เรื่องเล่าเมืองแปะ ตอน การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของแหล่งธรรมชาติกุดซิน

เรื่องเล่าเมืองแปะ ตอน การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของแหล่งธรรมชาติกุดซิน

เรื่องเล่าเมืองแปะ ตอน การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของแหล่งธรรมชาติกุดซิน
 
“กุดซิน” คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในเขตบ้านมะพริก หมู่ 12  ตำบลสะแก  อำเภอสตึก  จังหวัดบุรีรัมย์  มีพื้นที่ 120 ไร่ 9 ตารางวา มีระยะทางรอบ 4,000 เมตรห่างจากลำน้ำมูลประมาณ 80 เมตร เป็นร่องน้ำมูลเดิมในอดีต มีรูปร่างลักษณะคล้ายแขนศอก หรือ แอกวัว ในสมัยก่อนชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า (กุดศอก) สภาพพื้นที่เป็นป่าบุ่งป่าทาม น้ำท่วมขังตลอดปี เป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านตำบลสะแก  อีกทั้งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณไม้และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนานา ชนิด ทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของนกที่อพยพมาอาศัยในฤดูหนาวและนกประจำถิ่น มีพรรนไม้ในท้องถิ่นทั้งสมุนไพรและไม้ผล ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน


สภาพป่าที่อยู่ในกุดซินแต่ก่อนกุดซินมีสภาพเป็นป่าบุ่งป่าทาม ที่รกมากเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ และต้นหวายจะมีมาก ทั้งสมุนไพร ไม้เครือ ต้นไผ่ ต้นมะดัน ต้นหมากแซว และ รอบ ๆ กุดซิน จะมีผักและผลไม้มากมายและพันธุ์ไม้ที่หายาก เช่น ผักกรูด ผักติ้ว ชะมวง ต้นเหม่า เห็ด กล้วยน้อย กระเบา สามพันตา ต้นโมก  ระบบนิเวศในกุดซิน จะหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์มากในอดีตสัตว์ป่าในพื้นที่กุดซินยังมีอยู่มากโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ พวกลิงชนิดต่าง ๆ  อีเหน ชะมด พังพอน  กระต่ายป่า  กระแต  หมูป่า เป็นต้น กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่น่าสนใจคือ  จระเข้น้ำจืด เต่า และงูหลาม จะมีมากงูเหลือม งูเห่า งูสามเหลี่ยมและงูกินปลาชนิดต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น ปัจจุบันแทบไม่เหลือเลยแต่ก่อนชาวบ้านที่มาเลี้ยงวัวบริเวณพื้นที่กุดซิน จะมีอาวุธเพื่อมาล่าสัตว์เช่น นก ไก่ป่า และปลาเป็นกับข้าวตอนกลางวัน  แถมยังมีเหลือติดมือกลับบ้านอีกด้วยสภาพดั้งเดิมของพื้นที่กุดซินบริเวณพื้นที่กุดซินดั้งเดิมกลางดอนแก้วมีแต่กอไผ่ป่า  ต่อมากอไผ่ป่าเกิดเป็นขี (หรือมอดในก่อไผ่)กอไผ่ป่าจึงตายไปปัจจุบันกอไผ่ป่าเหลือน้อยเป็นเพราะการเกิดใหม่ของต้นไผ่ป่าจะต้องใช้เวลานานกลางดอนแก้วมีไก่ป่ามาอาศัยอยู่มากมาย  เมื่อก่อนไม่มีปืนเหมือนปัจจุบันนายพรานจึงใช้หน้าเก้งในการไล่ล่าไก่ป่า ต่อมาชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่มาทำการถากถางเพื่อปลูกพืชการเกษตร  จึงทำให้กอไผ่ป่าเกือบจะสูญพันธุ์  และในช่วงหลังมีการทำไร่ปอทำให้ถูกทำลายไป

