครๆ ก็เข้าฟิตเนส ถ่ายเซลฟี่โชว์กล้ามท้อง ร่างกายที่สวยงาม มีกล้ามเนื้อ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางความงามของทั้งผู้หญิงผู้ชาย
แต่ในยุค 60 คนที่เท่คือคนผอมๆ ซีดๆ ดูป่วยๆ เหมือน เดวิด โบวี่ แต่เขาสนใจเรื่องการเมือง เรื่องแสวงหาทางจิตวิญญาณ รู้สึกว่าตัวเองยังชอบค่านิยมของคนยุคนั้น
การรักษาสุขภาพ เข้าฟิตเนสเป็นสิ่งดี ไม่ใช่เรื่องที่จะมาคัดค้านต่อว่ากัน เพียงแต่พี่อาจเป็นคนตกยุค เป็นความรู้สึกลึกๆ ส่วนตัว ซึ่งมันอาจผิดก็ได้ โลกในยุค 40 ปีที่แล้วก็ไม่เหมือนตอนนี้ มลภาวะด้านต่าง ๆ ยังไม่มาก
ตามวิถีปกติ คนที่เคยคิดแบบพี่ เคยเป็นฮิปปี้อย่างยุค 60 พอถึงวัยหนี่งก็ต้องเปลี่ยน อาจด้วยความรับผิดชอบ พี่คิดว่าตัวเองไม่เปลี่ยนเลย?
พี่ไม่ได้มีธุรกิจ หรือต้องรับผิดชอบอะไรมาก การรับผิดชอบชีวิตคนอื่นเป็นเรื่องดี ที่พี่พูดมาทั้งหมด มันเป็นเรื่องของตัวพี่คนเดียว เป็นมาอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ส่วนเรื่องอนาคตยังไม่แน่ใจ
พูดได้ไหมว่า เป็นความตั้งใจในการรักษาความเยาว์
ไม่ใช่ความตั้งใจ เป็นความชอบ ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตารักษามัน เป็นความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่ามันกำลังจะหาย แล้วเราต้องรักษาไว้
วัยนี้สิ่งที่ต้องรับผิดชอบคืออะไร
สิ่งที่พี่ทำมีอยู่อย่างเดียว คือการเขียนหนังสือ รับผิดชอบกับความคิดของตัวเอง ข้อเขียนของตัวเอง เวลามันไปสร้างความเสียหายให้ผู้อื่น ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนไม่ว่าทำอาชีพอะไรก็เป็นแบบนี้ ส่วนเรื่องอนาคตไม่ได้คิดมาก พี่ไม่มีลูก ไม่รู้สึกว่าต้องเก็บออมไว้เพื่อใคร ใช้ชีวิตสบายๆ พยายามมีความสุขกับมัน ความเครียดก็มีอยู่ อย่างเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น คนที่เรารู้จักไม่สบาย เพื่อนมีปัญหา คนรอบข้างที่รักมีปัญหา เราก็กังวลเป็นทุกข์ไปด้วย แต่โดยชีวิตส่วนตัว พี่ไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์อะไรกับมันมากนัก
ชื่อเสียงระดับทินกร ยังมีเขียนหนังสือไม่ออกไหมครับ
มีครับ ตลอดเวลาแหละ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเขียนไม่ออก ความคิดไม่เหมือนกระแสไฟฟ้าอย่างสมัยก่อนที่อะไรมากระทบนิดหนึ่งก็เกิดประกาย ตอนนี้กว่าจะเกิดใช้เวลานาน สิ่งที่มีหลังเขียนหนังสือมาระยะหนึ่ง เป็นแค่เรื่องของทักษะ ส่วนเรื่องควมคิดริ่เริ่ม ความแปลกใหม่ คงช้าลงตามวัย
ยิ่งเล่มล่าสุดยิ่งเกร็งกับมันมากขึ้นไหม คือกลัวว่าจะเสียชื่อ เสียยี่ห้อเรา
พี่ไม่ได้พูดเอาเท่นะ คือไม่เคยคิดแบบนั้น แค่เขียนในสิ่งที่เราคิดว่ามันดี เขียนเสร็จก็อาจคุยกับบรรณาธิการ หรือคนที่อยากให้อ่าน ไม่ได้นั่งกังวลเรื่องกลัวเสียชื่อ มีแค่เรื่องความตั้งใจว่าอยากให้มันดี
แล้วเรื่องความซ้ำล่ะครับ อย่างตัวละครของพี่ต้องเป็นเด็กชายผิวซีด ขี้โรค อยู่ตลอด
