เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ในระดับของสังคม จักรยานคือยานพาหนะที่รบกวนโลกน้อยที่สุด เป็นยานพาหนะที่เรียกร้องจากเราน้อยที่สุด นั่นคือ ไม่ต้องการทั้ง ‘พลังงาน’ อย่างน้ำมัน หรือไฟฟ้า แต่ตอบสนองตามเรี่ยวแรงของเจ้าของจักรยาน
หรืออีกนัยหนึ่งมันคือ ‘ยานวัตถุ’ ที่เลื่อนไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราประหนึ่งเป็นอวัยวะของเราเอง…
จักรยาน เมือง วัฒนธรรม : คำ ผกา มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 พฤษภาคม 2558
การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
“การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ” เป็นประโยคที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก และแต่ไหนแต่ไรมาเข้าใจเพียงว่านั่นคือการไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ความเข้าใจจบลงแค่ไหน กระทั่งเติบโต ทำงาน เข้าสู่ระบบประกันสังคม เมื่อไม่สบายก็ใช้สิทธิรักษาของผู้ป่วยในประกันสังคม รับยากลับบ้าน และดูแลตัวเองดี ๆ
นานหลายปีนับจากนั้น กว่าจะเข้าใจว่าการไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนั้นเชื่อมโยงอย่างชิดใกล้กับการดูแลตัวเองดี ๆ อย่างที่มักได้ยินจากปากคนในครอบครัว กระทั่งคนสำคัญในชีวิตในท่วงทำนองของถ้อยคำแสดงความห่วงใย แต่ไม่เคยใส่ใจมาใคร่ครวญมากพอว่าการดูแลตัวเองดี ๆ นั้นมีมากกว่าแค่ถ้อยคำแสดงความห่วงใย
การดูแลตัวเองดี ๆ อาจหมายถึงการดูแลตัวเองให้ปลอดจากโรคภัยต่าง ๆ อาจหมายถึงการเอาใจใส่ร่างกายของตัวเองในทุก ๆ ด้าน ในแต่ละวัน หากแต่ว่าไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกายภายนอกเท่านั้น การดูแลตัวเองดี ๆ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว คือการดูแลไปถึงสุขภาพด้านในที่ไม่อาจมองเห็นด้วยสายตาจากภายนอก แต่ต้องใช้บางสิ่งที่มากกว่านั้น
บางสิ่งที่เป็นมากกว่าคำวินิจฉัยทางการแพทย์
บางสิ่งที่ต้องใช้หัวใจในการมองเห็น
จริงอยู่ที่เรื่องทำนองนี้ไม่ยากต่อการเข้าใจ และเราต่างเข้าใจ ‘นามธรรม’ ของการมองให้ซึ้งผ่านสภาพภายนอกไปสู่ภายในกันทั้งนั้นอยู่แล้ว หากทว่าการแสดงให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ อาจจำเป็นต้องใช้มากกว่าความเข้าใจ กล่าวให้ชัดกว่านั้น ความหมายในการดูแลตัวเองดี ๆ ที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลสภาพจิตใจด้วยนั้น อาจจับต้องได้ หากได้ลงไปสัมผัส
จากเมืองเล็ก ๆ ในหุบเขาเมืองหนึ่ง เมืองเล็ก ๆ ที่สภาพอากาศทั้งบรรยากาศและผู้คนได้รับการพยายามออกแบบให้เป็นเมืองที่อยู่ภายใต้คำว่า All for Health ผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านการออกแบบสิ่งแวดล้อม และผ่านพาหนะที่จำเป็นต้องใช้ ‘ใจ’ และ ‘กาย’ ในการสัมผัสเข้าถึง พาหนะ 2 ล้ออาศัยแรงถีบหรือ ‘ปั่น’ เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย เมืองที่ได้รับการกล่าวขานให้เป็น ‘เมืองแห่งจักรยาน’ จักรยานที่เริ่มต้นจากนายแพทย์คนหนึ่งซึ่งใช้เพื่อเชื่อมโยงกลับไปยังพื้นฐานของการดำรงอยู่ของชีวิต
