คอลัมน์: 5 dialogue เรื่องและภาพ สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ
หลายๆ ครั้ง การจุดชนวนความไม่พอใจ ถูกสร้างขึ้นจาก โซเชียลมีเดีย จนบานปลายออกมาเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์
พาลให้นึกถึงภาพยนตร์ชื่อ Inception การหลับฝันและสร้างโลกของความสุขที่หลายๆ คนคงพอใจไม่น้อย
ในความหมาย ถ้ามีเครื่องมือมาช่วยให้เราเป็นอย่างที่ใจเราอยากเป็น – เพียงแค่หลับฝัน
แต่ไปๆ มาๆ เรื่องนี้ดูจะล้าสมัยไปแล้วในยุคที่เราสามารถประดิษฐ์สร้างตัวตนได้ในโซเชียลมีเดีย ซ้ำยังส่งแรงผลักกลับสลับไปมา จนแทบกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ต่อประเด็นนี้ เรานึกถึง แชมป์ – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล คนหนุ่มผู้มีความสัมพันธ์กับสื่อออนไลน์อย่างแนบแน่น ทั้งการเคยเป็นเว็บมาสเตอร์และผู้ก่อตั้งเว็บ Exteen นอกจากนี้ เขายังจัดตั้งเพจ ‘พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย’ กับ ‘รอบหน้าจริงกว่านี้อีก’ ยังไม่นับบทบาท นักเขียน คอลัมนิสต์ รวมถึงการเป็นพิธีกร
01
คุณมีความผูกพันกับการใช้ โซเชียลมีเดีย ขนาดไหน
ทุกวันนี้ใช้น้อยลงครับ โดยก่อนหน้านี้ ทำเพจอยู่ 2 เพจ ซึ่งมีคนติดตามเยอะพอสมควร ทำให้ต้องใช้เยอะมาก โดยเป็นการหาเรื่องมาเขียนให้คนเข้าเพจเยอะขึ้น หรือหาเรื่องที่สามารถระบายความรู้สึกออกไปได้เยอะๆ พอทำได้ถึงจุดหนึ่ง มันอิ่มตัว ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าใช้ ทวิตเตอร์ ใช้ เฟสบุ๊ค น้อยลง อย่างในมือถือผมก็ลบแอพพลิเคชั่นเฟสบุ๊คออกไปเลย เวลาอยากเข้า จะได้ลำบากนิดหนึ่ง (หัวเราะ)
อย่างในคอมพิวเตอร์เอง ผมก็ติดปลั๊กอินที่ชื่อว่า Detox for Facebook มันจะเป็นปลั๊กอินที่ รีเพลส News feed ของเราให้กลายเป็น งานดีไซน์ ภาพสวยๆ หรือพวกปกหนังสือ ทำให้เราไม่ต้องไปอ่าน News feed ตอนเช้า คือเราเข้าเฟสบุ๊ค ดูโปรไฟล์ตัวเอง และสามารถเช็คที่เพื่อนมาคอมเมนต์ได้อยู่ แต่ว่านิวฟีดส์ที่คนทั่วไปอัพแล้วมาลงตรงกลาง เราไม่เช็คแล้ว เพราะรู้สึกว่า มีช่วงหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาแล้วเช็คเฟสบุ๊ค เลื่อนดูไปเรื่อยๆ จนไปเจออะไรที่สร้างความหงุดหงิด อย่างคนอัพสเตตัสด่ากัน หรืออวดโน่นอวดนี่เยอะ ๆ คือเราไม่อยากรู้อะไรพวกนี้ เราไม่ควรมาหงุดหงิดอะไรแบบนี้ตั้งแต่เช้า ทั้งที่ยังไม่ลุกจากเตียงเลยนะ
ผมเลยทบทวนความสัมพันธ์ของตัวเองกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วเริ่มปรับระยะใหม่ คือไม่ได้ตัดขาดไปเลยนะ แค่หาวิธีที่จะอยู่กับมันได้โดยที่ยังมีความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ ผมว่าตอนเช้าเวลาตื่นขึ้นมา คือช่วงที่สมองเปิดรับอะไรมากที่สุด พอเป็นอย่างนั้น เราก็อยากอ่านอะไรที่มันสร้างสรรค์ อ่านหนังสือก็ได้
02
เวลาเราระบายความรู้สึกในหน้าโปรไฟล์ตัวเอง มันเหมือนเราระบายกับเพื่อน ไม่ได้หมายความว่าอยากให้เป็นสาธารณะนี่
ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราค่อนข้างชัดเจนระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ เช่น โลกออฟไลน์ คือบ้าน เป็นที่ส่วนตัว ห้างสรรพสินค้าคือที่สาธารณะ สวนสาธารณะคือที่สาธารณะ เมื่อก่อน เมตาฟอร์ ของโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์มันมีความซ้อนทับกันอยู่ บ้านคือที่ส่วนตัว ถ้าบนโลกออนไลน์ที่ส่วนตัวอาจเป็นบล็อก เป็นหน้าเว็บไซต์ส่วนตัวของเรา ตรงนี้ เราก็รู้สึกว่ามันมีสิทธิ์ขาดในอำนาจสำหรับจัดการคนที่เข้ามาคอมเมนท์
