สู่วัยชราอย่างมีศิลปะกับสังคมผู้สูงอายุ

สู่วัยชราอย่างมีศิลปะกับสังคมผู้สูงอายุ

จอห์น เลน

คอลัมน์: Read to Shake         เรื่องและภาพ: อัจฉริยะ ใยสูง

อีกไม่ช้าไม่นาน สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนจำนวนประชากรในวัยทำงานและวัยเด็กลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดและการตายน้อยลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดคำถามว่า ทางภาครัฐเองพร้อมแล้วหรือยังกับสัดส่วนประชากรที่กำลังถ่ายเทจำนวนไปสู่กลุ่มคนวัยชรา

ก่อนเราจะไปถึงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ขอให้หยุดคำถามกับทางภาครัฐไว้ก่อน โครงสร้างใหญ่เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องเสียหายในการมองที่ตัวผู้สูงอายุเองก่อน ว่าพร้อมรับมือแล้วหรือยังกับชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

โดยอยากขอกล่าวถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ ชื่อ ‘สู่วัยชราอย่างมีศิลปะ แรงบันดาลใจเพื่อชีวิตที่งามอุดม’ เขียนโดย จอห์น เลน (John Lane) แปลเป็นภาษาไทยโดย สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี

จอห์น เลน เกิดในปี 1930 เสียในชีวิตปี 2012 เป็นทั้งจิตรกร นักเขียน และนักการศึกษา ที่สำคัญเขาเป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งก่อนเสียชีวิต

ในหนังสือได้พูดถึงการใช้ชีวิตและการรับมืออย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยชรา ขอยกตัวอย่างบทเปิดเรื่องมาให้อ่านกันสักย่อหน้าหนึ่ง

‘“คนหนุ่มไม่เคยคิดว่าตัวเองจะตาย” วิลเลี่ยม ฮัชลิตต์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ และก็จริงสำหรับผม ตอนเป็นหนุ่มผมไม่เคยคิดถึงความตาย ไม่อยากคิดเรื่องแก่ และด้วยเหตุนี้จึงไม่เคยเปลืองสมองคิดว่าจะป่วยหนัก หรือควรต้องทำประกันประเภทใดๆ ซึ่งก็ไม่ใช่การปฏิเสธ เป็นแต่ไม่สนใจกับเรื่องพรรค์นี้ และถึงอยู่มาจนอายุปูนแปดสิบ

‘ผมแทบไม่เคยป่วยหนัก จนกระทั่งสองสามปีก่อน เมื่อต้องรับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจสี่เส้น และพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการพาร์คินสัน แต่จนถึงเดี๋ยวนี้ เว้นแต่ปัญหาเรื่องปัสสาวะเป็นบางครั้งบางคราว อาการท้องผูก และเหนื่อยอ่อนทั่วไป ผมยังกระตือรือร้นมากพอที่จะกล้าคิดเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยความจริงที่ว่า ถึงเส้นผมจะเป็นสีดอกเลา สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง เรี่ยวแรงถดถอย และความจำระยะสั้นไม่ค่อยดี ผมกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ โดยรวมๆ แล้วผมยังรู้สึกเหมือนเดิม แม้หลายเรื่องจะส่งสัญญาณในทางตรงข้าม ในแง่นี้ผมเห็นพ้องกับทัศนะของอดีตบรรณาธิการวัย 95 ปี จิมมี่ เธิร์สก์ ที่กล่าวว่า “ผมไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องความแก่ ผมไม่เชื่อมั่น” ซึ่งน่าจะเป็นทัศนะร่วมของผู้สูงวัยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ อย่างน้อยก็สำหรับคนที่สุขภาพยังค่อนข้างดี’

ดั่งย่อหน้าที่ยกมา เราพอมองเห็นได้ว่าจอห์น เลนเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิต มีความกระตือรือร้นสูง และมีความคิดสร้างสรรค์ อาจเพราะเขาเลือกทำงานเป็นจิตรกร เป็นนักเขียน เป็นนักการศึกษา ซึ่งงานเหล่านี้ไม่มีคำว่าเกษียณ มีความท้าทายใหม่ๆ ให้กระตุ้นอยู่เสมอ ท่าทีและทัศนคติของจอห์น เลนจึงเกิดเป็นคำถามย้อนกลับมาสู่สังคมผู้สูงอายุในบ้านเราว่า อะไรคือปัจจัยหลักในการกดมิให้เกิดทัศนคติใหม่ๆ และความคิดสร้างสรรค์

ปฏิเสธมิได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกหล่อหลอมมากับระบบจารีตนิยมอย่างยาวนาน ทางหนึ่งเราจึงไม่อาจกล่าวโทษผู้สูงอายุในบ้านเราได้อย่างเต็มปากนักว่า พวกเขาส่วนใหญ่เป็นสายอนุรักษ์นิยมซึ่งทำให้บ้านเมืองล้าหลัง เพราะในแง่หนึ่ง ประเพณีดั้งเดิมต่างๆ ก็มีกลไกในการทำงานของมันอยู่ เพื่อขับเคลื่อนสังคมในช่วงนั้นๆ ให้เดินหน้า

แต่กับสังคมสมัยใหม่ การให้คุณค่าต่อเสรีภาพทางความคิดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแลกเปลี่ยนถกเถียงทางปัญญา ย่อมนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองอย่างมีส่วนร่วม ไม่ผูกขาดการตัดสินใจไว้ที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาคมโลกให้การยอมรับ

