คนไร้บ้าน: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม (1)

คนไร้บ้าน: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม (1)

02

คอลัมน์: ในความเป็นคน       เรื่อง: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน[1]        ภาพ: จุฑารัตน์ ขยันสลุง

‘คนไร้บ้าน’ (Homeless) เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ตามเมืองใหญ่เกือบทุกประเทศมาเกือบศตวรรษ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมืองต่างๆ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเสมือนว่าคนไร้บ้านเป็นสิ่งที่คู่กับความเป็นเมือง

ส่วนในประเทศไทย คนไร้บ้านแต่เดิมมักถูกเรียกด้วยคำว่า ‘คนจรจัด’ หรือ ‘คนเร่ร่อน’ ซึ่งมีนัยทางลบ ก่อนจะมีการเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘คนไร้บ้าน’ ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 พร้อมการสร้างวาทกรรมของเครือข่ายคนไร้บ้านที่รวมกลุ่มกันว่า “เราเป็นคนจนจัด ไม่ใช่คนจรจัด”

คนไร้บ้านคือใคร?

คนไร้บ้านคือใคร? เป็นคำถามที่หลายคนต่างสงสัย เพราะคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายในแบบแผนการใช้ชีวิต ทั้งในด้านอาชีพ ที่หลับนอน และชีวิตประจำวันด้านต่างๆ ภาพคนไร้บ้านที่เก็บของเก่าและนอนบนฟุตบาท อาจเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของคนไร้บ้านทั้งหมด ในปัจจุบันหน่วยงานและงานวิชาการในหลายประเทศได้ให้นิยามคนไร้บ้านที่มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น

The United States Department of Housing and Urban Development (HUD)[2] ได้ให้นิยามของคนไร้บ้านคือ บุคคลที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยถาวรหรือที่เพียงพอในเวลากลางคืน มีที่พักอาศัยเวลากลางคืนที่ผิดปกติวิสัย หรืออาศัยอยู่ในสถานพักพิงของรัฐและเอกชน

ในส่วนของ Department of Communities and Local Government[3] สหราชอาณาจักร ได้ให้นิยามว่าคนไร้บ้านคือ ผู้ที่อาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะหรือสถานพักพิงเป็นเวลาต่อเนื่อง 28 วัน คนที่อาศัยในสถานพักพิง และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการกลายเป็นคนไร้บ้าน อาทิ คนมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง (ถูกไล่รื้อ/โดนฟ้อง เป็นต้น) เช่นเดียวกับ Australian Bureau of Statistics[4] ของออสเตรเลีย ที่ได้นิยามว่าเป็นกลุ่มคนที่มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว เต็นท์ หรือนอนในพื้นที่สาธารณะ อาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน  อาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวร่วมกับครอบครัวอื่นๆ

สำหรับประเทศในเอเชียอย่างอินเดีย ที่มีคนไร้บ้านจำนวนมากกระจายตามเมืองขนาดใหญ่ ได้มีการนิยามว่า คือคนที่ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านตามลักษณะสำมะโนประชากร เช่น โครงสร้างสร้างที่มีหลังคา ผู้คนซึ่งไม่มีบ้านทั้งที่เป็นของตนเองหรือเช่าผู้อื่น แต่อยู่อาศัยและหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ ใช้ชีวิตในตอนกลางคืนในที่พักพิงชั่วคืน มีที่พักไม่เป็นหลักแหล่ง

จะเห็นได้ว่านิยามของคนไร้บ้านค่อนข้างมีความหลากหลายและแตกต่างกันในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี นิยามเหล่านี้ดูมีจุดร่วมหรือ ‘แก่น’ สำคัญคือการกล่าวถึงคนไร้บ้านในฐานะกลุ่มคนที่ไร้ที่อยู่อาศัยถาวร และสามารถพบได้บนท้องถนนหรือพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการของคนไร้ที่อยู่อาศัย อาทิ ศูนย์พักพิง หรือสถานที่แจกอาหาร

คนไร้บ้านมาจากไหน?

คนไร้บ้าน มักถูกคนส่วนใหญ่มองและตีตราว่า ‘เพราะขี้เกียจ ไม่ขยันทำมาหากิน ไม่รู้จักใช้เงินและอดออมในชีวิต ทำให้ต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน’ และ ‘เมื่อเป็นคนไร้บ้านก็มีชีวิตที่เฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นพัฒนาตัวเอง’ งานศึกษาหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าคนไร้บ้านและการมาเป็นคนไร้บ้าน มีปัจจัยและสาเหตุที่มากกว่าที่หลายคนคิด โลกของคนไร้บ้าน[5] งานศึกษาวิถีชีวิตของคนไร้บ้านที่เจาะลึกและครอบคลุมของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ชี้ให้เห็นว่า การเป็นคนไร้บ้านมีที่มาจากสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในปัจจัยเชิงของสถาบันทางสังคมและปัจจัยส่วนบุคคล อาทิ ความเปราะบางของสถาบันครอบครัว ความผิดหวังจากการทำงาน ภาวะตกงานเรื้อรัง พบช่องทางทำมาหากินโดยไม่ต้องมีบ้าน มีประวัติที่สังคมไม่ยอมรับ การสมัครใจเป็นคนไร้บ้าน และความพิการของร่างกาย

ในทางเดียวกับ Marybeth Shinn[6] ที่ได้ทบทวนงานศึกษาคนไร้บ้านในประเทศต่างๆ และชี้ให้เห็นว่า สาเหตุในการเป็นคนไร้บ้านมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ (Poverty and Inequality) นโยบายด้านที่อยู่อาศัย (Housing Policy) ทัศนคติทางวัฒนธรรม ลัทธิเชื้อชาตินิยมและการขับออกจากสังคม (Cultural Attitudes, Racism and Social Exclusion) ซึ่งสองประเด็นแรกเป็นปัจจัยที่พบในทุกพื้นที่ ส่วนประเด็นทางด้านวัฒนธรรมและการขับออกจากสังคมเป็นประเด็นหนุนเสริมสำคัญหรือเป็นตัวเสริมความเสี่ยงในการเป็นคนไร้บ้าน

ทั้งนี้ สาเหตุทั้ง 3 ประเด็น ได้แสดงให้ว่า ปัจจัยเชิงสถาบันหรือโครงสร้างทางสังคมมีส่วนอย่างมากในการเป็นคนไร้บ้าน เพราะปัจจัยส่วนบุคคล อย่างการเจ็บป่วย ครอบครัวแตกแยก การตกงาน หรือความผิดหวังหรือน้อยใจที่ผลักให้คนออกจากบ้าน ถ้าได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากโครงสร้างและสถาบันทางสังคม อย่างนโยบายที่อยู่อาศัยชั่วคราวและถาวรที่ราคาถูก หรือกลไกการหางานและรักษาพยาบาลก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้กลายมาเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกับ ปัญหาความยากจนที่ดูเหมือนเป็นเรื่องของปัจเจก เอาเข้าจริงแล้วมีความเกี่ยวโยงกับสวัสดิการสังคม การขยายตัวของค่าครองชีพในเมืองกับค่าแรงรายวัน  รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสของโครงสร้างสังคมอย่างแนบแน่น

คนไร้บ้านกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นผลมาจากกฎหมายและการออกแบบนโยบายของรัฐที่มีลักษณะไม่เป็นธรรม ไม่หนุนเสริมผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเศรษฐกิจ และมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มคนมีฐานะทางสังคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่ของโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมและชีวิต และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ ‘คนรวยมักรวยขึ้น มีโอกาสมากขึ้น แต่คนจนกลับจนลง มีโอกาสน้อยลง’

 

01

จากแผนภาพข้างบนนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาคนไร้บ้านเกี่ยวโยงกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด การกระจายที่ดินทำกินและความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย รวมถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา ต้นทุนชีวิต ระบบการดูแลสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และการมีงานทำที่มั่นคง ล้วนเป็นทั้ง ‘ปัจจัยเสี่ยง’ และ ‘แรงหนุนเสริม’ ให้ผู้คนกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

การอธิบายคนไร้บ้านที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจนี้ ได้ทำให้เห็นว่าปัญหาคนไร้บ้านมีความเชื่อมโยงกับสภาพและสวัสดิการทางสังคมโดยรวม ปัญหาคนไร้บ้านมิใช่เรื่องของกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เป็นปัญหาของสังคมที่สั่งสมและเพิ่มความรุนแรงมาเป็นเวลายาวนาน

ในหลายประเทศการลดจำนวนของคนไร้บ้านหน้าใหม่ และการกลับสู่ชีวิตที่มั่นคงของคนไร้บ้าน เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายทางสังคม เพราะเมื่อนโยบายทางสังคมสามารถดูแลกลุ่มประชากรชายขอบสุดที่มีความหลากหลาย อย่างคนไร้บ้าน ได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ในมุมหนึ่งก็หมายถึงความเป็นไปได้อย่างมากที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลทุกกลุ่มคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

ข้อเขียนในตอนนี้ อาจเป็นการทำให้เห็นภาพรวมเชิงความคิดเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และความเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจโดยสังเขป เพื่อปูพื้นในการเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของคนไร้บ้าน ในตอนต่อไป เราจะมาเจาะลึกถึงความเหลื่อมล้ำในแต่ละด้านที่ส่งผลต่อชีวิตของคนไร้บ้าน รวมถึงเรื่องเล่าจากพี่น้องคนไร้บ้าน โดยขอเริ่มจากประเด็นของที่อยู่อาศัย

——–

[1] นักวิจัยประจำโครงการเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม  และหัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สนับสนุนโดย สสส.) anukpn@gmail.com

[2] The McKinney-Vento Homeless Assistance Act As amended by S. 896 The Homeless Emergency Assistance and Rapid Transition to Housing (HEARTH) Act of 2009

[3] Department of Communities and Local Government, Homelessness data: notes and definitions (2014)

[4] Australian Bureau of Statistics, Position Paper – ABS Review of Counting the Homeless Methodology (Aug 2011).

[5] บุญเลิศ วิเศษปรีชา, โลกของคนไร้บ้าน (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546).

[6] Marybeth Shinn, “Homelessness, Poverty, and Social Exclusion in the United States and Europe,” European Journal of Homelessness (Vol.4), December 2010.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