“ไม่ผิดทำไมต้องขอโทษ” คำพูดของเยาวชนนักข่าวพลเมือง ที่มาพร้อมกับคำถามถึงสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกในสิ่งที่คิดและเชื่อ ซึ่งเราคงละเว้นการให้ความสนใจไปไม่ได้ท่ามกลางกระแสข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง นับจากข่าวเยาวชนชั้น ม. 4 ถูกบริษัททุ่งคำ จำกัด ดำเนินการทางคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท 2 ชั้นซ้อน ทั้งการขออนุญาตฟ้องคดีผ่านสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย และการแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ซึ่งให้ไปรายงานตัวในวันที่ 30 ธ.ค.นี้
ด้วยมูลเหตุจากการรายงานข่าวบอกเล่าถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชนพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ของสถานีโทรทัศน์ TPBS
ถึงกรณีที่ปรึกษากฎหมายในฐานะตัวแทนของบริษัทเหมืองทองเข้าพูดคุยนัดหมายกับ ผอ.โรงเรียนศรีสงครามวิทยาให้พาเยาวชนนักข่าวพลเมืองไปเจรจาร่วมกันที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยในวันพรุ่งนี้ (29 ธ.ค.2558) เพื่อให้ขอโทษแลกการถอนฟ้อง
แม้ข้อมูลล่าสุดจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะระบุว่า ผอ.สถานพินิจฯ ได้โทรแจ้งแม่ของเยาวชนนักข่าวพลเมืองแล้วว่าพรุ่งนี้ไม่ต้องไปที่สถานพินิจ โดยสถานพินิจฯ ได้นัดหมายพูดคุยเพียงบริษัทเหมืองทองในเวลา 9.00 น.
คำว่า “ให้ขอโทษเพื่อให้เรื่องนี้จบๆ ไป” ของผู้ใหญ่ สำหรับเยาวชนชั้น ม.4 มันไม่ได้จบเรื่องราวความขัดแย้งที่มีในพื้นที่
แต่คำถามของเธอคือคำว่าจบนั้นมันจะจบอย่างไร?
“ที่จะให้ขอโทษ มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ มันเป็นเรื่องใหญ่ทั้งชีวิตของเราเลย ขอโทษเพื่ออะไร ขอโทษก็แสดงว่าเราโกหก” เยาวชนนักข่าวพลเมืองกล่าว
เยาวชนนักข่าวพลเมืองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (28 ธ.ค) ให้ฟังว่า เวลาประมาณ 12.50 น.ได้รับโทรศัพท์จาก ผอ.โรงเรียนศรีสงครามวิทยาบอกว่าอยากให้ไปคุยเรื่องที่ถูกฟ้องร้องที่สถานพินิจฯ เพราะวันนี้ตัวแทนเหมืองเข้ามาคุยกับผู้อำนวยการฯ
สิ่งที่ผู้อำนวยการฯ ต้องการคือ “ให้ไปขอโทษ ให้เรื่องมันจบๆ เพื่อไม่ให้เหมืองมาวุ่นวายอีก”
“อยากจบแบบให้เหมืองทองปิด เราจะได้ไม่ยุ่งยาก ให้เป็นตัวอย่างไปเลย” เยาวชนนักข่าวพลเมืองกล่าวถึงความมุ่งหมายของเธอ และบอกด้วยว่า “อยากให้ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว”
ความกังวลของเธอคือการพูดว่า “จบๆ ไป” นั้นมันไม่ได้จบ เพราะเธอได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองในพื้นที่แล้ว หากต้องทำตามที่ ผอ.โรงเรียนฯ บอก เธอตั้งคำถามว่าเธอจะถูกคนมองอย่างไร ทั้งกลุ่มชาวบ้านฯ ที่ร่วมสู้กันมา ทั้งคนอื่นๆ ที่จะมองว่าสิ่งที่เธอพูดไปนั้นคือสิ่งที่ผิด และที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็จะยังไม่ถูกแก้ไข
“หนูไม่ผิด ถ้าขอโทษก็แสดงว่าสิ่งที่หนูพูดมันผิด” นอกจากนี้เธอยังคงยืนยันถึงสภาพปัญหาของลำน้ำซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่กล้าใช้ดื่มใช้กิน ซึ่งเป็นความจริงที่เธอและเพื่อนต่างก็รับรู้มานาน
พร้อมๆ กันกับความรู้สึกที่ว่า ตัวเองกำลังถูกละเมิดสิทธิ์
เธอก็กลัวว่าจะสู้หน้า ผอ.โรงเรียนฯ ไม่ได้ ที่ทำให้ต้องลำบาก อีกทั้งในความคิดของเธอแล้ว ผอ.โรงเรียนฯ เป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเอาเธอออกจากโรงเรียนเมื่อไหร่ก็ได้
แต่สุดท้ายเธอเลือกแนวทางที่จะไม่ขอโทษ และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเรื่องราวยุ่งยากทางคดีความ
“รู้สึกว่าต้องพร้อม ต้องต่อสู้ไปกับพวกแม่ๆ เพราะสู้กันมาถึงขั้นนี้แล้ว”
ท่ามกลางสภาพกดดันและความคาดหวังที่รายรอบตัว ความเข้มแข็งในความคิดความเชื่อของตัวเองดูเหมือนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเยาวชนอายุ 15 ปีคนหนึ่ง
“ถ้าให้เอาแต่ประโยชน์ตัวเอง หนูไม่เอา เอาส่วนรวมไว้ก่อนหนูเป็นคนแบบนั้น หนูไม่ใช่คนแบบเห็นแก่ตัว” เยาวชน ชั้น ม.4 จากวังสะพุง กล่าว
เยาวชนนักข่าวพลเมืองบอกด้วยว่าครั้งแรกที่รู้ว่าโดนฟ้องก็รู้สึกตกใจ ไม่รู้ว่าไปทำอะไรให้เขาถึงต้องฟ้องคดี แต่ตอนหลังได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ทั้งเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่ให้กำลังใจ ส่วนคุณครูก็เข้าใจว่าจริงๆ เธอทำก็เพื่อหมู่บ้านของตัวเอง
เธอเล่าว่า เพื่อนในห้องและคนทั้งโรงเรียนรู้เรื่องนี้หมดแล้ว ก็มีคนเข้ามาถามด้วยความเป็นห่วงว่าเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องที่ต้องไป สน.มีนบุรีคุณครูก็เป็นห่วง อยากให้เรื่องมันจบเร็วๆ
“เป็นใครก็ต้องกลัวเรื่องโดนฟ้อง เรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล”
เมื่อถามถึงสิ่งที่เป็นพลังใจให้เธอ เยาวชนนักข่าวพลเมืองเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีพี่ๆ นักกิจกรรมทำเพจรวบรวมชื่อให้เหมืองทองถอนฟ้องคดีที่ตอนนี้มีคนลงชื่อกว่า 2,000 คนแล้ว (ล่าสุดเข้าสู่วันที่ 4 แคมเปญ change.org มีผู้สนับสนุน 9,287 คน) ในเฟซบุ๊กเองก็มีทั้งพี่ๆ และน้องๆ เขียนขอความให้กำลังใจ ทั้งยังได้เห็นว่ามีคนแต่งเพลงให้ และเขียนการ์ตูนเรื่องราวของเธอด้วย ทำให้เธอมีพลังใจ
“ขอบคุณทุกๆ คนที่ให้กำลังใจมา” เธอฝากข้อความถึงทุกพลังที่ส่งให้
“หนูยังมีกำลังใจดีค่ะ”