พื้นฐานของชีวิตที่เริ่มต้นจากการดูแลตัวเองดี ๆ เพื่อให้ทุก ๆ วันปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ
พื้นฐานของชีวิตที่เริ่มต้นจากจักรยานหนึ่งคันของคู่รักแพทย์หนุ่มและแพทย์สาวที่ปักหลักชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้
พื้นฐานของชีวิตที่เริ่มต้นจากคำขวัญ ณ ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี
พื้นฐานของชีวิตที่เริ่มต้นจากที่นี่… ด่านซ้าย
อาจเป็นเพราะเหตุนั้น หรือเหตุอื่นสุดรู้ได้ (ใคร ๆ ก็ว่าชีวิตเป็นเรื่องของการทอยลูกเต๋าโดยมีเหตุผลและความรู้สึกเป็นเดิมพัน) ข้าพเจ้าจึงได้ติดตามคณะทำงานของ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข มายังอำเภอเล็ก ๆ ท่ามกลางขุนเขาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนองค์กรต้นแบบ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘งาน ชีวิต และความเป็นมนุษย์ : กระบวนการท้องถิ่นวัฒนาที่ด่านซ้าย และบริการสุขภาพที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centered Healthcare)’ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะเข้าใจได้ อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปไกลสักเล็กน้อย ไม่มากไม่มาย แค่ไม่กี่ร้อยปี เพื่อเข้าใจรอยทางของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกระบวนท้องถิ่นวัฒนา
อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปยังสมัยอาณาจักรล้านช้างในยุคสมัยของพ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ตำนานกล่าวว่าในอดีตนั้น พ่อขุนบางกลางหาวพาไพร่พลอพยพมาตามลุ่มน้ำหมันจนมาถึง ‘บ้านด่านขวา’ ในเขตรอยต่อระหว่างบ้านนาเบี้ยกับบ้านหัวนาแหลมในปัจจุบัน ส่วนพ่อขุนผาเมืองอพยพเลาะเลียบลำน้ำหมันอีกฝั่งฟากหนึ่ง ก่อนก่อตั้ง ‘บ้านด่านซ้าย’ และกลายเป็นที่มาของชื่ออำเภอด่านซ้าย แต่บางตำนานเช่นกัน ระบุข้อมูลว่าอำเภอด่านซ้ายนั้นเพี้ยนมาจากคำว่า ‘ด่านช้าง’
ไม่ว่าที่มาของคำว่าด่านซ้ายจะเริ่มต้นจากอะไร แต่ชาวด่านซ้ายรู้ดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับอาณาจักรล้านช้างในสมัยของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชนั้นเริ่มต้นและมีสักขีพยานแน่นอนแห่งสัมพันธภาพ คือ องค์พระธาตุศรีสองรัก ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตรวมใจของชาวด่านซ้ายมาตั้งแต่อดีต และยังคงดำรงอยู่ในหัวใจของชาวด่านซ้ายในปัจจุบัน