อดีตป่ากุดซินมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในชุมชนท้องถิ่นที่ต้องออกป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ที่เปรียบเหมือนเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชนในพื้นที่ข้างเคียง  ที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนนับตั้งแต่การเกิด  การเจริญเติบโต การออกเรือนการกินอยู่ ความเจ็บป่วยจนกระทั่งการตายนั่นเองสัตว์ต่าง ๆในพื้นที่กุดซินในอดีตนั้นมีจำนวนมาก กว่า  50 ปี ที่ผ่านมา  สัตว์ป่าในพื้นที่กุดซินยังมีอยู่มากโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ พวกลิงชนิดต่าง ๆ  อีเห็น ชะมด พังพอน  กระต่ายป่า  กระแต  หมูป่า เป็นต้น กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่น่าสนใจคือจระเข้น้ำจืดเต่า และงูหลาม งูเหลือม งูเห่างูสามเหลี่ยมและงูกินปลาชนิดต่าง ๆ มากมาย เป็นต้น แต่เมื่อสภาพภูมิปะเทศถูกทำลายไปจึงส่งผลให้จำนวนชนิดมีน้อยลงมาก พบว่ามีสัตว์หลายชนิด  ได้แก่ กลุ่มนกที่พบในพื้นที่กุดซิน  เช่น กระเต็นอกขาวนกเขาไฟ  นกเขาใหญ่  นกเขาชวานกกะปูดใหญ่นกกาเหว่านกยางกรอกพันธุ์จีนนกยางโทนน้อยนกยางเปียนกแขวกนกเค้าแมว นกไก่นา กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่พบในพื้นที่กุดซิน  ได้แก่  งูเห่า  งูหลาม  เต่าหับเต่านาเนื่องจากกุดซินป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทำให้กลายเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านที่เข้าไปเก็บของป่าของชาวบ้าน และพืชผักต่าง ๆ  อาทิ เช่น  ผักกระโดน  ผักกูด  เห็ดผึ้ง  เห็ดไค เป็นต้น

สภาพน้ำในอดีต สภาพป่าแต่ก่อนอุดมสมบูรณ์มากน้ำจะเยอะมากกว่าตอนนี้แต่สาเหตุที่กุดซินตื้นเขินเพระว่าในกุดซินมีป่าไม้เยอะใบไม้ก็หล่นทับถมลงไปในน้ำพวกต้นไม้ต่างๆ ก็โค่นหักลงไปในน้ำจึงทำให้น้ำในกุดซินตื้นเขินขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแถวนั้นเวลาหิวน้ำชาวบ้านก็จะโกยใบไม้ที่อยู่บนดินข้างๆ กุดซินออกโดยโกยดินให้เป็นหลุมน้ำก็จะไหลซึมออกมาชาวบ้านเรียกว่า น้ำจั่น ชาวบ้านสามารถนำเอาน้ำมาดื่มกินได้แต่ตอนนี้โกยยังไงน้ำก็ไม่ออกมาถึงน้ำจะออกมาจริงชาวบ้านก็ไม่กล้ากินเพราะว่าสารเคมีเยอะแต่ก่อนทรัพยากรพวกสัตว์มี ลิง กระรอก กระแต ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ลิงเยอะมาก ในน้ำก็จะมีจระเข้ส่วนมากก็จะไม่ค่อยมีคนเห็น แค่ก็ยังมีรอยจระเข้อยู่และจระเข้ ก็ยังมาวางใข่ในรอบกุดซินแต่ก็จะเห็นจระเข้ในสมัยแต่ก่อนมันจะไปวางไข่ที่กุดซินบ้างกุดจับบ้างมันจะย้ายที่ว่างไข่ไปมาอยู่สองที่ส่วนงูเหลือมงูหลามก็ยังมีอยู่ตัวใหญ่มากและได้มีการรณรงค์ถ้าชาวบ้านไปจับสัตว์ดักปลาถ้าได้งูชาวบ้านก็จะปล่อยพวกนกทุกวันนี้นกที่เยอะๆ ก็จะมีนกแสก นกกระยาง นกเจ่า ช่วงเย็นๆ มันจะไปอาศัยนอนอยู่ที่กุดซินเยอะมากส่วนต้นไม้แต่ก่อนก็ยังมีเยอะอยู่อุดมสมบูรณ์มากมีต้นมะดัน ต้นหว้า ต้นหมากแซว สมุนไพรทั่วไปมันก็จะมีอยู่เยอะมันจะแตกต่างกับปัจจุบันตรงที่แต่ก่อนไม่มีใครเข้าไปไร่ทำนารอบๆ กุกซินมีการทำถนนรอบกุดซินมีโครงการเข้าไปพัฒนากุดซินจึงทำให้สภาพทางพื้นที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป

พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับพื้นที่กุดซิน
พ่อบุญเลี้ยง พรมศรี อายุ 51 ปี ท่านได้เล่าบอกว่าชาวบ้านในพื้นที่ฝั่งตำบลสะแก ก็มีครอบครัวของพ่อสอน  พลสมัคร ที่เกิดโรคระบาดเกี่ยวโรควัวควายขึ้น  พ่อสอนจึงนำวัวควายมาเลี้ยงในพื้นที่กุดซิน  ในครั้งนั้นแม่ใหญ่หมาตุ้ย  เป็นคนชอบดุด่าว่ากล่าวลูกหลาน ลูกหลานจึงโกรธจึงหลุดปากบอกให้เจ้าพ่อกุดซินมาบิดปากแม่ใหญ่หมาตุ้ยหน่อย  ปรากฏว่า 2-3 วันต่อมา แม่ใหญ่หมาตุ้ยก็ปากเบี้ยวจริง ๆ  และหลังจากที่ได้จัดพาหวานมาถวาย  (พาหวาน 4 คำ หมาก 2 คำ ยา 2 กอก)  แล้วมาอ่อนมายอมขอขมากับเจ้าพ่อกุดซิน  จึงทำให้แม่ใหญ่หมาตุ้ยหายจากอาการปากเบี้ยวใน 2-3 วันต่อมา  จากเหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกุดซินมากยิ่งขึ้นความเชื่อของชาวบ้านกับพื้นที่กุดซินที่ได้พบกับเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในสถานที่จริงเกี่ยวกับคน สัตว์ ในอดีตกว่า 50 ปี  เริ่มจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นคนป่วยหรือชาวบ้านจะไปดูหมอมอ  แล้ว หมอมอก็จะบอกว่า  เจ้าพ่อกุดซินมาเป็นผู้ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้นเสมอ ดังนั้นบทสรุปของชาวบ้านยังยืนยันว่า กุดซินมีเจ้าของรักษาอยู่  เพราะเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเอง หรือเกิดกับวัว ควายที่เทียมแอกเทียมเกวียนนั้น  วัวหาย  วัวควายล้มตายลง  แต่เมื่อมีการไปอ้อนวอนจากเจ้าพ่อกุดซินก็หายไปหรืออาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น  ในปัจจุบันชาวบ้านที่ทำนารอบ ๆ กุดซิน  ก่อนที่จะทำนาจะต้องจัดหาพาหวานมาถวายบอกเล่าก่อนทุกคน

เส้นทางของกุดซิน ในอดีต
สมัยก่อนยังไม่มีรถเข้าไปในกุดชินชาวบ้านจึงใช้การเดินเท้าเข้าไปหาอาหารในบริเวณกุดชิน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นยังเป็นป่ารกและเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์  ไม่มีเส้นถนนในการเดินทาง ชาวบ้านจะเข้าไปแถวบริเวณกุดชินได้ในเฉพาะหน้าแล้ง  ในช่วงหน้าหน้าฝนชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากแหล่งกุดชินไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมแหล่งธรรมชาติกุดชินและพื้นที่รอบข้าง  ถ้าจะเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติกุดชินจำเป็นต้องใช้เรือในการเดินทาง  พื้นที่กุดชินจะไม่นิยมใส่มองเนื่องจากถ้าใส่มองหรือถ้าทิ้งไว้มันจะติดงู  ท่านเล่าว่าถ้าใส่มองไม่ติดงูถึงสิบตัวไม่ต้องว่าเรียกว่ากุดซินซึ่งในพื้นที่กุดชินเป็นป่าที่รกมากจึงเป็นที่อยู่อาศัยของงูจำนวนมาก กุดชินจะขึ้นชื่อเรื่องปลาชะโด สมัยก่อนมีคนพบเห็นปลาชะโดตาโตเท่าไข่ไก่  ทำให้ชาวบ้านในสมัยนั้นไม่กล้าที่จะลงไปจับปลาในกุดชิน