อีกประการสำคัญ ตั้งแต่เราเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยในปี 2475 ประเทศไทยประสบอุบัติเหตุทางการเมืองบ่อยอยู่ครั้ง รวมถึงกฎหมายบางมาตราที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เพดานทางความคิดของผู้คนถูกจำกัดให้เตี้ยลง ซ้ำนี่ยังเป็นต้นเหตุสำคัญหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากแก้วของการคอรัปชั่นอีกด้วย

ถ้าสังคมบ้านเราไม่เกิดการสะดุดของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เชื่อได้เลยว่าสภาพแวดล้อมคงเอื้ออำนวยให้ผู้คนคิดอย่างสร้างสรรค์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ มีการถกเถียงประเด็นร้อนๆ ในห้วงขณะนั้นๆ ด้วยความอดทนอดกลั้น

เราอาจได้เห็นการเกิดของพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุดประชาชน และสถานที่ออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ทั้งสังคมมีชีวิตชีวา ไม่มอมเมาอยู่แต่กับความคิดเพียงแค่ด้านเดียว ผู้สูงอายุย่อมมีโอกาสได้เล่น ได้ทดลองกับความคิดใหม่ๆ เพราะว่าวัยเกษียณมีอิสระทางการงานหรือการเรียนมากกว่าคนวัยเรียนหรือคนวัยทำงานด้วยซ้ำ

ขอยกตัวอย่างอีกสักย่อหน้าหนึ่งในหนังสือสู่วัยชราอย่างมีศิลปะฯ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ห้วงวัยหาใช่อุปสรรคในการก่อร่างสร้างสิ่งต่างๆ

‘ตัวอย่างที่โดดเด่นของการสร้างสรรค์งานในช่วงบั้นปลายของชีวิตยังรวมถึงประติมากรชาวฟลอเรนซ์ โดนาเตลโล ผู้มิเคยวางมือจากงานแม้วัยจะล่วงเข้า 80 ปี กวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ ประพันธ์ ‘เฟาส์ต ภาคสอง’ ผลงานชิ้นเอกของท่าน เสร็จสิ้นในปีก่อนมรณกรรม ขณะมีอายุ 83 ปี วิคเตอร์ ฮูโก ผู้ประพันธ์ ‘เหยื่ออธรรม’ และ ‘ไอ้ค่อมแห่งนอตเตอร์ดาม’ และลีโอ ตอลสตอย ผู้ประพันธ์ ‘สงครามและสันติภาพ’ ทั้งสองท่านมิเคยวางมือจากงานตราบจนสิ้นอายุขัยในวัยอันยืนยาวเช่นกัน สำหรับนักดนตรีแล้ว กุยเซปเป้ เวอร์ดี้ประพันธ์ ‘ฟาลสตัฟฟ์’ เมื่อมีอายุ 80 ปี และจอร์จ เฟรเดริก ฮานเดล ประพันธ์บท ‘โอราโทริโอ’ เจฟต้า อยู่จนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งที่ตาบอดและทุกข์ทรมานจากอาการอัมพฤกษ์และโรคเกาต์

‘ริชาร์ด สเตราสส์ ผลิตงานดนตรีที่เปี่ยมแรงบันดาลใจหลายชิ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต อาทิ ‘โฟร์ ลาสต์ ซองส์’ และ ‘เมตามอร์โฟเซ่น’ คีตการไว้อาลัยต่อชาติเยอรมนีที่บอบช้ำจากการทิ้งระเบิดถล่มเดรสเดน เบอร์ลิน และเมืองอื่นๆ โดยกองทัพพันธมิตร นักดนตรีฝีมือเยี่ยมยอดในอีกสายดนตรีคือ แฟนนี่ วอเตอร์แมน ครูผู้เป็นแรงบันดาลใจและผู้ก่อตั้งการแข่งขันเปียโนแห่งเมืองลีดส์ หนึ่งในงานมหกรรมเปียโนที่ทรงเกียรติที่สุด เธอเป็นตัวอย่างอันดีของคติพจน์ที่ว่า คนเราไม่หยุดทำงานเพราะแก่ตัว แต่แก่ตัวเพราะเลิกทำงาน’

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงสายการทำงานด้านศิลปะ วรรณกรรม และดนตรีเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ผู้สูงอายุในบ้านเราจะสร้างสรรค์เพียงแต่งานเหล่านี้ เพราะทักษะแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน อาจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่จะเป็น 1 สิทธิ์ 1 เสียง ในการกำหนดนโยบายสำหรับสังคมผู้สูงอายุโดยตัวของพวกเขาเอง นี่ก็เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง

ท้ายสุดหวังว่า ในภายภาคหน้าสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่คงเอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุมากขึ้น ได้เห็นชีวิตชีวาแทบทุกที่ แทบทุกมุมเมือง มีหลักประกันสุขภาพที่ดี มีเงินยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายจริง มีรัฐสวัสดิการที่เป็นระบบ เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดสังคมคุณภาพ

ได้เห็นการถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างคนหนุ่มสาวและคนวัยชรา เพราะบางทีความสดใหม่ของหนุ่มสาวก็ต้องการความเก๋าของคนแก่มาเสริมเติม

กระนั้น สังคมต้องทำให้คนวัยชรามีชีวิตเสียก่อน ไม่ใช่เป็นแค่เพียงร่างกายที่รอการหมดลมหายใจเท่านั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