จริงๆ พี่อยากให้มันเปลี่ยนบ้างนะ แต่ดูแล้ว งานเขียนของพี่ก็กลับไปสู่ความเป็นตัวพี่ เมื่อก่อนคิดไม่ออกนะ ว่าทำไมเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้คิดได้เหมือนที่พี่ตอบไปว่า พี่ยังติดกับค่านิยมยุค 60 เดวิด โบวี่ ดูซีดๆ เหมือนคนติดยา แต่ด้วยลุคแบบนั้น แต่พี่คิดว่าข้างในของคนยุต 60 มันมีอะไร อายุ 18-19 คิดเรื่องการเมือง สนใจเรื่องสังคม ทำให้พี่ชอบ ก็เลยติดมาในการสร้างตัวละครผู้ชาย พี่ก็สร้างบุคลิกแบบนี้ตลอด เหมือนสมัยก่อนที่คนทำหนังชอบพระเอกที่มีกล้ามอย่าง สมบัติ เมทะนี อะไรแบบนั้น
พี่กลัวแก่ไหม
ในแง่กายภาพก็กลัวอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ด้านในพี่ไม่กลัว เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เปลี่ยนไปมากนัก
ฉายาเจ้าชายโรแมนติก ทุกวันนี้รู้สึกอย่างไร
เขินครับ คือพี่ไม่เข้าใจว่าความหมายของมันคืออะไร อารมณ์โรแมนติกเป็นอารมณ์แบบไหน เพ้อฝันหรือ แต่สมมติว่าใครจะเรียกแบบนั้นก็โอเค จะไม่เรียกก็ได้ ไม่ได้คิดเอามันเป็นสาระอะไร เวลาเราเรียกใครสักคนว่าอย่างไร ก็เพื่อความสะดวกในการระบุตัวตน
อาจมาจากงานเขียนของพี่
ใช่ครับ แต่พี่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่า เป็นเจ้าชายโรแมนติกเพราะเขียนถึงความรัก หรือเขียนคำแบบเพ้อๆ
อาจเป็นจินตนาการอยากให้โลกสวยงาม
ถ้าเป็นแบบนั้นก็คงใช่ เพราะพี่เขียนแบบนั้น แต่ก็ยังเขินๆ เวลาเขียนหนังสือไม่เคยมานั่งคิดถึงคำคำนี้
แต่คำว่าโรแมนติก ถ้าเป็นในยุค 60 อย่างที่พี่พูดถึงบ่อยๆ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ความหมายออกไปในแง่บวก อาจเป็นการต่อต้านสงคราม แต่ในยุคนี้ คำคำนี้มันใกล้เคียงกับคำว่าโลกสวยมาก ซึ่งความหมายเป็นแง่ลบ เป็นความเพ้อฝันที่ไม่จริง
ถ้าอย่างนั้นพี่จะดีใจที่ได้เป็นเจ้าชายโรแมนติกในยุคนี้ ทำไมหรือ ฝันอยากให้โลกสวยแล้วทำไม คือมนุษย์จะเดินไปข้างหน้าได้ ก็ต้องมีความฝัน จะให้ยอมรับกับทุกสิ่ง โดยไม่คิดอยากเปลี่ยนเลยใช่ไหม เราจะไม่มีพื้นที่ให้อุดมคติเลยหรือ เราจะอยู่แค่ในโลกที่มีความคิดแบบ ก็โลกมันเป็นอย่างนี้ เท่านั้นหรือครับ
คำว่าโลกสวยของฝ่ายก้าวหน้า อาจคล้ายๆ ว่า มีแต่อุดมคติ ไม่มีความรู้
มีความรู้หรือไม่มี พี่ว่าทุกคนมีสิทธิแสดงออก สมมติคน ๆ หนึ่งไม่มีความรู้ แต่พูดในสิ่งที่รู้สึก อยากเห็นโลกดีขึ้นก็ให้เขาพูดได้ไหมครับครับ ผิดถูก ไร้ค่าไม่ไร้ค่าอย่างไรคงต้องดูเป็นเคสๆ หรือกรณี
ในแง่ความโรแมนติกของยุคนี้ จำเป็นไหมว่าเราต้องเข้าใจความสลับซับซ้อนของโลกให้มากขึ้น
พี่ว่าการพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ เราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่รู้อะไรจริงไม่จริง จำเป็นต้องหาข้อมูลให้ตัวเองเพื่อจะเลือกหรือตัดสินใจ เหมือนตอนนี้มีเสียงประโคมว่า จะเรียกร้องประชาธิปไตยอะไร ต้องปฏิรูปก่อน ไม่เห็นหรือว่าประเทศมีปัญหา หนึ่ง สอง สาม สี่… แต่ทำไมพี่ไม่คิดอย่างนั้นวะ ปัญหาที่เห็นก็เป็นอีกแบบ
แต่ไม่ว่ายุคไหน พี่คิดว่าเราควรแสวงหาข้อมูล ความรู้ เกี่ยวกับโลกให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้น สิ่งที่เราพูดก็ไม่มีน้ำหนัก
