ออกอากาศ วันที่18 กุมภาพันธ์
บ้านแม่ขอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิถีดั้งเดิมของผู้คนที่นั่นคือการทำไร่ข้าวหมุนเวียน ซึ่งชาวปกาเกอะญอบอกว่า วิธีการแบบนี้จะช่วยรักษาดิน รักษาป่าเอาไว้
อุทัย พายัพธนากร ผู้นำชุมชนบ้านแม่ขอ
“การเพาะปลูกนั้น ที่ผ่านมาเราปลูกข้าว เราจัดแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ ปีนี้ปลูกแปลงนี้ ปีต่อไปก็ย้ายไปปลูกอีกแปลง ที่ผ่านมาเราปลูก 6-7 ปีแล้วจะเวียนมาปลูกที่เดิม ตอนนี้คนเยอะขึ้น จะปลูกเวียนแบบ 6-7 ปีแบบเดิมที่ทำกินก็มีไม่พอแล้ว”
ความเปลี่ยนแปลงมาถึง ไม่เพียงเพราะเรื่องพื้นที่ทำกิน เท่านั้น แต่ทุกวันนี้เริ่มมีการทำเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ต่างๆ ที่เคยเป็นไร่ข้าวหมุนเวียนกลายเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กินอาณาบริเวณกว้าง
จ่าดี ชาวบ้านแม่ขอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
“ที่ปลูกข้าวโพด เพราะตอนนี้ผมมีลูก 3 คน เข้าโรงเรียนแล้ว 2 คน คนหนึ่งปีนี้ก็จะเข้าไปเรียนในเมืองแล้ว ผมจึงต้องปลูกข้าวโพด ผมต้องซื้อรถ จะเดินเท้าเหมือนสมัยก่อน เพื่อนๆ เขาก็เดินทางกับรถกันหมด ผมจึงต้องปลูกข้าวโพด”
ขณะที่วิถีเกษตรแบบดั้งเดิม กับเกษตรอุตสาหกรรมกำลังยื้อยุดกันอยู่นั้น ชาวบ้านแม่ขอ ก็กำลังเจอความท้าทายใหม่คือ “โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท” ซึ่งที่นี่ คือหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย
คำถามที่ยังรอคำตอบนั้นก็คือ “โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท” จะเป็นอย่างไรในอนาคต คำตอบนั้น ไม่ได้มีผลสำคัญแต่เฉพาะผู้คนที่ บ้านแม่ขอ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้คนและผืนป่าทั่วประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน