แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ย้อนไปในปี 2553 ขณะที่ช่างภาพสาว Gabriela Maj กำลังทำงานร่วมกับศิลปินในประเทศอัฟกานิสถาน เธอจำได้ว่าหนึ่งในบรรณาธิการเคยเปรยๆ ไว้ว่า “เธอรู้ใช่ไหมว่าสื่อต่างชาติกำลังตอดตอมอยู่กับเรื่องนักโทษหญิงที่ต้องถูกจองจำเพราะข้อหาจำพวก ‘ก่ออาชญากรรมทางศีลธรรม’ (moral crime) แล้วพวกเธอก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรงเหล็กกับลูกๆ”
แล้วบรรณาธิการของเธอก็พูดถูกเผง เมื่อ Maj เดินทางมาถึงเรือนจำหญิง Badam Bagh ที่เมืองคาบูล (Kabul) ความคิดแรกที่แวบเข้ามาในศีรษะเลยคือ “ที่นี่ดูเหมือนโรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนประถมช่วงปิดเทอมมากกว่าบรรยากาศในคุกเสียอีก”
จะเป็นเพราะสาเหตุอะไรไปได้นอกจากผู้ต้องคุมขังส่วนใหญ่จะพ่วงตำแหน่งแม่ของลูก มีทั้งที่คลอดบุตรในเรือนจำและต้องนำลูกติดสอยห้อยตามมาในคุกด้วยหลังจากที่ถูกตัดสินจองจำ
ช่างภาพสาวที่เคยมีทั้งผลงานเขียนและภาพถ่ายลง New York Times และ Wall Street Journal จึงเริ่มบันทึกภาพถ่ายของนักโทษหญิงจำนวน 100 คนในเรือนจำ 8 แห่งและพิมพ์ออกมาเป็นภาพพอร์ตเทรตในหนังสือชื่อ Almond Garden
สิ่งที่น่าสนใจระหว่างการทำงานที่เธอได้เรียนรู้คือ คำว่า ‘อาชญากรรมทางศีลธรรม’ ที่ว่า หมายรวมไปถึงข้อหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (premarital sex) ที่รุนแรงถึงขั้นมีผลในกรณีเหยื่อจากการถูกข่มขืนและข้อหาการคบชู้ (adultery) ที่ศาลสามารถพิพากษาให้จำคุกสูงถึง 15 ปี
จากข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) จำนวนของผู้ต้องหาหญิงทบทวีขึ้นเรื่อยๆ
“จำนวนของหญิงสาวและเด็กสาวที่ถูกพิพากษาให้ถูกจองจำภายใต้ข้อหา ‘ก่ออาชญากรรมทางศีลธรรม’เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 จากเดือนตุลาคม ปี 2554 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2556”
ข้อมูลเชิงสถิติจากกระทรวงมหาดไทยประจำประเทศอัฟกานิสถาน (Afghanistan’s Interior Ministry) ก็ยิ่งชี้ชัดว่าจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นจาก 400 คนในฤดูใบไม้ร่วงปี 2554 ไปแตะที่ 600 คนในฤดูใบไม้ผลิในปี 2556
หญิงสาวหรือเด็กสาวเหล่านี้อาจลืมความหมายของคำว่าฤดูกาลไปแล้ว พวกเธอเอ่ยคำขอร้องบางอย่างไว้กับ Maj ว่าอยากสื่อสารออกมาในลักษณะใด
“บางส่วน (ของนักโทษหญิง) ต้องการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเธอ และไม่มีปัญหาใดๆ เลยที่ต้องโดนถ่ายภาพ พวกเธอบางคนเพียงต้องการบอกเล่า และไม่อยากให้ภาพของเธอต้องปรากฏอยู่ในหนังสือเลย ในขณะที่บางส่วนพร้อมที่จะเล่าเรื่อง และอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ผ้าคลุมและระบุตัวตนไม่ได้เท่านั้น” ช่างภาพสาวกล่าว
Maj ตัดสินใจไม่เปิดเผยชื่อที่แท้จริงของพวกเธอและตำแหน่งของเรือนจำที่เธอไปลงพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของเหล่านักโทษหญิง
“ฉันไม่อยากทำให้ผู้อ่านสับสน (ด้วยการใช้ชื่อจริงปนกับนามสมมติ) และสิ่งแรกที่ฉันต้องคำนึงถึงก็คือการปกป้องแหล่งข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน”
แต่แน่นอนว่าเธอจะร้อยเรียงเรื่องราวที่ได้ฟังมา เธอเจอนักโทษหญิงที่ถูกกระทำชำเราและตั้งครรภ์ในเวลาต่อมา ชุมชนของนักโทษหญิงจัดตั้งสภาอาวุโส (jirga) ที่ประกอบไปด้วยผู้ชายที่พิพากษาข้อหานี้ตามคำสอนของอิสลาม ซึ่งเธอถูกตัดสินให้โดนปาก้อนหินจนต้องถึงแก่ชีวิตเพราะเธอ ‘ก่ออาชญากรรมทางศีลธรรม’ ด้วยการผิดประเวณีกับผู้ที่สมรสแล้ว
ในความหวังอันริบหรี่ พ่อของเธอเขียนจดหมายไปหาองค์กรท้องถิ่นให้ผ่อนผันโทษของบุตรสาว เธอจึงถูกจับกุมและคุมขังแทน ผู้ต้องหาสาวเล่าให้ Maj ฟังว่า ครอบครัวของเธอและครอบครัวของชายผู้ข่มขืนพยายามที่จะจัดงานแต่งงานขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิทางกฏหมายต่อเด็ก แต่ผู้ที่ข่มขืนเธอไม่ยินยอม
“ในขณะที่เธอกำลังเล่าเรื่องนี้ให้ฉันฟัง ลูกของเธอก็กำลังเล่นอยู่บนพรมข้างๆ เรานี่แหละ ส่วนมากครอบครัวของพวกเธอไม่เดินเรื่องอะไรเลย พวกเขาจะอยู่เฉยๆ” Maj เล่า
ช่างภาพสาวที่เคยมีผลงานตีพิมพ์เรื่องราวในอิรัก ศรีลังกา และซีเรีย เดินทางไปเจอนักโทษหญิงที่โดนข้อหาฆาตกรรม แม้กระทั่งนักโทษที่โดนข้อหาฆาตกรรมเหยื่อผู้ชาย 27 ราย ซึ่งเธอเองก็ไม่ประสงค์ในการให้ความเห็นว่านักโทษหญิงเหล่านี้มีความผิดจริงหรือบริสุทธิ์
“การถูกริบอำนาจอย่างร้ายกาจของผู้หญิงเหล่านี้มักมีผลมาจากสถานการณ์ที่พวกเธอจนตรอก ไม่สามารถแบกรับอะไรได้อีกแล้วบนไหล่อันบอบบาง และฉันก็ตัดสินใจแล้วว่าเรื่องราวที่อยู่ในโปรเจ็กต์นี้จะไม่มีการชี้ถูกชี้ผิดอะไรทั้งสิ้น” Maj ย้ำ
เด็กที่เติบโตขึ้นมาในคุกจะทำอะไรได้ นอกจากไม่ได้เรียนหนังสือ พวกเขาต้องเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่เป็นอันตรายเพราะถึงแม้ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะถูกพิพากษาในข้อหา ‘ก่ออาชญากรรมทางศีลธรรม’ แต่บางคนก็เป็นฆาตกรจริงๆ
“ในคุกมีครบทุกรสชาตินั่นแหละ เด็กๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางมาก” Maj กล่าว
เมื่อพวกเขาอายุได้ 5 หรือ 7 ปี ก็ต้องจากแม่ไปอยู่ที่อื่น เด็กบางคนหาบ้านอยู่ได้ บางคนอยู่กับญาติหรืออยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนก็ต้องร่อนเร่ไปตามถนน
ที่ร้ายแรงกว่าการถูกขังอยู่ในเรือนจำ คือภาวะซึมเศร้าของนักโทษ พวกเธอมักเขียนในแบบสอบถามของ Maj เกี่ยวกับแผนในอนาคตว่า “ฉันจะต้องถูกฆ่า” โดยครอบครัวหรือสังคมที่เชื่อว่าผู้หญิงจะนำมาซึ่งความอับอายฉิบหาย
ความหวังของเธอคือหนังสือภาพ Almond Garden จะส่งผลไกลไปถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่กฏหมาย มีการอนุมัติการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (Elimination of Violence Against Women(EVAW)) ซึ่งเป็นกฏหมายของอัฟกานิสถานที่มีผลในปี 2552 ที่จะลงโทษผู้ที่กระทำชำเรา การคลุมถุงชน (forced marriage) ความรุนแรงภายในประเทศและข้อหาอื่นๆ ที่สภาไม่ยินยอมอนุมัติเสียที
ในขณะเดียวกัน ภารกิจของเธอก็มุ่งผลเรื่องการรายงานความคืบหน้าเรื่องความเป็นไปของสิทธิมนุษยชนด้วย
“ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน ถึงแม้เป็นคนละเชื้อชาติ แต่ฉันก็ต้องเก็บเรื่องราวของปัจเจกและบันทึกประสบการณ์ของพวกเธอไว้ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลให้ชีวิตของพวกเธอร้าวราน” Maj กล่าว
“แรงขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ไม่ได้มาจากใครเลยนอกจากผู้หญิงด้วยกัน พวกเธอผ่านอะไรบางอย่างมาและกระตือรือร้นที่จะบอกเล่า ฉันหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่าหนังสือเล่มนี้อาจเป็นข้อแก้ต่างให้พวกเธอได้บ้างไม่มากก็น้อย”
นักโทษหญิงคนหนึ่งขอเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนที่ Maj จะถ่ายภาพของเธอด้วยเหตุผลที่ว่า
“ฉันอยากดูเป็นคนสวยคนหนึ่ง”
ดูรายละเอียดของหนังสือได้ที่ http://www.almondgarden.net
http://www.gabrielamaj.com/index.php?/info/