ในนิยายเรื่อง นกเพลง พี่พูดถึง ทักษิณ พูดถึงรัฐบาลทุน ในแง่ลบ ทุกวันนี้ความคิดเรื่องนักการเมืองมันเคลื่อนหรือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
คือเรื่องทุนมันเลี่ยงไม่ได้ โลกวันนี้หมุนไปด้วยทุน แต่ตอนคุณทักษิณเป็นนายกฯ ได้ยินรัฐบาลพูดเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจกับความเจริญด้านวัตถุ อยากเป็นศูนย์กลางโน่นนี่นั่น ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการเงิน ไม่มีมิติด้านอื่น
ถึงตอนนี้ พี่ก็ยังเชื่อแบบนั้น ต่อให้เป็นทุนอย่างไร ก็ต้องมีพื้นที่ให้ด้านอื่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านจิตวิญญาณ
สิ่งที่เปลี่ยนคือ พี่รู้สึกดีกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะมีตัวเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ๆ ก็ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นคนเก่ง คนดี ทำโน่น ทำนี่ เป็นเผด็จการ ปิดปากประชาชน ไม่ให้มีสิทธิมีเสียง คิดว่าประชาชนต้องอยู่ใต้การปกครอง
ในยุคนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าดีไม่ดีเป็นอย่างไร เราเขียนได้ พูดได้ วิจารณ์ได้ ถ้าไม่เห็นด้วยตรงไหน เรามีสิทธิ์อธิบายข้อดีข้อเสีย ประชาธิปไตยไม่ได้ไม่มีด้านลบ มีเยอะไปหมด แต่เรามีสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ คือสิทธิ เสรีภาพ
ความคิดของนักเขียนในยุคนี้ พี่คิดว่าคนในสังคมยังฟังอยู่ไหม ดูเหมือนไปฟังนักวิชาการกันหมด
ก็ต้องยอมรับ ยุคนี้ พลังของวรรณกรรมทั่วโลกแผ่วลง แต่สำหรับคนที่ยังอ่าน มันมีอะไรบางอย่างที่ได้จากงานวรรณกรรม ซึ่งอาจไม่มีในงานวิชาการ คืออารมณ์ความรู้สึก ความงามทางสุนทรียศาสตร์ ก็แล้วแต่ว่าคุณชอบแบบไหน
งานวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องแสดงหลักการ ทฏษฎีอะไรที่ชัดเจน เป็นเรื่องของการเอามาทำให้เป็นอีกรูปแบบ เป็นงานศิลปะ ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวโน้มน้าว
นักเขียนจำต้องหาความรู้ในเชิงวิชาการมากขึ้นไหม
ใช่ มันก็สำคัญ เหมือนที่คุยไปเมื่อกี้ พอโลกเปลี่ยน นักเขียนไม่ตามให้ทัน เขียนอะไรออกมามันก็เอาท์ จริงๆ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่ตัดตัวเองออกไปนอกสังคม ก็คงต้องติดตามหาความรู้ เพราะสิ่งต่างๆ มีผลกระทบต่อเราทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร อย่างรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ แม้ไม่เคยสนใจการร่างเลยก็ตาม แต่ถ้าใครอยู่ได้โดยไม่สนใจอะไร เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปว่า
ทุกวันนี้ รางวัลยังมีผลกับพี่ไหม
รางวัลใครก็อยากได้ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกดีๆ ว่าสิ่งที่เราทำมีคนเห็น เป็นเรื่องปกติของคนทำงาน แต่คงไม่สำคัญขนาดทำทุกอย่างเพื่อรางวัล
งานเขียนของพี่มักกล่าวถึงประวัติศาสตร์อยู่บ่อยๆ ความคิดเปลี่ยนแปลงโลกในประวัติศาสตร์ได้มากน้อยแค่ไหน
