คอลัมน์: ในความเป็นคน เรื่อง: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรรค์
เคยมีผู้กล่าวว่า “คนเราจะรู้ถึงคุณค่าของบางสิ่ง ก็ต่อเมื่อมันพรากหายหรือสูญไปจากชีวิต”
บัตรประชาชนกับคนไร้บ้าน ก็เช่นกัน
ทุกวันนี้ พวกเราหลายคน อาจจินตนาการไม่ออกถึงห้วงเวลาที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเครื่องยืนยันสิทธิทางทะเบียนราษฎร์ บัตรฯ ถ้าหาย เราก็ทำใหม่ด้วยเวลาอันรวดเร็ว อย่างเลวร้ายที่สุด ก็ยังมีพ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนมาช่วยยืนยัน ‘ตัวตน’ ของเรา
แต่กับพี่น้อง ‘คนไร้บ้าน’ นั้นดูต่างออกไปสิ้นเชิง
พวกเขาหลายคน ไม่มีบัตรฯ มาตั้งแต่เกิดเนื่องเพราะเป็นคนไร้บ้านหรือออกจากบ้านแต่เด็ก อีกหลายต่อหลายกลายเป็นคนไร้บัตรฯ จาก ‘การสูญหาย’ ในพื้นที่สาธารณะ ‘อุบัติเหตุทางชีวิต’ อันหลากหลายที่ทำให้พวกเขาต้องไร้บ้าน และสิ้นไร้ไม้ตอก
การไร้บัตรฯ มาเป็นเวลานานและการห่างบ้านอันยากหวนคืน เนื่องจากสภาพปัญหาของเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ได้ทำให้พี่น้องคนไร้บ้าน ประสบปัญหาในการยืนยัน ‘ตัวตน’ ในทางทะเบียนราษฎร์
ความยากจนและไร้ทุนทางสังคมของพวกเขา ทำให้ยากที่จะหาบุคลากรภาครัฐมายืนยัน ‘ตัวตน’
เช่นเดียวกับการไร้ญาติหรือจากบ้านมาเนิ่นนานด้วยปัญหาครอบครัว ก็ทำให้ขาดคนมายืนยัน ‘ตัวตน’
ไม่เพียงเท่านั้น การอ่านออก/เขียนไม่ได้ หรือการสะกดชื่อที่ผิดเพี้ยนระหว่างทะเบียนราษฎร์กับความเป็นจริงก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้การได้มาซึ่งบัตรประชาชน เป็นเรื่องที่ยากเย็น
การสำรวจกลุ่มตัวอย่างพี่น้องคนไร้บ้าน ที่ร่วมกิจกรรมของมูลนิธิพัฒนาที่อาศัย โดยเครือข่ายเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม พบว่า มีพี่น้องคนไร้บ้านถึงกว่าร้อยละ 30 ที่ไม่มีบัตรประชาชน
สัดส่วนดังกล่าวถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ อาจดูไม่มากนัก
แต่พอเป็นเรื่องของบัตรประชาชน แค่เพียงร้อยละ 1 ก็ดูเป็นตัวเลขที่มากแล้ว
เพราะเป็นเรื่องที่คนมีสิทธิต้องกลายเป็นคนไร้สิทธิ เพราะไร้บัตรฯ และสัมพันธ์กับสิทธิทางสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ อันผูกกับเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่ว่าเป็นเรื่องของบริการทางสุขภาพตามสิทธิ 30บาทหรือประกันสังคม สวัสดิการคนพิการและผู้สูงอายุ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนและบริการต่างๆ ของรัฐ
ไม่นับรวมถึงสิทธิจากการจ้างงาน และการทำสัญญาจ้างงานต่างๆ ที่บัตรประชาชนมีส่วนช่วยในระดับหนึ่ง ไม่ให้ถูกการเอาเปรียบหรือกดขี่จากนายจ้าง ในฐานะพลเมืองไร้บัตร
การไร้บัตรฯ จึงเสมือนการไร้ตาข่ายทางสวัสดิการสังคม และหลักประกันของชีวิตไปโดยปริยาย ทำให้คนไร้บ้านซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบของชายขอบ และเป็นกลุ่มคนที่ยากจนสุดของเมือง ต้องประสบกับต้นทุนในการใช้ชีวิตที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม
จากที่ใช้ชีวิตยากอยู่แล้วเพราะความจน การไร้บ้าน และไร้ญาติขาดมิตร ต้องใช้ชีวิตยากขึ้นไปอีกเมื่อระบบสวัสดิการไม่สามารถช่วยสนับสนุนชีวิตได้ เป็นอุปสรรคในการตั้งหลักชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
เรื่องราวของ ลุงเครา อาจให้ภาพของการไร้บัตรได้ดีในระดับหนึ่ง
ลุงเครา เป็นคนไร้บ้านคนหนึ่งที่ประสบกับปัญหาเรื่องบัตร ลุงเคราเล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มเป็นคนไร้บ้าน หลับนอนในพื้นที่สาธารณะ เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว บัตรที่แสดงตัวตนของลุงเคราหายไปทั้งหมด ไม่ว่า บัตรประชาชน บัตรทหารผ่านศึก ใบขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถสิบล้อ ซึ่งเป็นในขับขี่ตลอดชีพก็ไม่มีเหลือ ทำให้ขาดเครื่องมือมายืนยันสิทธิและตัวตนของลุงเครา โดยเฉพาะสิทธิทหารผ่านศึกที่ได้มีสวัสดิการพิเศษทั้งทางสุขภาพและสังคม
จนเมื่อ เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้พาไปทำบัตรประชาชน ทำให้ลุงเครามีบัตรประชาชนใบใหม่ นำห้อยคอไว้พกติดตัวตลอดเวลาเพื่อป้องกันการสูญหาย ซึ่งการมีบัตรประชาชนนี้ทำให้ลุงเคราสามารถไปดำเนินการทำบัตรทหารผ่านศึกที่จังหวัดลพบุรีได้ ซึ่งลุงเคราจะได้รับสวัสดิการทหารผ่านศึกหากมีบัตรใบนี้
การได้บัตรประชาชนของลุงเครา อาจเปรียบได้ว่าเป็นการ ‘พลิกชีวิต’ ที่มาพร้อมกับสิทธิต่างๆ ที่โยงกับบัตรประชาชน ไม่ว่าเป็น สิทธิทางสุขภาพ สิทธิทางทหารผ่านศึก และสิทธิผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี ในกรณีของลุงเครา การได้มาซึ่งบัตรประชาชนอาจมิใช่เรื่องยาก เพราะบัตรเพิ่งหายได้ไม่นาน และลุงเคราสามารถสะกดชื่อตนเองได้อย่างถูกต้อง รวมถึงหน้าตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
แต่อีกหลายกรณีดูมีความยาก และไม่ง่ายเช่นนี้
ทำให้ชวนขบคิดต่อไปว่า ทำอย่างไรสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพ จึงสามารถครอบคลุมพี่น้องคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรหรือเครื่องแสดงสิทธิได้ มีกลไกอะไรที่จะมาช่วยเยียวยาพี่น้องคนไร้บ้านระหว่างการรอยืนยันสิทธิของพวกเขา
เพราะการขาดสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพ ทำให้พี่น้องคนไร้บ้านฟื้นกลับมาตั้งหลักชีวิตได้ยากยิ่งกว่าเดิม
เป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ควรกลับมาคิดอย่างจริงจัง เพราะหากสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพสามารถตอบสนองพี่น้องคนไร้บ้านได้อย่างครอบคลุม นั่นหมายถึงระบบบริการของรัฐโดยรวมจะครอบคลุมทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เราจะรู้ถึงคุณค่าของบางสิ่ง ก็ต่อเมื่อมันถูกพรากหายหรือสูญไปจากชีวิต”