ความยุติธรรม การเลือกตั้ง ภายใต้เงาทหาร (พม่า)

ความยุติธรรม การเลือกตั้ง ภายใต้เงาทหาร (พม่า)

myanmar-election2 (1)

คอลัมน์ ไม่ใช้อารมณ์     เรื่อง สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์    ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรค์

พม่ากำลังจะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการเลือกตั้งกล่าวว่า นี่จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมที่สุดตั้งแต่เคยมีมา หลังจาก 25 ปีที่แล้ว ซึ่งพรรค National League for Democracy เคยชนะการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ถูกยอมรับจากทหาร จากนั้นเป็นต้นมา พม่าก็เข้าสู่การปกครองโดยทหารอย่างเต็มรูปแบบ

การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 25 ปี โดยกฎหมายยังคงยึดตาม รัฐธรรมนูญ 2551 ที่มีการยึดโยงกับรัฐบาลทหารของพม่า (พรรค Union Solidarity  and Development  Party –  USDP )

แม้มีความพยายามเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทกองทัพออกจากประเด็นต่างๆ เช่น จำนวนโควตากองทัพ 25 % ในทุกระดับ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่หมายถึง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 75 % และจากการแต่งตั้งของทหารผสมเข้าไป

ประธานาธิบดีต้องมาจากการเลือกของ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น และประเด็นที่ยังคงกีดกัน นาง อองซานซูจี ไม่ให้ประธานาธิบดีจากเรื่องคู่สมรสและบุตรที่มีสัญชาติอังกฤษ แต่ละหัวข้อที่เสนอให้แก้ไขกลับไม่ผ่านการลงมติ 75 % ในรัฐสภาที่ถูกคุมโดยรัฐบาลทหารพม่า

การเลือกตั้งภายใต้เงาทหารที่นอกจากจะโควตา 25 % ทุกระดับแล้ว ยังคงความได้เปรียบในประเด็นเรื่องทุนในการหาเสียงที่มากกว่า ความพยายามกีดกันผู้สมัครจากกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเพิ่มเงื่อนไขค่าใช้จ่ายที่แสนแพงหากคิดลงสมัครรับเลือกตั้ง มีการตัดสิทธิผู้สมัครจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่สงสัยว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธ

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเจรจายุติการยิงกับกองกำลังติดอาวุธในพม่าถึง 8 กลุ่มด้วยกันก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง แต่ยังมีหลายกลุ่มเกือบ 50,000 กว่าคน ที่ไม่ยอมเจรายุติการยิง และยังคงทำสงครามกับรัฐบาลกลางต่อไป

การละเลยเสียงคนชายขอบก็ยังคงดำรงอยู่ บางส่วนจนถึงขั้นไม่มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง เช่น ชาวโรฮิงญา ที่ถูกตัดสินทั้งผู้สมัครและประชาชนในรัฐยะไข่  หรือในรัฐกระเหรี่ยงเมืองกากอเร็ก ประชนจำนวน 5,000 กว่าคนที่ไม่มีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และในพื้นที่ชาวมอญกว่า 20,000  คน โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่

ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งล่วงหน้าของแรงงานที่อยู่นอกประเทศ ยังคงมีปัญหาเพราะหลายคนถูกตัดสิทธิ์จากสาเหตุที่การประชาสัมพันธ์น้อย ขาดความพร้อมในเรื่องเอกสารและการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก

“แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะกล่าวว่าการเลือกตั้งจะเสรีและยุติธรรม แต่แค่เริ่มต้นก็มีปัญหาแล้วจากความผิดพลาดที่รายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตกหล่นไปหลายราย คำถามคือ จะมีมาตรการอะไรในการทำให้เชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นยุติธรรมจริง นี่เป็นสิ่งที่คณะกรรมการเลือกตั้งต้องทำหน้าที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง” เป็นการตั้งคำถามโดยเจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมในพม่า Civil Society Organization (CSO)

สื่อต่างๆ ในพม่าก็ยังคงถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกับการปิดกั้นการแสดงความเห็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติมุสลิมกับพุทธก็ถูกจำกัด เพราะรัฐบาลทหารไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้ในระหว่างการหารณรงค์เสียง

ในการลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy  NLD) ที่นำโดย ออง ซาน ซูจี จะลงเลือกตั้งเช่นกัน

แม้จากเหตุการณ์การเลือกตั้งซ่อมในครั้งก่อนได้มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เขตที่ลงเลือกแข่งขัน ปรากฎว่ามีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ไม่มีรายชื่อของผู้ที่มีชีวิตอยู่โดยมีจำนวนมากกว่า แต่ก็ยังสามารถชนะการเลือกตั้งและเข้าไปในสภาได้

เป้าหมายของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากสามารถชนะการลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล แม้ ออง ซาน ซูจี จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เนื่องจากถูกกีดกันจากรัฐธรรมนูญ  แต่เธอจะขออยู่เบื้องหลัง(behind the scene) ในการบริหารงานที่โปร่งใสและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ความไม่ยุติธรรมทั้งจากด้านโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในโครงสร้างส่วนล่างก็ยังถูกกีดกันโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย นักกิจกรรม และสื่อ พม่าจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร ในสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้ง กลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หากการเมืองยังถูกกำหนดโดยทหาร?

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