บ่ายวันเสาร์กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Aftershake.net และ Thai PBS จัดงานเสวนาชื่อ กลัวผีประชานิยม ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีย์งานเสวนา Fact & Fear ชุด ความกลัวในสังคมไทย
งานนี้มี ‘ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง’ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข และการเกษตร สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ‘ภัควดี วีระภาสพงษ์’ นักเขียน, นักแปลอิสระ ‘พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ’ พระวัดสร้อยทอง พระอารามหลวง มาร่วมให้ความรู้ โดยมี ‘จักรชัย โฉมทองดี’ ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ประจำประเทศไทย (OXFAM) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ก่อนเข้าสู่ช่วงการเสวนา ดร.วิโรจน์ ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม โดยให้ความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนั้นมีความเป็นผีอยู่ 2 แบบ คือเป็นมายา เป็นภาพที่ไม่ตรงกับความจริง เป็นสิ่งหลอกหลอน ประชานิยมคือผีที่คนไทยไม่รู้จัก ขณะเดียวกันก็เป็นผีที่เพิ่งถูกสร้าง
“กลุ่มที่ไม่ชอบพรรคการเมือง ไม่ชอบการเลือกตั้ง จะบอกว่าเขาไม่เอาประชานิยม แต่เมื่อไปถึงจุดนั้น ย่อมเกิดคำถามว่า ถ้าทุกอย่างเป็นประชานิยม อาทิ การรักษาฟรี เรียนฟรี เราจะตัดสินอย่างไร ในยุโรปตะวันตกจำนวนมาก ซึ่งเป็นลักษณะรัฐสวัสดิการก็มี ประเทศสังคมนิยมก็มี แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาในป้ายของคำว่าประชานิยม”
ที่ผ่านมาก กลุ่มที่โจมตีประชานิยมค่อนข้างแรงคือ ธนาคารโลก กรณีการล่มสลายของอาร์เจนติน่า และทั้ง2 สิ่งนี้ยังถูกผูกกับระบอบที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ
ปรากฏการณ์นี้เกิดได้เพราะมีความเชื่ออย่างกว้างขวางในกลุ่มคนชั้นกลาง ที่บอกว่าตัวเองรู้เท่าทัน มีการศึกษาสูง ซึ่งส่วนใหญ่รับฟังจากการบอกต่อของเพื่อนบ้าง ฟอร์เวิร์ดเมลบ้าง หรือผู้นำกลุ่มความคิดบ้าง ใจความสำคัญคือวิจารณ์รัฐบาลว่าเก็บภาษีจากคนชั้นกลางไปถลุง คนชั้นกลางต้องจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงคนจนผ่านนโยบายประชานิยม เป็นการซื้อเสียงกลุ่มประชาชนรากหญ้า
แต่งานวิจัยของ TDR I เรื่องภาษี กลับสรุปโดยสั้นๆ ว่า เมืองไทยนั้น คนรวยกับคนจนรับภาระภาษีค่อนข้างใกล้เคียงกัน เพราะเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% ภาระภาษีที่ต้องรับเพิ่มคือ 1.05 หรือ 1.1%
“ผมทำงานวิจัยไว้ชิ้นหนึ่ง วิเคราะห์โครงการของรัฐ เรื่องสาธารณสุขและการศึกษา โดยแบ่งคนเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มไหนได้ 10% ขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบ ผลคือ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของรัฐตามชั้นรายได้ รวมผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก พบว่าคนรวยได้รับประโยชน์จากรัฐมากกว่าคนจน
“การกระจายผลประโยชน์ด้านการศึกษายิ่งชัด เพราะกลุ่มที่ได้เกิน 10% เป็นระดับมหาวิทยาลัย ลูกหลานของคนที่ฐานะดี
โดยสรุป ประชานิยมคือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง / ประชาชนต้องมาก่อน สิ่งที่ใกล้เคียงกับความหมายของคำว่าประชานิยม คือการสู้เพื่อคนเล็กคนน้อย สู้กับนายทุน ชนชั้นนำ บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย เพราะประชานิยมไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนแบบสังคมนิยม ประชานิยมบางทีก็ขวา บางทีก็ซ้าย