ต่อมามันมีเฟสบุ๊คซึ่งทำให้การไหลเวียนมันพร่าเลือนมากขึ้น ถึงแม้เราบอกว่า เราอัพในหน้าโปรไฟล์เราก็จริง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสถานะในหน้าโปรไฟล์ของเรามันเล็ดลอดออกไปข้างนอกตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเล็ดลอดสู่คนอื่นผ่านนิวฟีด
เฟสบุ๊คเป็นที่เหลื่อมระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม เป็นที่เหลื่อมซึ่งจำกัดความยากมากเลย
ดังนั้น ปัญหาของโลกออนไลน์ตอนนี้ด้วยคำนิยามแบบใหม่ มันทำให้คนไม่รู้จะประพฤติตัวยังไง เราเห็นได้ว่ามีกรณีอย่างการด่าเจ้านายบนเฟสบุ๊ค คือเรารู้สึกว่าคือพื้นที่ส่วนตัวของฉัน ฉันก็ด่าให้เพื่อนฟัง แต่ดันไม่ตั้งให้เป็นไพรเวซี่ไว้ เลยเป็นเรื่องส่วนรวมขึ้นมา
มีกรณีอยากอัพเรื่องส่วนรวม แต่ก็เผยแพร่ในที่ส่วนตัวอะไรอย่างนี้ มันก็อาจทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดเขา รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่เพื่อนควรต้องรู้ ควรไปโพสต์ในที่สาธารณะมากกว่า ทำให้คนวางตัวลำบากมากขึ้น และทำให้คนไม่รู้ว่าต้องวางตัวเองไว้ตรงไหนของสเปกตรัมสำหรับพื้นที่ส่วนตัวกับส่วนรวมแบบนี้
สิ่งที่เราชอบลืมคือ คำพูดมีสถานะเหมือนก๊าซ พูดไปก็ระเหย ถ้าไม่ได้ถูกอัดไว้ แต่เวลาที่เราพิมพ์อะไรลงไปทุกอย่างมันเป็นของแข็ง ทุกอย่างคือสิ่งที่จับต้องได้ ถึงแม้ว่าเราพิมพ์ในไลน์ มันก็ถูกจับภาพไว้ ถูกบันทึกไว้ได้หมด มันเลยเป็นคอมมอนเซ้นส์แบบใหม่ที่เราต้องระวัง
03
เห็นความสัมพันธ์แบบไหนที่น่าสนใจบนโลกออนไลน์
โลกออนไลน์ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งแต่ก่อนมีไม่เยอะ คือความสัมพันธ์แบบเราไม่เท่ากัน เราจะคิดว่ารู้จักเขาเยอะ แต่เขาไม่รู้จักเราเลย คือในแง่หนึ่ง สมัยก่อน การเป็นเพื่อนคงมีความเหลื่อมล้ำทางความสัมพันธ์กัน แต่ไม่เยอะ แต่โลกออนไลน์ทำให้ทุกคนมีสถานะเป็นสื่อ ดังนั้น การที่เรารู้สึกว่าเราพูดคุยกับดาราคนหนึ่งเป็นสิบชั่วโมง เพราะเราอ่านสิ่งที่ดาราอัพขึ้นตลอด แต่ดาราเขารู้จักเราเป็นศูนย์ มันเห็นความเหลื่อมล้ำของความสัมพันธ์แบบนี้มากขึ้น
04
สร้างตัวตนในโลกเสมือนมากๆ เข้า มันจะกลายเป็นตัวเราจริงๆ ไหม
ถ้าเป็นคนที่รู้ตัว มันก็คือการเพอฟอร์แมนซ์บางอย่างในโลกออนไลน์น่ะครับ แต่มันก็มีบางเคสที่เขาอาจไม่ได้มีความคิดที่รุนแรงขนาดนั้นทุกเรื่อง แต่ต้องหาวิธีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของเขา แทนที่เป็นว่า เขาสร้างตัวนี้ขึ้นมา มันกลายเป็นตรงนี้สร้างเขาขึ้นมา เลยกลายเป็นภาระ เป็นความกดดัน เหมือนเราเล่นบทบาทบางอย่างแล้ว คนก็คาดหวังให้เราเป็นแบบนี้ ในเวลาแบบนี้
05
สุดท้ายแล้วเราควรแบ่งอย่างไรระหว่างโลกความจริงกับโลกเสมือน
โลกความจริงกับโลกเสมือนมันหลอมหากันมากขึ้น คือเราหาจุดแบ่งตรงไหน ว่ามันคือโลกความจริง คือโลกเสมือน อย่างผมใช้แอพอูเบอร์ รถก็มารับจริงๆ สมมติว่าคะแนนที่เรารีวิวให้คนขับคนหนึ่ง แล้วมีผลกับเขาในชีวิตจริง แม้แต่เรื่องการสื่อสารออนไลน์ สมมุติสื่อสารแบบนี้ แล้วมีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ มันก็กลายเป็นโลกความจริงล่ะ ดังนั้น โลกเสมือนกับโลกความจริงมีแรงส่งที่สะท้อนกันอยู่ จนเราไม่สามารถแบ่งได้ว่าอันไหนคือความจริง อันไหนคือโลกเสมือน ไม่ได้คิดว่าโลกเสมือนมันเป็นโลกที่แยกออกไปจากโลกความเป็นจริงหรอก แต่มันเป็นโลกที่หลอมรวมจากโลกความเป็นจริงมากกว่า