Run (a) way Kimono… กิโมโนไม่เชยบนรันเวย์

Run (a) way Kimono… กิโมโนไม่เชยบนรันเวย์

14kimono3

แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์  กล้าหาญ

เมอร์เซเดส-เบนซ์ แฟชั่นวีค โตเกียว (Mercedes-Benz Fashion Week Tokyo) สิ้นสุดลงไปพร้อมกับคอลเลคชั่นที่โชว์ความเซ็กซี่แบบหักมุมด้วยชุดกิโมโน ราวว่าแฟชันแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมจะย่องกลับมาอยู่ในตู้เสื้อผ้าของผู้หญิงอีกครั้งอย่างเงียบเชียบ

ดีไซเนอร์ทดแทนการนำผ้าไหมเนื้อหนามาตัดเย็บกิโมโนแบบโบราณ ด้วยการเปลี่ยนเป็นเนื้อผ้าที่หลากหลาย เช่น  ผ้าถัก ขนสัตว์ หรือแม้กระทั่งผ้าเดนิมเพื่อแปลงโฉมกิโมโนให้อยู่ในความหมายของความร่วมสมัย

“กิโมโนคือแฟชั่น… มันไม่ควรถูกนำเสนอว่าเป็นของเชย” Jotaro Saito ดีไซเนอร์กิโมโนชาวเกียวโตกล่าวอย่างร่าเริง

“ผมอยากสื่อสารว่าทุกคนสามารถสวมใส่ชุดกิโมโนได้ทุกวัน ใครๆ ก็ใส่ได้เหมือนเสื้อผ้าชิคๆ ที่เราเห็นผู้คนใส่กัน ไม่ใช่สิ่งที่สวมใส่แล้วแค่รู้สึกว่าเป็นเครื่องแต่งกาย” ดีไซเนอร์ที่เคยเปิดตัวการออกแบบชุดกิโมโนด้วยอายุที่น้อยที่สุดกล่าว

คำว่า กิโมโน แปลความหมายได้ตรงๆ ว่า ‘เครื่องนุ่งห่ม’ เคยเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกเครื่องแต่งกายหลายชนิดของผู้หญิงและผู้ชายชาวญี่ปุ่นมานานนับศตวรรษ แต่ปัจจุบัน ความหมายของมันแคบลงมาเพื่ออธิบายเครื่องแต่งกายที่มีสายคาดเอวที่หลายคนคุ้นเคยกันในชื่อ ‘โอบิ’ (obi)

n-kimono-a-20151020-870x593

กระแสการสวมใส่กิโมโน ‘ตกลง’ ในช่วงปลายๆ ยุค 1800 เพราะจักรพรรดิต้องการเปิดประเทศเพื่อน้อมรับความทันสมัยเข้ามาเสียบ้างหลังจาก 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวที่ญี่ปุ่นห่อหุ้มตัวเองไว้ในโลกที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับใครเลย การเปิดประเทศครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่าชนญี่ปุ่นรุ่นหลังพร้อมที่จะโอบกอดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกไว้ในร่างกายของพวกเขา

แต่ความโด่งดังของกิโมโนก็ไม่เคยสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเลย เพราะมูลค่ามหาศาลที่ไม่มีใครยับยั้งได้ก่อให้เกิดเงินหมุนในระบบเป็นพันๆ ดอลล่าร์ บังคับให้เจ้าสาวเมืองอาทิตย์อุทัยต้องเช่าชุดกิโมโนมาแต่งงานแทนที่จะได้ครอบครองมัน

หญิงสาวจากตระกูลที่สืบทอดกิโมโนจากบรรพบุรุษถูกพบเจอในเมืองใหญ่เป็นส่วนมาก กระนั้น กิโมโนก็ไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจหรือเข้าถึงได้ง่ายเลย เพราะมันถูกจับจองไว้สำหรับโอกาสพิเศษมากกว่าการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เหตุผลหลักๆ คือผู้สวมใส่ต้องสำเร็จวิชาอันซับซ้อนของกลกิโมโนในการมัดและผูกให้แน่น ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ก็มักทำให้หญิงชาวญี่ปุ่นหลายคนยอมจำนน

เทรนของการสวมใส่กิโมโนที่ดำดิ่งลงเรื่อยๆ กระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นใส่ใจที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมคลาสสิคนี้ไว้โดยการปล่อยนโยบาย ‘พาสปอร์ตกิโมโน’ ที่ผู้ส่วมใส่จะได้รับส่วนลดจากร้านค้าหรือภัตตาคารในโบราณสถานต่างๆ

แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนก็ออกความเห็นว่าการปรับปรุงหน้าตาและตัวตนของกิโมโนในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้น่าดึงดูดใจน่าจะชุบชีวิตเครื่องแต่งกายแห่งวัฒนธรรมนี้ได้มากกว่า