การหาอาหารในแหล่งธรรมกุดซิน
พ่อต่วน พันธ์ฉลาด อายุ 51 ท่านบอกว่าในการดักจับปลาในกุดซินแต่ละชนิดจะมีวิธีที่ไม่แตกต่างกันมากนักการดักจับปลาชะโดในสมัยก่อนนั้น จะใช้วิธีการดักลอบแต่การดักลอบนั้นไม่ได้เพียงปลาชะโด อย่างเดียวบางทีอาจได้ เต่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสลิด ปลาหมอ ปลาจน  ปลาบู่ ที่มีขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สลับกันไป โดยจะดักตรงที่คิดว่าน่าจะเป็นทางผ่านของปลาที่จะไปหาอาหาร โดยการสังเกต น้ำจะมีระดับไม่ลึกนัก ระดับน้ำสูงประมาณครึ่งแข้ง หรือประมาณหัวเข่าเพราะปลาจะไม่ชอบหาอาหารในน้ำลึกแต่จะหาอาหารบริเวณชายฝั่ง และมีพืชเกิดเช่นพวกหญ้าผักบุ้ง ผักตบชวา เป็นต้นในการใส่ต้องใส่ซ่อนให้กลมกลืนกับพืชที่เกิดในบริเวณนั้น เพื่อปลาจะได้ไม่สังเกตเห็นลอบที่ไปดักไว้แต่อาจมีชาวบ้านบางคนที่เขามีปืนแก๊ปก็จะใช้วิธีการซุ้มบนต้นไม้ ตรงจุดที่ปลาทำรังวางไข่และขึ้นหายใจเมื่อปลาขึ้นมาหายใจก็ใช้ปืนแก๊ป ยิงแต่ก็มีไม่มากนักเพราะปืนแก๊ปผิดกฎหมายและผิดกฎกติกาที่ตั้งขึ้นมาโดยชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์แหล่งธรรมชาติกุดซิน ส่วนปลาชนิดอื่นๆนั้นก็จะใช้วิธีการ คล้ายๆกัน โดยการดักลอบบ้าง ใส่มองบ้าง ทอดแหบ้าง ใส่เบ็ดบ้าง แล้วแต่ฤดูการ และระดับน้ำในกุดซิน

พืชพรรณไม้ในพื้นที่กุดซินพรรณไม้ท้องถิ่นที่มีทั้งไม้ผลและไม้สมุนไพร เช่นเปลือยนา หูลิง ตึงทอง หมี่ ขนวน จาน เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารของนกและสัตว์อื่นๆในกุดซิน มีแมลงชนิดต่างๆที่เป็นอาหารของสัตว์สะเทินสะเทินน้ำ ที่มีจำนวนมากในพื้นที่กุดซิน  ประกอบกับพื้นที่ข้างเคียงกุดซินเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้ปลูกข้าวและปลูกพืชเศรษฐกิจพวกยูคาลิปตัส จำนวนไม่น้อย ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตในกุดซิน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ความเป็นเกรด-เบส  ความเค็ม การส่องสว่างของดวงอาทิตย์ที่ส่องสอดพื้นน้ำเพื่อให้พืชน้ำได้มีการสร้างอาหาร ตลอดจนเพิ่มปริมาณแร่ธาตุที่อยู่ในดินลดความเสื่อมโทรมของดิน  การเน่าเหม็นของน้ำที่เกิดจากใบไม้ที่ทับถมกันจำนวนมาก และสารแขวนลอยอื่นๆที่มีอยู่ในกุดซิน
เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
พรรณไม้ที่อยู่บนบกและพืชพรรณไม้ที่อยู่ในน้ำ มีดังนี้
1.กลุ่มพรรณไม้ที่อยู่บนบก ได้แก่ ก้านเหลือง ก่าม กุ่ม แก ชนวน ข่าลิ่น ข้าวกี่ ควยเสียก เครือซูด เครือตาปา เครือขี้หนอน แคน โคกกวง ไค่นุ่น เงี่ยงดุก หวาย หูลิง ฯลฯ
2.กลุ่มพรรณไม้ที่อยู่ในน้ำ ได้แก่ กูดง่อง กูดเขากวาง ขัดมอนน้ำ ขาเขียด ตับเต่า เทียนน้ำ ผักแว่น ผักตบชวาหญ้าลิเภา  ฯลฯ
ชนิดสัตว์บกและสัตว์น้ำในพื้นที่กุดซินเหล่าสัตว์ ที่มาอาศัยในพื้นที่กุดซินในอดีตนั้นมีมาก แต่ปัจจุบันสภาพภูมิประเทศถูกทำลายไปทำให้จำนวนชนิดมีน้อย นกที่พบในพื้นที่กุดซินมีทั้งนกที่หากินในเวลากลางวันและเวลากลางคืน ได้แก่ นกกระเต็นอกขาว นกเขาไฟ นกเขาใหญ่  นกเขาชวา นกกะปูดใหญ่ นกกาเหว่า นกยางกรอกพันธุ์จีน นกแขวก นกยางโทนน้อย นกยางเปีย กุดซินมีสัตว์เลื้อยคลานได้แก่ งูเห่า งูหลาม เต่าหับ เต่านา ปลามีหลายชนิด ได้แก่  ดุกเนื้ออ่อน กระดี่หม้อ หมอ สลิด ช่อน ชะโด กระสง ไหล กราย ตองกราย เป็นต้น