“ผมไม่เอาประชานิยม เพราะคิดว่ามันควรก้าวข้าม ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลมากกว่า” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่า นิยามประชานิยม เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ในสังคมไทย เพราะคำนี้เราใช้กันมาอย่างหลวมๆ และไม่ได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้
“กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกนโยบายที่ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน แม้เป็นโครงการที่เป็นลักษณะสวัสดิการ ก็ถูกนิยามว่าเป็นประชานิยมทั้งหมด คำถามคือแล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม หากไม่สามารถทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้”
เธอบอกว่า นักวิชาการกลุ่มหนึ่งยังมองว่าประชานิยม ไม่ใช่คำที่ต้องไปสนใจมากนัก โดยระยะหลังกลายเป็นคำที่ใช้วิจารณ์คนอื่น ทุนนิยมหรือเสรีนิยม ใช้คำนี้วิจารณ์ฝ่ายซ้าย
“เวเนซูเอล่า ไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นประชานิยม แต่เรียกตัวเองว่าสังคมนิยม ลักษณะผู้นำประชานิยมต้องเข้มแข็งเด็ดขาด ไม่มีอุดมการณ์ชัดเจน มีลักษณะความคิดชาตินิยม เกลียดกลัวจักรวรรดินิยม แบ่งเขาแบ่งเรา มองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองเป็นศัตรู ชอบใช้การเมืองบนท้องถนน เอาใจประชาชนโดยไม่คำนึงถึงผลดีผลเสีย มาคู่กับแนวคิดชาตินิยม และจะมีการโอนกิจการสาธารณะหลายๆ อย่างมาเป็นของชาติ เน้นการมีอิสระทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติ และเอาใจการบริโภคของประชาชน”
ถ้าให้ยกตัวอย่าง ภัควดี คิดว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้าข่ายมากที่สุด คือนโยบายทวงคืน ปตท. กลับมาเป็นของชาติ
“เรื่องประสิทธิภาพหรืออะไรไม่ได้คิด ขอให้น้ำมันราคาถูกไว้ คือเอาใจประชาชน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าประชานิยม คลุมเครือเกินกว่าจะนำมาใช้ ฉะนั้น ถ้าต้องมานั่งนิยามว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นประชานิยม เลิกไปเลยดีกว่า แต่ควรมาดูนโยบายต่อนโยบายว่า อะไรมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาวหรือระยะสั้น มีประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน”
อาทิ เรื่องประกันสุขภาพ ประเทศไทยทำมาเป็นสิบปีแล้ว ต่อให้มีปัญหา ก็ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“นี่ขนาดไม่เก็บภาษีเต็มที่ เรายังทำได้ ดิฉันคิดว่า บางทีประเทศไทยทำตัวจนเกินไป และทำตัวรวยเกินไปในบางเรื่อง เราปล่อยให้มีการรั่วไหลของการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมหาศาลมาก เราเสียเงินทำห้างหรูที่ไม่มีคนเดินเลย เราทำได้ แต่โวยวายเหมือนประเทศจะล่มจม เวลาได้ยินข่าวว่าเสียเงินค่าทำคลอดให้แรงงานข้ามชาติปีละ 100 ล้านบาท
“ถ้าคิดดีๆ เงินจำนวนนี้ที่เราจ่าย กับคุณูปการที่แรงงานข้ามชาติทำให้ประเทศไทย อาจเทียบกันไม่ได้ด้วยซ้ำ”
อีกประเด็นที่เธออยากนำเสนอคือ คำว่าประชานิยม ในหนังสือ the economist เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วบอกว่า ประชานิยมเป็นผลพวงจากทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม คือการขยายตัวของเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเยอะมาก ดังนั้น ประชานิยมจึงเกิดขึ้นในโลกเพื่อแก้ปัญหาที่ทุนนิยมสร้าง