“…คนสมัยก่อนมาพระธาตุ มาทำอะไร ถ้าให้ผมตอบ มาเอาพลังกลับไป พระธาตุทำหน้าที่สองอย่างที่สำคัญเท่านั้น อันที่หนึ่ง ท่านมีหน้าที่ให้กำลังใจ คนเฒ่าคนแก่ คนเจ็บคนป่วย ให้มีแฮง สมัยก่อนไม่มีอะไรเลยครับ แค่ขอให้มีแฮง กลับไปทำนา อย่าได้ซุ่มซ่าม ตกรถตกเรือ อย่าได้เจ็บป่วย หน้าที่ของพระธาตุโคตรจะบูรณาการเลย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่แปลกใจเลยเมื่อถึงงานสักการะพระธาตุศรีสองรักเนี่ย เราจะพบคนเฒ่าคนแก่มาไหว้พระธาตุ มาเอากำลังใจ อันที่สอง สิ่งที่พระธาตุทำคือช่วยตามหาของหายครับ สมัยก่อนอะไรหาย? วัวควาย แค่นั้นเองครับสำหรับชาวบ้าน มันไม่มีอย่างอื่นเลย…”
นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกล่าว ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเสวนาในบรรยากาศหลังฝนพรำเบื้องหน้าทางขึ้นพระธาตุศรีสองรัก ความหมายและนัยยะขององค์พระธาตุที่หากมองเพียงผิวเผินจะสัมผัสได้เพียงบรรยากาศอันเงียบสงบในกลิ่นบรรยากาศที่เก่าแก่ แต่หากมองลึกลงไปในร่องรอยของแผ่นหินและก้อนอิฐแต่ละก้อน ถ้อยคำยาวๆ ข้างต้นของนายแพทย์ภักดี หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า หมอจิ๋ว นั้น กลับแฝงฝังและขับเน้นความหมายให้เป็นยิ่งกว่าแค่พระธาตุที่ถวายเป็นพุทธบูชาอันเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวด่านซ้ายพระธาตุหนึ่ง
ความหมายที่หมอจิ๋วต้องลงไปศึกษาและเรียนรู้จากมุมมองของชาวบ้านเพื่อเข้าใจ เพื่อเข้าถึง และนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ในวางระบบสาธารณสุขในอำเภอด่านซ้ายที่ไม่อาจแยกขาดระหว่างชาวบ้าน-ความเชื่อ-การแพทย์
“…ชาวบ้านเขาภูมิใจ ที่ผ่านมาคือเขาก็กลัวหมออยู่แล้วใช่ไหมครับ ตอนนี้ คือหมอชื่นชมสิ่งที่เขาเป็นอยู่ หมอศรัทธาสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขามี ทีนี้พอหมอจะปรับเปลี่ยนอะไรเขาก็เอากับเขา แต่ถ้าเราเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เขาก็จะทำเหมือนถูกบังคับ แต่ตอนนี้หมอเหมือนทำตามเขา…”
เช่นเดียวกันกับนายแพทย์โกมาตรที่ให้ความหมายของการทำงานที่เชื่อมโยงตัวเองกับสภาพแวดล้อมไว้อย่างขบคิดไว้ว่า
“…ทีนี้ในสังคมสมัยใหม่ มันเน้นชีวิตแบบสำเร็จรูป การเรียนสำเร็จรูป วิธีคิดสำเร็จรูป ประเมินผลสำเร็จรูป พอมีชีวิตสำเร็จรูปแบบนี้ การเรียนรู้ก็น้อยไม่เกิดผลใดๆ ต่อชีวิต ไม่มีเหตุผลที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม เคยเรียนรู้แบบไหนมาก็เรียนรู้แบบเดิมไปเรื่อยๆ”
ลองคิดเล่น ๆ หากหมอจิ๋วไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หากหมอจิ๋วไม่เคารพในศรัทธาของชาวด่านซ้ายด้วยมุมมองของพวกเขา แทนมุมมองของคุณหมอเอง หากหมอจิ๋วมีโลกทัศน์แค่เพียงในกรอบจิ๋ว ๆ ของตัวเอง
น่าคิดใช่ไหม? ว่าถ้าเช่นนั้น อำเภอด่านซ้ายจะกลายเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมจักรยานได้อย่างไร
น่าคิดใช่ไหม? ว่าในท้ายที่สุดแล้ว อำเภอด่านซ้ายจะมีคำตอบให้กับผู้คนในด่านซ้ายได้อย่างไรว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใด?