ชนิดสัตว์บกและสัตว์น้ำในพื้นที่กุดซิน
เหล่าสัตว์ ที่มาอาศัยในพื้นที่กุดซินในอดีตนั้นมีมาก แต่ปัจจุบันสภาพภูมิประเทศถูกทำลายไปทำให้จำนวนชนิดมีน้อย นกที่พบในพื้นที่กุดซินมีทั้งนกที่หากินในเวลากลางวันและเวลากลางคืน ได้แก่นกกระเต็นอกขาว นกเขาไฟ นกเขาใหญ่  นกเขาชวา นกกะปูดใหญ่ นกกาเหว่า นกยางกรอกพันธุ์จีน นกแขวก นกยางโทนน้อย นกยางเปีย กุดซินมีสัตว์เลื้อยคลานได้แก่ งูเห่า งูหลาม เต่าหับ เต่านา ปลามีหลายชนิด ได้แก่  ดุกเนื้ออ่อน กระดี่หม้อ หมอ สลิด ช่อน ชะโด กระสง ไหล กราย ตองกราย เป็นต้น

ความหลากหลายด้านพันธุ์ปลาในพื้นที่กุดซิน
การเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่กุดซินจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เกิดพืชพรรณไม้และการสะสมตะกอนของวัชพืชและการทับถมของพืชพรรณไม้ที่ขึ้นในกุดซิน  ทำให้พื้นที่กุดซินมีความสามารถที่จะทนต่อการถูกไฟไหม้ในช่วงฤดูแล้ง  และเนื่องจากกุดซินเป็นร่องน้ำมูลเดิม ทำให้มีสภาพพื้นที่ด้านล่างของป่ากุดซินมีลักษณะเป็นวัง หรือแอ่งน้ำอยู่ทั่วไป  เป็นเหตุให้เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ มากมาย  เช่น ชะโด ปลาดุก ปลาช่อน ปลากระสง ปลาสลิด เป็นต้น  สภาพแวดล้อมพื้นที่กุดซินเหมาะในการดำรงชีวิตของปลาและสามารถรอเวลาที่ออกมาขยายพันธุ์และวางไข่ในช่วงฤดูฝนได้  ปัจจุบันนับว่าโชคดีของพันธุ์ปลา  เนื่องจากชาวบ้านได้ทำทำนบดินกั้นน้ำไว้  ทำให้พันธุ์ปลาต่าง ๆ สามารถวางไข่และขยายพันธุ์ได้ทันทีเมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสม

สาเหตุและปัจจัยการสร้างถนนโดยรอบแหล่งธรรมชาติกุดซิน   คนที่ทำถนนเขาไม่สนใจกับการที่ธรรมชาติเสียหายวัตถุประสงค์ของชาวบ้านจริง ๆ ไม่ได้ต้องการให้ทำถนนโดยรอบ แค่ต้องการทำเป็นทางจักรยานหรือทางคนเดินเฉย ๆ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคือการที่เขาต้องการใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาต้องการใช้งบประมาณให้ได้มากที่สุด เขาก็เลยทำเป็นถนนใหญ่ สิ่งที่หายไปคือ ส่วนมากเป็นป่าบุ่งป่าทามและพรรณไม้ต่างๆ ที่มีในกุดซินได้หายไปเช่น มะดัน ก่อไผ่ หน่อไม้ ต้นหวาย และอีกหลายอย่างพวกนี้ที่อยู่โดยรอบของกุดซินก็ได้หายไป สุบิน*เล่าต่อว่า ถนนโดยรอบที่เขาก่อสร้าง ถ้าเขาทำเหมือนอย่างแต่ก่อน เหมือนอุดมการณ์ของ (ค.ช.ม )คือ เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูล ที่เขาให้งบประมาณมาพัฒนา คือชาวบ้านเสนอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพียงต้องการให้ทำถนนคนดินหรือทำแค่ทางจักรยานเท่านั้น แต่ในการทำครั้งนี้เปลี่ยนเพราะมีการทำถนนรอบกุดซิน กระแสการทำนาปรังก็เข้ามาทำให้น้ำในกุดซินแห้งขอด ปลาก็ไม่มีที่จะอยู่ ส่วนมากก็จะอยู่ตามรากไม้ โคนไม้ แต่แล้วก็ยังมีพวกมือดีเอาไฟลงไปช็อตปลา สิ่งที่หายไปตอนนี้คือ ต้นหวาย  พอน้ำลดคนสามารถเดินทางเข้าไปในกุดซินได้  ต้นหวายก็เริ่มหมดไปหายไป นี่คือการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนกุดซินดังมากคนที่มาจากที่อื่นเขาก็รู้จักกุดซิน  แต่ตอนนี้กุดซินกำลังจะกลายเป็นแค่ความทรงจำ  จากที่กุดซินมีทรัพยากรป่าไม้ พวกของป่า อาหารป่ามากมายก็ได้เริ่มหายไปพร้อมกับการสร้างถนนโดยรอบกุดซิน
สาเหตุและปัจจัยการบุกรุกพื้นที่ของแหล่งธรรมชาติกุดซิน สุบิน*บอกว่า การบุกรุกพื้นที่กุดซินจริง ๆ แล้วไม่มี จะมีก็แต่เพียงการพัฒนาที่ไม่แคร์ความรู้สึกของธรรมชาติ
             สาเหตุและปัจจัยการปล่อยสารเคมี  เรื่องของการทำนาปรัง หอยเยอะต้องใช้ยาหรือสารเคมีในการฆ่าหอย สารเคมีที่เกิดจาการฆ่าหอยจะตกค้างอยู่ในท้องนา เวลาฝนตกมาน้ำสารเคมีก็จะไหลลงไปในกุดซิน
ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งธรรมชาติกุดซิน
ผลกระทบทางสภาพแวดล้อม  ผลกระทบทางสภาพแวดล้อมคือจากการสร้างถนนโดยรอบกุดซิน พวกต้นหัวลิง ไผ่ มะดัน เครือเถาวัลย์ พืชพรรณธรรมชาติต่าง ๆ แทบจะไม่มีเหลือ พวกต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ กุดซิน  ต้นไม้ที่อยู่ริมตลิ่งก็ถูกขุดขึ้นมา แต่กุดซินจะเปลี่ยนไปไหมอีกนัยก็คือ ถ้าทำถนนโดยรอบแล้วไม่มีใครบุกรุกหรือห้ามไม่ให้ทำได้เคารพในกฎระเบียบ อีกไม่นานกุดซินก็คงจะกลับคืนมา