“ส่วนเรื่องที่คิดว่าสังคมคงสนใจคือ กรณีของประชานิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะการยกประเทศอาร์เจนติน่ามาอ้าง เป็นเรื่องเข้าใจผิดมาก ในช่วงปี 2001 คนไปยกเอาประชานิยมยุคเปรอง (Peronism) มาเป็นประเด็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันเริ่มต้นที่การรัฐประหารในปี 1976 – 1984 รัฐบาลทหารสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำสงครามเกาะฟอล์กแลนด์แพ้ ทำให้หนี้สินสูง พอรัฐบาลทหารออกไป รัฐบาลพลเรือนประมาณ 2 ชุด ก่อนเกิดวิกฤต ก็มีการเปิดเสรีทางการเงิน ดังนั้น การไปพูดแบบนี้ต้องมาศึกษากันใหม่ เพราะที่อ่านมาไม่เคยเจอเลย ดูจากระยะเวลา มันก็ไกลมาก”
สุดท้ายเธอบอกว่า การวิจารณ์ว่านักการเมืองทำเพื่อคะแนนเสียง เป็นการวิจารณ์ที่ไม่มีคุณภาพ และไม่นำไปสู่อะไรเลย ประชาชนต้องหาความรู้ ฟังให้รอบด้าน และมองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความเพ้อฝัน เพื่อจะสะท้อนสิ่งที่ต้องการไปยังนักการเมือง และเป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานอย่างมีคุณภาพ
ด้าน พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ มีทัศนะว่า คนยังไม่ได้ทำความเข้าใจว่าประชานิยมคืออะไร แต่พอได้รับข้อมูลข่าวสารก็รู้สึกกลัว กลัวความเสียหายของรัฐ แต่ถ้าลองไปถามคนที่ได้รับประโยชน์จริงๆ จากประชานิยม จะเป็นอีกเรื่อง
“อาตมาเองเป็นลูกคนระดับล่าง เป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนา ซึ่งได้รับรู้เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งครอบครัวของอาตมาเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านี้ด้วย ถ้าให้อาตมาพูด ในตัวของพระพุทธศาสนาเองก็มีความเป็นประชานิยม ผ่านการสร้างเรื่อง สร้างวรรณกรรม สร้างความเชื่อทางศาสนาขึ้น เพื่อดึงดูดความศรัทธาของผู้คน แล้วความเป็นประชานิยมในศาสนา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ เหมือนประชานิยมแบบรัฐไม่ได้ด้วยซ้ำ
“ก่อนมาเสวนา อาตมาลองสอบถามความเห็นของญาติโยมบางส่วนผ่านเฟซบุ๊ค ว่ามองประชานิยมอย่างไร มีหลายท่านเข้ามาแสดงความคิดเห็น และโยมบางท่านพูดว่า เมื่อเรามีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เราจะปฏิเสธความเป็นประชานิยมได้อย่างไร ต้องทำให้คนมองว่าประชานิยมเป็นเรื่องโอเค ไม่ใช่การเรื่องเงินทองถูกเผาผลาญ และต้องทำให้ประชานิยมเป็นเรื่องการคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนระดับรากหญ้ามากที่สุด”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าคนปฏิเสธโยบายที่ลงไปสู่คนส่วนล่าง สังคมไทยจะไปอยู่ตรงไหน พระมหาไพรวัลย์ ตอบว่า ถ้ามองที่ตัวโครงสร้างสังคมจริงๆ ต้องย้อนถามว่าทำไมเราถึงเลือกอยู่ในระบอบการปกครองแบบนี้ มันทำให้เราตระหนักว่า เราต้องฟังเสียงสะท้อนให้มากขึ้น แล้วจะฟังได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มจากการให้คนข้างล่างได้พูด ได้ส่งเสียงว่าเขาต้องการอะไร และมีฐานในการต่อรองกับคนข้างบน จริงๆ การเลือกตั้งก็เป็นการสะท้อนข้อเรียกร้องของคนข้างล่างว่าต้องการอะไร และคนที่เป็นผู้ปกครองจะตอบสนองข้อเรียกร้องอย่างไร