เพื่อจะฉายภาพให้เห็นชัด นายแพทย์ภักดีแบ่งกลุ่มเรียนรู้เพื่อเข้าใจภาพรวมของระบบสาธารณสุขในอำเภอด่านซ้ายเป็น 7 ฐานการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์สามประเด็นภายใต้แนวคิด ‘งานสร้างแรงบันดาลใจ’
ฐานเรียนรู้ทั้ง 7 อาจมีเป้าหมายแตกต่างกันในแต่ละฐาน แต่ทั้งหมดต่างตอบโจทย์ของการมีชีวิตเพื่อเติมเต็มศักยภาพความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากบุคลากรในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ภายใต้การนำของนายแพทย์ภักดีไม่เติบโตทางด้านจิตวิญญาณเพื่อมองเห็นคนไข้ให้เป็นมากกว่า ‘คนป่วย’ ให้เป็นมากกว่าผู้ที่เดินเข้ามาในโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาแล้วกลับออกไป โดยไม่มีการสานต่อให้พวกเขาและญาติพี่น้องเข้าใจการเกิดของโรค เข้าใจสภาวะสุ่มเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ที่ไม่เพียงส่งผลต่อตัวพวกเขาเอง ยังส่งผลต่อครอบครัวและคนใกล้ชิด
ไม่แต่เพียง 7 ฐานการเรียนรู้เท่านั้น นายแพทย์ภักดียังมีแนวคิดในการออกแบบสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา โดยคำว่าเยียวยาไม่ได้จำกัดความแค่เพียงผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเท่านั้น ยังรวมไปถึงบุคลากรในโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องเยียวยาสภาวะด้านในที่ไม่อาจมองเห็นด้วยสายตาภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้ชาวอำเภอด่านซ้ายร่วมกันบริจาคเพื่อสร้างอาคารสำหรับผู้มีครรภ์ด้วยการมอบกระปุกออมสินให้ครัวเรือนละหนึ่งกระปุก การลงทุนสร้างสระว่ายน้ำเพื่อฝึกหัดให้เยาวชนที่เป็นลูกหลานของบุคลากรในโรงพยาบาลหัดว่ายน้ำ การมีระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงพยาบาลเพื่อปล่อยคืน ‘น้ำดี’ สู่ลำรางสาธารณะภายนอก การจัดกิจกรรมเพื่อเยาวชนหลังห้อง เยาวชนที่ขาดการเหลียวแลจากผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยปัญหาที่หากพิจารณาเพียงผิวเผินอาจทำให้มองข้ามรากฐานที่ดีของสังคมนั้นๆ ไปในที่สุด
ไปจนถึงการใส่ใจสภาพความเป็นอยู่ของบุคลากรในระดับล่างของโรงพยาบาล ทั้งเจ้าหน้าที่ซักผ้า เจ้าหน้าที่ในห้องครัว ตลอดจนถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ประจำอยู่ในป้อมยามหน้าประตูทางเข้าโรงพยาบาล
“…ผมจะพูดเสมอว่าด่านซ้ายที่เราเห็นกันได้ทุกวันนี้ เกิดจากสิ่งแวดล้อมและการรับรู้ขององค์กร ซึ่งทำให้ผมต้องทบทวนความรู้ของผมตลอด นั่นเพราะ Contract care value ไม่เพียงพอต่อความยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว จะต้องมี Humanize Healthy…”
Humanize Healthy หรือ การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์อาจเป็นคำตอบของการทำงานในระบบที่ข้องเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นพิเศษกว่างานอื่นๆ กระนั้น ใช่ว่าการทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ไม่อาจปรับใช้ไปสู่ระบบงานในองค์กรอื่นได้ ดั่งที่นายแพทย์โกมาตรได้ให้แนวทางไว้