Saito เป็นดีไซเนอร์ที่เติบโตมากับธุรกิจการย้อมกิโมโนของครอบครัวในเกียวโต เขาทำงานกับกิโมโนมาร่วม 2 ศตวรรษและเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของมันจะสร้างเสียงสะท้อนในวงการแฟชั่นในอนาคตได้

“สิ่งที่เราต้องทำในเวลานี้คือค่อยๆ พัฒนาชุดกิโมโน ฉะนั้น เราจะไม่ทำในสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ เคยทำมาแล้ว” เขากล่าว

“เราต้องตอบสนองต่อสิ่งที่เราเห็นบนถนนในปัจจุบัน… ต้องเปลี่ยนแปลงการดีไซน์รูปแบบเดิมๆ และตัดแต่งให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้หญิงยุคนี้โดยที่ไม่ลดเสน่ห์ของความคลาสสิคที่มีในตัวกิโมโนด้วย”

อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นมักใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive) ชุดกิโมโนของ Saito ที่อาจมีราคามากกว่า 1 ล้านเยน (8,300 ดอลล่าร์) จึงผลิตด้วยมือทุกชุด ตั้งแต่ขั้นตอนการย้อมไปจนถึงการเย็บ การพิมพ์ลายและการถักทอ

อย่างไรก็ตาม แฟชั่นโชว์ของเขาก็นำเสนอรูปแบบที่ล้ำสมัยและให้สัมผัสของความโมเดิร์น เช่น ฮู้ดเฟอร์ ที่ Saito ใช้วัสดุที่หลากหลายตั้งแต่ผ้าเดนิมและโพลิเอสเตอร์ไปจนถึงไหมคุณภาพสูง

14 kimono 6

นอกจาก Yoshiki จะเป็นร็อกเกอร์ของวง X Japan ในตำนาน เขายังเป็นลูกชายคนแรกของร้านค้ากิโมโน Yoshiki จึงร่วมออกแบบ Yoshikimono พร้อมกับบรรเลงเปียโนเพลง Swan Lakeในแฟชันโช่ ว์พร้อมกล่าวว่าเขาอยากเห็นแฟนเพลงสาวๆ ใส่กิโมโนมาดูคอนเสิร์ตของเขา

แต่กว่าสาวๆ เหล่านั้นจะใส่กิโมโนเสร็จ คอนเสิร์ตก็อาจจบลงไปแล้ว เพราะมัวแต่จัดแจงผ้ากิโมโนหลายชั้นและผูกปมอันซับซ้อนให้ถูกต้อง วิธีการสวมใส่ที่ปราบเซียนทำให้ผู้หญิงหลายต่อหลายคนต้องไปเข้าเรียนหรือไม่ก็ศึกษาจาก Youtube

“มันไร้สาระมากเลยที่ต้องมีขั้นตอนเยอะแยะขนาดนั้น… เราน่าจะทำให้การใส่กิโมโนง่ายขึ้นกว่านี้” Souta Yamaguchi แฟชั่นไดเร็กเตอร์อิสระที่ดีไซน์กิโมโนให้เข้ากับเสื้อผ้าแนวสตรีท กล่าว

“อาจจะทำให้การใส่กิโมโนง่ายขึ้นด้วยการคาดเข็มขัดแค่เส้นเดียว แทนที่จะไปผูกปมหรือคาดอะไรมากมาย”

ถึงแม้ว่าคนยุคเก่าหลายคนจะตอบสนองต่อนวัตกรรมทางความคิดและการดีไซน์กิโมโนยุคใหม่ด้วยเสียงที่ไม่เห็นด้วยนักในตอนแรก แต่กระแสแฟชั่นกิโมโนก็มาแรงมากในปีสองปีนี้ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนตกตะกอนได้ว่าเวอร์ชั่นนี้จะสามารถเชื่อมต่อความสนใจของลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นได้ Manami Okazaki ผู้เขียน ‘Kimono Now’ ให้ข้อสังเกต

“ความหวังของเราก็คือ เมื่อเรานำเสนอกิโมโนที่ดีไซน์โดยดีไซน์เนอร์ร่วมสมัยไปแล้ว วัยรุ่นจะพัฒนาความสนใจของเขามาที่ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมด้วยเหมือนกัน”

ที่มา http://www.japantimes.co.jp/life/2015/10/19/style/tokyo-fashion-week-highlights-new-possibilities-for-kimono/#.VjmfDdwt3wI

ภาพ https://tokyo-mbfashionweek.com/en/brands/detail/yoshikimono/

https://tokyo-mbfashionweek.com/en/brands/detail/jotaro-saito/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