“อาตมามองว่า ถ้าไม่มีระบบประชานิยมเพื่อตอบสนองชนชั้นล่าง สังคมก็ยังเป็นระบบชนชั้น ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เป็นสังคมที่เอื้อให้เฉพาะคนรวย คนชั้นกลางหรือคนในเมืองเท่านั้น มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำชัดเจน อาตมาฟังเสียงของคนระดับล่างหลายคน เขาก็สะท้อนกลับมาว่า ดูสิ อะไรๆ ก็อยู่กรุงเทพฯ หมด แค่อินเทอร์เน็ตก็เห็นชัดแล้ว มันสะท้อนตัวเองไปทุกอย่าง ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต บางพื้นที่น้ำประปายังไม่มี ถ้าไม่มีระบบประชานิยม หรือระบบที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มันก็จะเป็นปัญหาอย่างนี้ต่อไป”
พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ย่อมมีกระบวนการในการตรวจสอบประสิทธิภาพ อย่างน้อยก็สะท้อนผ่านเสียงของคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง
“ถ้านักการเมืองรับปากว่าจะทำโครงการอะไรสักอย่าง แต่พอเลือกเข้าไปแล้วไม่ทำ เอาแค่การเมืองท้องถิ่นอย่างผู้ใหญ่บ้าน อบต. ก็พอ ไม่ต้องพูดถึง ส.ส. ครั้งต่อไปเขาก็ไม่เลือกคุณ แล้วเขาก็จะวิพากษ์วิจารณ์เมื่อคุณมีอำนาจ ว่าเคยเลือกคุณแล้ว แต่คุณไม่ตอบโจทย์หรือตอบสนองความต้องการของเขา
“ถึงอย่างนั้น การเป็นประชานิยมมากๆ อาตมามองว่ามันก็ไม่ต่างจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเราควรทำอย่างไรให้การให้โอกาสเหล่านี้ เป็นเรื่องการช่วยเหลือสังคม มีโครงการอะไรที่ทำแล้วเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชนบทให้ดีขึ้น เช่น การศึกษา สาธารณสุข”
กับคำถามที่ว่า ประเทศไทยพร้อมทำประชานิยมหรือยัง ดร.วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเราทำเร็วกว่าที่อื่น ขณะที่ประเทศรอบข้างประกาศตัวเป็นสังคมนิยม แต่ก็ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยรวมแล้วเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าประเทศใกล้เคียง และประเทศที่ระดับรายได้พอๆ กัน
“สิ่งที่ตามมาคือ เนื่องจากเราเก็บภาษีน้อย แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่เขาทำเก็บภาษีอย่างน้อย 30% ของรายได้ประชาชาติ มันเลยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นตลอดเวลา เราเห็นว่าคนชั้นกลางไทยจะคัดค้านโครงการประเภทถ้วนหน้าสำหรับคนทั้งสังคมอย่างชัดเจน เพราะคนชั้นกลางรู้สึกไม่ไว้ใจว่าโครงการของรัฐจะดีพอ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษา ฉะนั้น ขอจ่ายภาษีน้อย แล้วเก็บเงินไปเลือกหมอ เลือกโรงเรียนเองดีกว่า“
ช่วงท้าย แขกร่วมเสวนาทั้ง 3 คน ได้ฝากความเห็นไว้ โดย ภัควดีบอกว่า ควรเลิกใช้คำว่าประชานิยม เพราะเป็นคำที่ไม่มีความชัดเจน มีแต่ความคลุมเครือ วิจารณ์เป็นนโยบายไปเลยดีกว่า
ดร.วิโรจน์ บอกว่า ชนบทไม่ได้สวยงาม ความลำบากมันมีมาก เพราะประชาชนไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุข อยากให้มองด้วยว่าสวัสดิการสังคมส่วนหนึ่งมันจะแก้ปัญหาพื้นฐาน
และพระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า อยากให้มองประชานิยม ผ่านการมองเห็นคนที่อยู่ระดับล่าง คนที่ด้อยกว่าเรา ว่าประชานิยมมันตอบสนองคนที่อยู่ต่ำกว่า อยากให้มองว่าในประเทศยังมีคนขาดโอกาสอีกเยอะ การที่เขาจะเข้าถึงโอกาสได้ มันต้องผ่านประชานิยม
จักรชัย โฉมทองดี สรุปปิดท้ายว่า สิ่งที่ได้จากเวทีนี้คือ นโยบายที่เน้นให้เกิดสวัสดิการสังคม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่จะทำได้ดีหรือไม่ ต้องเกิดในบรรยากาศที่มีการตรวจสอบได้ เพื่อลดโอกาสผิดพลาดหรือทำให้ต้นทุนแพงหรือสูงเกินไป