ด่านซ้าย เมืองหน้าด่านอาณาจักรล้านช้างในอดีต ปัจจุบัน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ธรรมชาติที่สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี .อาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว วิถีชีวิต สำเนียงภาษา และศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นคล้ายคลึงกัน จนถือได้ว่ามีวัฒนธรรมประเพณีเดียวกันของพี่น้องทั้งสองฝั่งแผนดิน
26 มิ.ย.58 ที่บริเวณวัดโพนชัย บ.เดิ่น อ.ด่านซ้าย จ.เลย ประชาชนนับพันจากสองฝั่งไทย-ลาว ต่างหลั่งไหลร่วมใจกันเดินทางมาร่วมบุญประเพณีเก่าแก่ของเมืองด่านซ้ายคืองานบุญหลวงฯ ซึ่งจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แก่นสารแห่งวัฒนธรรมประเพณีบุญหลวงถูกถ่ายทอด สืบสานกันมารุ่นต่อรุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
งานประเพณีบุญหลวง เป็นการรวมเอาบุญเดือนสี่ ( บุญพระเวส ) จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ โดยเชื่อกันว่าจะได้อานิสงค์มาก เกิดชาติหน้าจะเป็นผู้เข้าถึงพระศรีอาริยะเมตรัยส่วนบุญเดือนหก ( บุญบั้งไฟ )เป็นการทำบุญเพื่อบวงสรวงอารักษ์หลักเมือง เพื่อสื่อสารถึงพญาแถนขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เข้าไว้ด้วยกัน เรียกบุญเดือนแปด หรืองานบุญหลวงการกำหนดวันจัดงาน บุญหลวงนั้น จะถูกกำหนดขึ้นภายหลังจากที่มีพิธีบวงสรวงอารักษ์หลักเมืองที่ “หอหลวง” และ “หอน้อย” ขณะที่ทำพิธีบวงสรวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ผีเจ้านาย ผ่าน “เจ้าพ่อกวน” ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวด่านซ้าย โดยจะมีรับสั่งอนุญาตกำหนดวันจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในวันเลี้ยงหอน้อยนั้นเอง
เช้ามืดของวันแรกหรือที่ชาวบ้านเรียก วันโฮม (วันรวม) เวลาประมาณตีสาม “พ่อแสน” ตัวแทนของชาวบ้านจะเดินจากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพนชัยเพื่อเข้าพิธีบวชพราหมณ์รับศีล จากนั้นพ่อแสนจะเดินนำหน้าขบวนบริวาร ชาวบ้าน และผู้เข้าร่วมพิธีจากวัดโพนชัย ไปที่ปากแม่น้ำหมันที่บรรจบกับห้วยน้ำศอก ชาวบ้านเชื่อกันว่าแม่น้ำหมันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ กระแสของน้ำไหลขึ้นทางทิศเหนือ อยู่คู่กับเมืองด่านซ้ายมาหลายร้อยปี เมื่อถึงบริเวณปากแม่น้ำหมัน “พ่อแสน” จะทำพิธีเบิกพระอุปคุต พิธีกรรมสำคัญของการจัดงานบุญหลวง “พระอุปคุต” เป็นพระผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก จะต้องทำพิธีอัญเชิญมา เพื่อปกปักษ์รักษา เกิดความสวัสดีมีชัย ป้องกันภยันตรายต่างๆ และเพื่อให้การจัดงานบุญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ไม่มีมารตนใดกล้ามารุกราน
พ่อแสนเริ่มกล่าวอาราธนาพระอุปคุต “พ่อแสนเมืองจันทร์”จะลงไปในแม่น้ำหมันเพื่ออัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมา “ โดยสมมติเอาก้อนหินเพียงหนึ่งก้อนที่วางอยู่ใต้น้ำ เปรียบเป็นตัวแทนของพระอุปคุต” โดยพ่อแสนเมืองจันทร์จะต้องงมก้อนหินสามรอบ รอบแรกจะถามว่าใช่พระอุปคุตหรือไม่ ชาวบ้านบริวาร จะตอบว่าไม่ใช่ ในรอบที่สาม ชาวบ้านจะตอบว่าใช่ “นั้นแระพระอุปคุตที่แท้จริง” จากนั้นอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมาใส่พาน พ่อแสนอุ่นเมืองเดินนำขบวนแห่ เซิ้ง แซ่ซ้องสรรเสริญ กลับมายังวัดโพนชัย ทำทักษิณาวรรต 3 รอบ เชิญพระอุปคุตไปยังทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศใต้ ขณะทำพิธีจะมีการยิงปืน 3 นัด จากนั้นอัญเชิญพระอุปคุตประดิษฐานที่หอพระอุปคุตด้านทิศตะวันออก เป็นอันเสร็จพิธีช่วงเช้า