“…การอยู่ในระบบงานเก่า คืองานมาแบบไหนเราก็ทำไปแบบนั้น เปรียบไปเหมือนเราอยู่ในระบบสายพานการผลิต ทุกอย่างมาตามสูตรไปตามสูตร อันนี้เป็นระบบที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นระบบที่ทำไปทำมา เรากลายเป็นเครื่องจักรเครื่องกล ไร้ความรู้สึก พอคนทำงานไม่มีความรู้สึกต่องานที่ทำ เรียกว่าทำแบบหุ่นยนต์ ชาวบ้านทุกข์ร้อนมา มีความทุกข์มาไม่รู้สึก อันนี้ก็จบแล้ว เพื่อนร่วมงานทุกข์ร้อนมา รู้สึกว่าเขาเหนื่อยไหม? ไม่รู้สึกก็จบแล้ว งานในความหมายของงานบันดาลใจ เราต้องเห็นมากกว่าแค่การเติบโตงอกงามในด้านการงาน ต้องเห็นความเบิกบานในชีวิตด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมาย…”
กระบวนการท้องถิ่นวัฒนา
เสียงน้ำจ๊อก ๆ จากการหมุนของกังหันขนาดใหญ่ที่ทดน้ำจากลำน้ำหมันขึ้นสู่รางท่อไม้ไผ่ หรือ ‘ฮางริน’ ในภาษาท้องถิ่น เพื่อลำเลียงน้ำเข้าสู่นาที่อยู่ไกลห่างออกไปนับกิโลเมตร คือกังหันทดน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของคนด่านซ้ายที่นายแพทย์ภักดีพยายามอนุรักษ์ร่วมกับชาวบ้านในแต่ละตำบลตลอดแนวลุ่มน้ำหมัน ภายหลังช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อทางองค์การบริหารส่วนตำบลด่านซ้ายมีมติให้รื้อทำลายพัดน้ำ จากที่เคยมีนับร้อยๆ หลัง หลงเหลือในปัจจุบันเพียง 30 หลัง ด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วมในหมู่ชาวบ้าน ภายใต้แนวคิดที่ยึดโยงกับท้องถิ่นเช่นเดียวกับลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อรับฟังพวกเขา มองปัญหาต่างๆ ด้วยสายตาของพวกเขา หาใช่สายตาของคนเป็นหมอที่ส่วนมากแล้วชาวบ้านมักกริ่งเกรงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วมนั้น อนาคตที่หมอจิ๋ววาดหวังที่จะเห็นคือจำนวนพัดน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างช่างทำพัดน้ำรุ่นใหม่ขึ้นทดแทนคนรุ่นเดิมที่นับวันชราลงไปทุกที และในการมองเห็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับกระบวนการท้องถิ่นวัฒนานี้นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากนายแพทย์ภัคดีขาดไร้ซึ่งหลักคิดในการมองคนไข้ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ มองไม่เห็นเบื้องหลังความแก่ชรานั้นมีภูมิปัญญาใดซ่อนไว้อยู่บ้าง
“…ผมมาได้คำตอบว่าความสุขอย่างมากจากการทำงานโรงพยาบาลแห่งนี้คือผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่เจอหน้าแล้วมีความสุขมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะคิดถึงพ่อแม่ของเราเองซึ่งท่านไม่ได้อยู่ที่นี่ และอีกอย่างคือท่านชอบเรียกเราว่าลูก แล้วผมก็รู้สึกดีใจมากๆ เลยที่ผู้สูงอายุบอกว่าผมหน้าเหมือนลูกเขา ตัวดำ ๆ แบบนี้ เหมือนลูกเขาหมดทั้งหมู่บ้านเลย…”
ทั้งพัดน้ำ พระธาตุศรีสองรัก ล้วนเป็นวัตถุไร้ชีวิตที่เป็นมากกว่าการให้คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์และการอนุรักษ์ กระทั่งรวมไปถึงการท่องเที่ยวในลักษณะของ Unseen Thailand หากมองผ่านอิฐแต่ละก้อนที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระธาตุ หากมองผ่านไม้แต่ละชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็น ‘ฮางน้ำ’ ‘ฮางริน’ ‘ฮ่อมพัด’ และ ‘หล่วยพัด’ เพื่อขึ้นรูปเป็น ‘พัดน้ำ’ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านั้นคือวิถีชีวิต คือวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งลำพังเพียงนายแพทย์คนหนึ่งหรือจะสู้กระแสธารของความเปลี่ยนแปลงที่ไหลหลากไปทุกพื้นที่ หากไม่มีการร่วมแรงร่วมใจ
