5 คำถามปัญหาชาวบ้านที่คนชั้นกลางอาจไม่เคยรู้

5 คำถามปัญหาชาวบ้านที่คนชั้นกลางอาจไม่เคยรู้

71691_459713480742367_1214177184_n

 คอลัมน์: 5 dialogue        เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ศรายุทธ ฤทธิพิณ คือบรรณาธิการของ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สื่อพลเมืองที่นิยามตัวเองว่า ผลิตขึ้นโดยชุมชน เพื่อชุมชน และชุมชนเป็นเจ้าของ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจรัฐ

เป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระทั้งในด้านความคิด สิทธิ และเสรีภาพ ด้วยการเป็นกระบอกเสียง ติดตาม รายงานปัญหาต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องต่อสู้กับวิธีคิด และนโยบายปฏิบัติที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินทำกิน และการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ

สำนักงานของพวกเขาอยู่ที่ ตำบลคอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในพื้นที่ซึ่งโดนผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

และนี่คือ 5 คำถามจากเรา และ 5 คำตอบจากคนที่คลุกคลีปัญหาของชาวบ้านมาโดยตลอด

01

เรามักได้ยินการเรียกร้องให้มีการจัดการป่า โดยคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม คำว่ามีส่วนร่วมนี้ หมายถึงอะไร

การจัดการป่าที่ถูกประกาศขึ้นเพียงหน่วยงานภาครัฐ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน จะทำให้เจ้าหน้าที่ผูกขาดอำนาจการจัดการป่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น การประกาศเขตป่าต่างๆ ทับซ้อนพื้นที่ทำกินชาวบ้าน ส่งผลให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากพื้นที่ ถูกไล่รื้อ นอกจากนี้ ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ กลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และถูกกล่าวหาเป็นผู้บุกรุก หรือทำลายป่า ทั้งที่รัฐขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชนที่ได้ถือครองการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาอย่างยาวนานนับแต่บรรพบุรุษ

เมื่อรัฐมีนโยบาย หรือแผนปฏิบัติงานที่ถูกจัดทำขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยหรือทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ถือว่าขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชน เช่น เมื่อวันที่ 25 ส.ค.57 ที่ ชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และวันที่ 26 ส.ค.57 ที่ชุมชนบ่อแก้ว ตำบลทุ่งพีระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดนปิดประกาศคำสั่ง คสช. ภายหลังเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศของจังหวัด เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/57 ลงวันที่ 14 มิ.ย.57

นอกจากชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือเพื่อให้พิจารณาแผนโครงการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนอีกด้วย

ฉะนั้น รัฐต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้คนกับป่า หรือชุมชนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปราศจากการทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากพื้นที่

02

คนชั้นกลางในเมืองรู้สึกว่า พอมีรัฐประหารเเล้วบ้านเมืองสงบสุขดี เเต่สำหรับชาวบ้านที่คุณทำงานด้วย คำกล่าวนี้ จริงเท็จเพียงใด

คำตอบนี้ขออธิบายในส่วนที่เป็นกลางที่สุด เพราะนี่เป็นเรื่องการเมืองที่เกิดความขัดแย้ง เป็นต้นว่า คนในเมืองอาจมองเพียงเหตุผลจากที่ได้รับการสื่อสาร เช่น มีการคอรัปชั่นอย่างหนัก ทุจริต บริหารงานไม่โปร่งใส หรือได้รับรู้เรื่องราวจากการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างหนักหน่วง อาจเป็นเหตุทำให้คนในเมืองมีความรู้สึกไม่ชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้ หรือไม่ชอบรัฐบาลชุดนั้นชุดนี้

แม้ว่าวิถีการรัฐประหารไม่ชอบด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่อาจทำให้คนในเมืองบางบุคคล หรือบางกลุ่ม มองว่าการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลถือเป็นการปฏิบัติการนอกสภาที่ดีที่สุด

สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินนั้น กลับกลายเป็นว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แนวทางแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะมีการดำเนินการต่อในชุดรัฐบาลนั้น กลับไม่ได้รับการสานต่อ อีกทั้งยังเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด หมายความว่า เมื่อรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ได้มีการสานต่อในการจัดการป่า ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านขึ้นมาอีก ต้องเดินทางไปเรียกร้อง ยื่นหนังสือ หรือร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อประชาชนอีกรอบ ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้น มักเกิดปฏิบัติการเช่นนี้อยู่เสมอ ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาไม่มีความต่อเนื่อง รวมทั้งกลับทรุดหนักเข้าไปอีก

03

กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการป่าได้จริงหรือ

หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มองว่าสามารถยืดหยุ่นในเรื่องของความขัดแย้งกันได้บ้าง แม้อาจไม่ถึงที่สุด แต่ยังดีกว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะหลายอย่างนอกจากประชาชนถูกลิดลอนสิทธิแล้ว บางกรณีชาวบ้านยังขาดการมีส่วนร่วมในการเรียกร้องเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข เช่น ประกาศกฏอัยการศึก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ส่งผลให้ประชาชนที่เดือดร้อน ไม่สามารถสื่อสารหรือเรียกร้องให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างเต็มที่

04

จากที่ทำงานเรื่องนี้มาตลอด อะไรคือปัญหาที่เเท้จริงของการไม่มีที่ดินทำกิน

ปัญหาที่แท้จริง อาจเป็นเพราะรัฐบาลเหมาไปหมดว่า ทั้งป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ หรือทะเล เป็นสมบัติของรัฐไปหมด ไม่มีนโยบายกระจายการถือครองที่ดินทำกิน ไม่คำนึงถึงสิทธิที่ควรได้ของประชาชน ทั้งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เสนอปัญหากับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ทั้งมีแนวทางการแก้ไขปัญหา มีข้อตกลงร่วมกัน แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าที่ควรแต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านถูกจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพยากร รวมถึงไม่อนุญาตให้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ดิน มาตราบทุกวันนี้

05

มองไปในอนาคต หดหู่ หรือ สดใส อย่างไร

จากอดีต ล่วงมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่มองเห็นคือ การฉวยโอกาสแย่งชิงทรัพยากรจากหน่วยงานภาครัฐ ยังมีการสืบทอดอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนี้อาจมองได้จากการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมาซ้ำรอยเดิมจากนโยบายรัฐบาลหลายยุค ล่าสุด เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 64/57 แผนแม่บทป่าไม้ฯ นโยบายทวงคืนผืนป่า สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค ต่างตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงมาโดยตลอด ไม่แน่ใจและกลัวว่าจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีกเมื่อใด

เพราะจากบทเรียนสำคัญในการดำเนินการของรัฐ พบว่า ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุแห่งความขัดแย้งจะพบว่า กรอบความคิด และแนวปฏิบัติของรัฐมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรูและไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้

ฉะนั้น หากปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่สามารถแก้ให้ถูกจุด ไม่มีนโยบายคลอดออกมาอย่างชัดเจน ชาวบ้านก็จะถูกปิดกั้นสิทธิการในการถือครองที่ดินทำกินไปตลอด ความหวาดผวา ความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ย่อมถูกจู่โจมเข้ามาเป็นฉากๆอีกแน่นอน แนวโน้มในอนาคต ย่อมจะผลกระทบต่อประชาชนที่ยากจน หรือผู้ไร้ที่ทำกินอย่างต่อเนื่อง เพราะหากคำสั่งและแผนปฏิบัติงานตามนโยบายต่างๆ ที่ถูกจัดทำขึ้น ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนในภาคส่วนต่างๆ ด้วยความถูกต้อง เสมอภาค และเป็นธรรม อนาคตข้างหน้าไม่สดใสแน่นอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