มองในแง่อุดมคติ ในเชิงจิตวิญญาณ ความคิดดูคล้ายเปลี่ยนโลกได้น้อยมาก เพราะทุกวันนี้คนก็ยังกดขี่ เบียดบียนกันอยู่ เหมือนที่เราเคยอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์สมัยเรียน แต่ถ้ามองตามสิ่งที่ตาเห็น ทางกายภาพ โลกเปลี่ยนไปมหาศาล ถ้าไม่มีความคิดมนุษย์ โลกคงเป็นดาวทึมๆ เงียบๆ เหมือนเมืองชนบทของฟินแลนด์ ไม่มีแสงสี ความสะดวกสบาย ต่างจากเมืองอย่างนิวยอร์ค
แต่บางคนอาจอยากอยู่เมืองทึมๆ เงียบๆ มากกว่านิวยอร์ค
คำว่าความคิดสามารถเปลี่ยนโลกได้ ฟังดูใหญ่โตเกินไปไหม
ก็ใหญ่ แต่เปลี่ยนในที่นี้ ระดับไหนล่ะ ระดับชุมชนเล็กๆ ระดับเมือง ระดับประเทศ ระดับอภิปรัชญา
มองไปในประวัติศาสตร์โลก ความคิดของใครน่าตื่นเต้นสำหรับพี่
ตอบได้หลายสาขา แต่ถ้าถามตอนนี้อยากตอบในมุมการเมือง นั่นคือเรื่องที่นักปราชญ์กรีกคิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา ทำให้เราเคารพความคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งพี่เชื่อแบบนั้น ส่วนคนที่คิดศาสนาขึ้นมา คนที่สร้างพระเจ้าขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนกัน
ความคิดเชิงไสยศาสตร์ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์ ทำไมถึงอยู่คู่โลกมาตลอด
เพราะมนุษย์ยังไม่รู้จักโลกนี้มากนัก และสิ่งที่ช่วยได้ คือความคิดในเชิงไสยศาสตร์ หรือเทวนิยม เอาเข้าจริง มันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สังคมนี้อยู่ได้ด้วยความสงบ โดยส่วนตัวพี่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร แต่พี่ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ พี่คิดว่าเรื่องผีกับพระเจ้าก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้เป็นสากล
ความเชื่อในพระเจ้าทำหน้าที่คล้ายความรัก คนมีความรักสามารถทำสิ่งที่คนไม่มีความรักต้องประหลาดใจ ยอมยืนตากฝนใต้หน้าต่างบ้านคนรักทั้งคืนก็ทำได้ สิ่งที่น่าอัศจรรย์สำหรับพี่คือศรัทธา คุณศรัทธาอะไรก็ได้หากมีศรัทธาแรงกล้าจริงๆ คนจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ไปไกลถึงไหน ไม่มีใครรู้
พี่เขียนถึงเพลงอยู่บ่อยๆ ความคิดในเพลงมีอะไรน่าสนใจ
อย่างรำคือพี่ฟังเพลงแล้วมีความสุข และนักแต่งเพลงหลายๆ คนก็แต่งเนื้อหาได้น่าสนใจ พูดนอกเหนือไปจากความรัก พูดเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว สิทธิ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กัน แต่การพูดผ่านเพลงมีพลัง
ความคิดที่สร้างความเลวร้าย สอนอะไรคนรุ่นหลังไหม
โลกหมุนมาด้วยความดีและไม่ดี ซึ่งมนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะหยุดความคิดที่สร้างความเลวร้าย เช่น การก่อสงคราม อำนาจเผด็จการ การรัฐประหาร
แล้วในประวัติศาสตร์ไทย ความคิดใครส่งผลมาถึงปัจจุบัน
ขอตอบเป็น 2 สาย สายหนึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าคณะราษฎร แม้ไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่ก็ถือเป็นการหย่อนเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยไว้ อีกสายที่ส่งผลถึงปัจจุบันจริงๆ คือฝ่ายอำนาจโบราณ ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ไปไหน ยังอยู่ในกรอบของจารีตนิยมเชิงอำนาจ