องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และกรรมการนักศึกษาทุกคณะแถลงการณ์ร่วม เสนอชะลอ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับฟังเสียงประชาคมธรรมศาสตร์ก่อน ด้านเพจเฟซบุ๊กธรรมศาสตร์ไหมละมึง โพส 4 ข้อที่ชาวธรรมศาสตร์ควรรู้เกี่ยวกับ ม.นอกระบบ
ที่มาภาพ: ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง?
29 เม.ย. 2558 เวลาประมาณ 12.30 น. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการนักศึกษาทุกคณะ ร่วมกันจัดแถลงข่าว ขอให้มีการชะลอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. … หรือการนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ อีกทั้งยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อจากนักศึกษาและประชาคมในธรรมศาสตร์ ที่โถงอาคาร SC มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่เวลา 11.00 น.
สถาพร เสนาวงศ์ เลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าวว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษายังคงเป็นข้อเรียกร้องเดิม คือ แต่เพิ่มเติมการขอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกไปก่อน เพื่อให้ประชาคมธรรมศาสตร์มีเวลาในการเผยแพร่และอภิปรายข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว และให้ตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวความคิดเห็นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ข้อเรียกร้องต่อมาคือให้แก้ไขเนื้อหาของร่างกฏหมาย ให้มีตัวแทนนักศึกษาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งในส่วน ผู้บริหาร พนักงานมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ต่างมีตัวแทนของตัวเอง แต่ในส่วนของนักศึกษาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่จำนวนกว่า 30,000 คน กลับไม่มีตัวแทนของตนเองเข้าไปนั่งในที่ประชุมที่กำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 นักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในการประชุมครั้งที่ 3 จนถึงครั้งสุดท้าย และคณะกรรมาธิการก็ได้มีมติให้แก้ไข โดยเพิ่มนายกองค์การนักศึกษาและประธานสภานักศึกษาเข้าไปในกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 21 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 3 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ
สถาพร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาองค์การนักศึกษาฯ และสภานักศึกษาฯ มีการเคลื่อนไหวเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในร่างกฎหมายดังกล่าว โดยได้ยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. …. สนช. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั่งได้เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. แต่ตอนหลังกลับพบว่า การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้วก่อนหน้านั้น การเสนอความคิดเห็นของนักศึกษาจึงเปล่าประโยชน์ กลายเป็นเพียงพิธีของการมีส่วนร่วม ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“เราไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ แต่เราอยากมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรม เราต้องการร่วมกำหนดทิศทางเดินของมหาวิทยาลัยว่าจะไปในทางไหน” สถาพร กล่าว
สถาพร กล่าวในส่วนข้อกังวลว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ หรือมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีโรงพยาบาลและส่วนงานในด้านการวิจัย ที่ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ ทำให้เกรงว่าจะเกิดความคิดมุ่งหาเงินจากนักศึกษา เช่น ในอนาคตอาจมีการเปิดโครงการพิเศษมากขึ้น มีการขึ้นค่าเทอม หรือขึ้นค่าใช่จ่ายในชีวิตประจำวันอื่นๆ โดยขาดการมีส่วนร่วมจากนักศึกษา เพราะเราไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เรื่องนโยบาย
“เราต้องการร่วมเขียนกฎหมายของเรา เพื่อใช้กับเราเอง” สถาพร กล่าว
ส่วนกิจกรรมรวบรวมรายชื่อ เลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ยังคงจะมีการรวบรวมรายชื่ออย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางออนไลน์ จากนั้นจะนำรายชื่อที่รวบรวมได้ไปมอบให้แก่ประธาน สนช.และ สนช.ที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาคมธรรมศาสตร์ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วม โดยคาดว่าจะยื่นก่อนวันที่ 7 พ.ค. 2558 ซึ่งจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมหารือต่อกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังจะออกนอกระบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และร่วมลงชื่อสนับสนุนแนวทางการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำหนดบทบาทการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยไปพร้อมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย อีกทั้งมีการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ธรรมศาสตร์ไหมละมึง เผยแพร่ “สิ่งที่ชาว มธ.ควรรู้เกี่ยวกับ ม.นอกระบบ” ระบุเป็น ข้อมูลฉบับย่อยง่ายรวดเร็ว สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่สุดของชาว มธ. ขณะนี้
เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ตั้งแต่การทำเพจนี้มาที่ผมต้องการจะบอกทุกคนให้ทราบนะครับ ต้องบอกก่อนว่า อันนี้เป็นข่า…
Posted by ธรรมศาสตร์ไหมละมึง on Tuesday, April 28, 2015