“…เพราะฉะนั้น กระบวนการท้องถิ่นวัฒนา จึงเป็นเรื่องที่หันมาสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์กับชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยจะรู้ด้วย วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการองค์ความรู้ขึ้นมาเป็นรูปธรรม จากด้านซ้ายที่เราเห็นเพียงแค่เจ็ดพันตารางกิโลเมตร เห็นกำนัน เห็นผู้ใหญ่ เห็นอะไรอีกเยอะแยะมากมายที่นึกไม่ถึง…”
จักรยานแทนสุขภาพ
“…เราซื้อจักรยานคันนี้ในปีที่ผมกับภรรยาแต่งงานกัน ซึ่งเราพบว่าแหวนเพชรมันทำอะไรไม่ได้ และเราก็คิดว่าเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองที่น่าขี่จักรยานมาก…”
เข้าวันสุดท้ายก่อนลาจาก คำกล่าวหนึ่งในหลายประโยคของนายแพทย์ภักดีจับใจแต่เมื่อแรกได้ยิน และฝังอยู่ในความรู้สึก กระทั่งถึงนาทีนี้ ด้วยความรู้สึกที่นึกย้อนตามวันเวลากลับไปยังอดีตของชายหนุ่มกับหญิงสาวคู่หนึ่งที่เลือกจักรยานหนึ่งคันแทนแหวนแทนใจเพื่อไปปักหลักในเมืองที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจด้วยซ้ำในตอนนั้น ทั้งสองจะรู้ไหมว่าพวกเขาได้กลายเป็นผู้วางรากฐานของการเป็นเมืองจักรยานของอำเภอด่านซ้ายอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
ในบทความ จักรยาน เมือง วัฒนธรรม ของ คำ ผกา ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ประจำสัปดาห์ 8-14 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้แสดงทัศนะไว้ว่า กรอบความคิดของการเป็นเมืองจักรยานสักเมืองเช่นที่อัมสเตอร์ดัมเป็น เหมือนที่ญี่ปุ่นเป็นนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้แค่เพียงการตีเส้น เขียนเลนจักรยาน หรือจัดที่จอดตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถนำไป ‘เช่า’ ขี่ได้แล้วจบ
หวนกลับมาที่ด่านซ้าย นายแพทย์ภักดีกล่าวไว้ว่า วัฒนธรรมจักรยานนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงไปสัมผัส หรือใช้ Sensing ด้วยการลองปั่นแล้วจึงรู้ว่าคุณเหมาะหรือไม่เหมาะกับจักรยาน ยังไม่ต้องข้ามไปถึงจักรยานประเภทไหน และแบบใดที่เหมาะกับคุณ เอาแค่นี้ ลองปั่นแล้วคุณจะได้คำตอบว่าคุณชอบไหมกับการพาตัวเองไปพาหนะที่มีเพียง 2 ล้อ ไร้เครื่องยนต์ และแรงกายแรงใจเพื่อหาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย
วัฒนธรรมจักรยานคือการใช้ชีวิตอยู่กับจักรยาน และต้องมีความสุขกับการปั่นจักรยาน หากไม่มีแล้ว การปั่นจักรยานก็ไร้ความหมาย ให้สร้างหรือออกแบบเมืองที่เหมาะสมกับจักรยานเพียงไร หากไม่พาตัวเองขึ้นไปนั่งคร่อมอาน คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าความสุขจากการได้ออกแรงปั่นนั้นเป็นเช่นไร
แน่นอนว่านิเวศวิทยาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามในการออกแบบเมืองจักรยานขึ้นมาสักเมือง และอำเภอด่านซ้ายก็เหมาะสมด้วยหลายๆ ประการ ทั้งสภาพอากาศ สภาพภูมิทัศน์ ด้วยเนิน และทางเรียบ และวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องใช้จักรยานเท่านั้นเพื่อพาตัวเองเข้าไปสัมผัส อาจเป็นข้อสังเกตที่เกินเลยจากข้อเท็จจริง แต่เป็นไปได้ใช่ไหม ทั้งหมดทั้งมวลของกระบวนออกแบบระบบสาธารณสุขในด่านซ้ายอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ถ้าในวันแต่งงาน นายแพทย์ภักดีไม่เลือกจักรยานคันนั้นแทนแหวนหนึ่งวง