แต่จะกลับคืนมาไม่เหมือนเดิมเหมือนครั้งที่ยังไม่ได้สร้างถนนรอบกุดซิน แต่ก็จะมีพืชที่ไม่พึงประสงค์ ตามมาด้วย เช่น ต้นไมยลาบ หญ้าเศรษฐี ก็จะเข้ามาแทนที่เพราะน้ำมันแห้งตลอด ถ้าจะให้กุดซินอยู่เหมือนเดิมก็คือ อากาศโดยรอบกุดซินจะเย็นตลอดหน้าร้อนอากาศก็เย็นน้ำในกุดซินจะเย็นตลอดสูบน้ำมาทำนาข้าวก็จะงาม แต่ตอนนี้น้ำ พืชในกุดซินจะเปลี่ยนใบในฤดูฝน ใบไม้ต่าง ๆ จะร่วงหลนลงน้ำ พอน้ำขังใบไม้ก็จะกลายเป็นปุ๋ยเป็นจุลินทรีย์จะทำให้น้ำมีสารอาหารมาก พืชในกุดซินหรือรอบ ๆ กุดซินก็จะดูดเอาน้ำที่มีสารอาหารนี้ไปใช้ด้วย เวลาสูบน้ำมาใส่ข้าว มาทำนา ข้าวก็จะงาม แต่ตอนนี้น้ำแห้งตลอด เวลาที่ใบไม้ร่วงหลนลงไปก็ไม่เกิดอะไร พอหมดฤดูฝน ชาวบ้านก็สูบน้ำไปใช้แล้ว ใบไม้ก็ไม่มีเวลาย่อยสลาย และกุดซินจะตื้นเขินขึ้นทุกปี
ผลกระทบด้านเศรษฐกิ จากที่หาของป่าได้ชาวบ้านก็หาของป่าไม่ค่อยได้ อาหารที่อยู่ในป่าก็หายไปอย่างเช่น เห็ด พืชผักต่างๆ ปลาก็ลดน้อยลง สมุนไพรก็หายไป ทำให้สงผลกระทบต่อชาวบ้านที่ไปหาของป่ามาขาย   
ผลกระทบด้านสังคม สุบิน*เล่าว่า ในเรื่องของสังคมก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน คนก็ยังเคารพในกุดซินเหมือนเดิม เคารพกฎของกุดซิน ก็ยังใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายหมู่บ้าน ที่เข้าไปทำนาปรัง และเข้าไปหากินในกุดซินก็เพิ่มมากขึ้น คนก็จะมามากขึ้นเพราะน้ำในกุดซินน้อย ปลาก็เยอะ คนก็ชอบเข้ามาหาประโยชน์ในกุดซิน
ข้อเสนอแนะ  การพัฒนา สิ่งแรกเราต้องมองให้รอบด้านในงานวิจัยชาวบ้านก็สนับสนุนเต็มที่ เป็นการต่อยอดเราก็ได้รู้ว่าบริบทพื้นที่กุดซินเป็นยังไง ตั้งแต่แรกที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาถึงช่วงกลางและช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงคือช่วงปลาย และพอเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูลให้งบประมาณมาพัฒนากุดซินที่เป็นแหล่งที่ศึกษาหาความรู้ ทำเป็นที่ท่องเที่ยวดูนกดูธรรมชาติที่สวยงามทำให้คนรู้จักกุดซินเพิ่มมากขึ้นทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ แต่ที่สุดแล้วความเจริญของกุดซินกลายเป็นกิเลส กิเลสหมายความว่าคือการพัฒนาที่ไม่ได้มองถึงธรรมชาติไม่ได้มองถึงความสูญเสีย มองแต่รายได้ คือเดี๋ยวนี้การพัฒนาเขาจะมองเศรษฐกิจเป็นหลักการพัฒนาเราต้องมองภาพรวมคือเศรษฐกิจดีขึ้น แต่สิ่งที่มันหายไปคืออะไรเราต้องรู้ด้วยคิดตามมองให้ออกการพัฒนาได้อย่างอื่นขึ้นมาทดแทนแต่สิ่งที่มันหายไปละกว่ามันจะฟื้นกลับคืนมาอีกเป็นสิบปี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