ทั้งหมดทั้งมวลของการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาทั้งตัวผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายอาจไม่เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน หากด้วยการลงไปสัมผัสของนายแพทย์คนหนึ่งนั้นไม่ผ่านกระบวนการคิดเพื่อเปลี่ยนแปลง ไม่ผ่านการใคร่ครวญถึงรากเหง้าของปัญหา และไม่มองข้ามพื้นฐานของทุกๆ สิ่ง ล้วนเกิดขึ้นจากการมองมนุษย์ด้วยหัวใจที่เคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งและกัน
ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อกลับไปสู่การตอบโจทย์ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต
‘การดูแลตัวเองดีๆ’ อาจเป็นประโยคง่ายๆ และเราก็เอ่ยออกไปอย่างติดปากในการบอกลาใครสักคน ในการบอกกล่าวแทนความห่วงใย หากแต่บ่อยครั้ง ความหมายที่ลึกซึ้งของการดูแลตัวเองดีๆ อาจเป็นแค่การได้ลองปั่นจักรยานในเมืองที่ปกคลุมด้วยไอหมอกใต้เงื้อมเงาของขุนเขา พาตัวเองไปสูดกลิ่นหญ้า กลิ่นทุ่งนา สัมผัสลมที่ปะทะใบหน้า รู้สึกถึงเหงื่อที่ชื้นเปียกแผ่นหลัง สัมผัสถึงความสุข และเข้าถึงหัวใจของจักรยาน เช่นที่นายแพทย์ภักดีได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในวันสุดท้ายก่อนลาจาก
“…สุดท้าย เรื่องของจักรยานคือเรื่องสุขภาพครับ สุขภาพเราทำยังไง ที่โรงพยาบาลด่านซ้าย เราเริ่มต้นอย่างนี้ คุณมั่นใจว่าจะขี่จักรยาน คุณมั่นใจว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของ ไม่ว่ายังไงเราต้องเชื่อมโยงกลับไปยัง All for Health ให้ได้ เพื่อจะอธิบายให้ได้ว่าเรากำลังทำเรื่องอะไร สิ่งที่เราทำ ต้องตอบตัวเองให้ได้ สำหรับผมคือการเริ่มต้นจากคนใกล้ตัว จากคนที่เรารัก เริ่มเท่านี้พอ เราไม่ต้องคิดเปลี่ยนแปลงตำบลหรืออำเภอของเราเลย เริ่มจากตัวเอง นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผม และก็เผยแพร่สิ่งที่เราได้รับ…”
อาจเป็นทั้งเรื่องยากและง่ายในเวลาเดียวกันในการเริ่มต้น แม้เป็นการเริ่มต้นจากตัวเราเองก็ตาม กระนั้น การได้มาเยือนด่านซ้ายในระยะเวลาสั้นๆ กลับทำให้ข้าพเจ้ามีเหตุผลที่จะฝังความรู้สึกไว้ที่นั่นจนกลายเป็นความทรงจำให้หวนระลึกถึงคุณค่าและความหมายบางประการ ที่บางครั้งได้ทำตกหล่นไปในจำนวนวันเวลาของการใช้ชีวิตประสาคนเมือง
คุณค่าและความหมายของการมีชีวิตที่ดีที่ไม่ได้มองเพียงแค่ตัวเราลำพัง หากแต่ต้องเชื่อมโยงตัวเองกับวิถีชีวิตชุมชนที่ครอบคลุมตั้งแต่ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ และโบราณวัตถุที่มีคุณค่าต่อจิตใจเพื่อมองให้เห็นสิ่งซึ่งอยู่เบื้องหลัง นั่นคือความเป็นมนุษย์
“…ทั้งหมดคือเหตุผลที่เรามาด่านซ้ายนี่ เรามาดูรูปธรรม เราเห็นแต่ในตำรา แต่พูดไปไม่มีตัวอย่าง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีจริง มันมีแต่ในตำรา วันนี้เราก็เลยได้รู้แล้วว่ามันทำได้ มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ”
คงจริงอย่างที่สุด กับคำพูดประโยคนี้ของนายแพทย์โกมาตร ในฐานะผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพฯ เราอาจเข้าใจ ‘นามธรรม’ ได้ แต่ไม่อาจเข้าถึงถ้าไม่ได้สัมผัส ‘รูปธรรม’ ที่ถูกแปรความหมายให้ปรากฏจับต้องได้
รูปธรรมที่คุณต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง เมืองเล็กๆ ในอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย
เป็นไปได้ว่าคุณอาจมองเห็นมากกว่าที่ตามอง บางสิ่งนั้นซึ่งต้องใช้ใจเท่านั้น