“ขณะที่คุณอ่านข้อความนี้ หลายคนอาจกำลังเตรียมตัวไปเที่ยวปีใหม่กัน แต่มีเด็กน้อย ม.4 คนหนึ่งที่จะต้องไปรายงานตัว”
ถ้อยคำที่ระบุในแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org โดย เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เรียกร้องให้บริษัททุ่งคำ จำกัด (เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย) และผู้ถือหุ้นถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่อนักเรียนชั้น ม. 4
แคมเปญรณรงค์ ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2558 ระบุว่า นักเรียน ม.4 คนหนึ่ง ได้เข้าไปร่วมค่ายเยาวชน “ฮักบ้านเจ้าของ” ซึ่งเป็นค่ายที่ให้เด็กๆได้เรียนรู้ สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาเพื่อให้เด็กๆ รู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน และเห็นความสำคัญระหว่างสิ่งแวดล้อมกับตนเอง
จากนั้นได้มีหมายเรียกให้ไปรายงานตัว จากการพูดสิ่งที่ได้รับรู้ผ่านตา กระทบกับความคิด และสื่อสารออกมาจากใจ ด้วยการรายงานเกี่ยวกับค่ายเยาวชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ของสถานีโทรทัศน์ TPBS
สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ออกหมายเรียกคดีความอาญา ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาว่า เยาวชนนักข่าวพลเมืองหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนต์ และให้ไปที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ในวันที่ 30 ธ.ค. 2558 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ หมายเรียกผูต้องหา ส่งถึงมือเยาวชนนักข่าวพลเมือง ในวันที่ 23 ธ.ค. 2558 วันเดียวกับที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ เรื่องกรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจของเด็ก
“อยากทำให้น้องๆ และชาวบ้านรู้ว่า นอกจากพวกเรา ยังมีคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องคดีของเหมือง” อนุสรณ์ หนองบัว อาสาสมัครโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กลุ่มกิจกรรมซึ่งเข้าไปจัดค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอนนักสืบลำน้ำฮวย แท้ๆ แน๊ว ซึ่งถูกนำเรื่องราวมาเสนอจนเป็นเหตุของการฟ้องคดีและได้สร้างการรณรงค์ทางออนไลน์ครั้งนี้กล่าว
อนุสรณ์ กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ และอีกด้านหนึ่งจะช่วยกระจายข้อมูลที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เล็กๆ ของประเทศไทยนี้ โดยนำเสนอข้อมูลลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้คนรับรู้ว่าการฟ้องร้องที่ไม่น่าเกิดขึ้นนี้มีความเป็นมาอย่างไร
อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การรณรงค์ครั้งนี้ต้องการให้มีการถอนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อนักเรียน ม.4 ทั้งในกระบวนการแจ้งข้องกล่าวหาผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการฟ้องคดีเอง ซึ่งขณะนี้กระบวนการทางคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลยว่าจะอนุญาตให้ฟ้องคดีหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2558 เยาวชนนักข่าวพลเมือง และผู้ปกครอง ได้หนังสือ ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2558 จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ขอเชิญไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติ โดยได้ส่งหนังสือแนบมาด้วยคือ หนังสือขออนุญาตฟ้องเยาวชนในคดีอาญา ลงวันที่ 27 พ.ย. 2558
อาสาสมัครโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดคดีครั้งแรกกลุ่มคนรุ่นใหม่ฯ ก็มีการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของในการจัดค่ายเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้บ้านเกิด และมีการลงไปพูดคุยให้กำลังใจเยาวชนในพื้นที่ซึ่งต่างก็รู้สึกตกใจกลัวกับคดีความที่เกิดขึ้น แต่การได้เข้าไปให้ข้อมูลและให้กำลังใจทำให้เยาวชนหลายคนคลายความกังวล แต่ทางผู้ปกครองไม่อยากให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอีกเพราะกลัวมีคดีความตามมา
“ไม่เข้าใจ ทำไมเหมืองทองจึงตัดสินใจฟ้องเยาวชน” อนุสรณ์ กล่าว
อนุสรณ์ ให้ความเห็นว่าสิ่งที่บริษัทเหมืองแร่ต้องการคือการข่มขู่ให้ชาวบ้านกลัวด้วยการฟ้องคดี และทำให้คนที่เข้ามาจัดกิจกรรมกลัว จะได้ไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่อีก ทำให้ทิ้งชาวบ้านไป แต่นั่นคือสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น
“ไม่ว่าเหมืองจะดำเนินการอย่างไร หรือน้องจะตัดสินใจอย่างไร เราก็จะยืนอยู่ข้างน้อง” อาสาสมัครโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ฯ กล่าว พร้อมระบุว่าในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ หากทางตำรวจไม่เลื่อนนัดหมาย กลุ่มคนรุ่นใหม่ฯ ก็จะเดินทางไปให้กำลังใจที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากกรณีเดียวกัน บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นฟ้องนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงนักข่าวพลเมือง พร้อมด้วยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้บริหารไทยพีบีเอส เป็นจำเลยรวม 5 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท
หมายนัดไต่ส่วนมูลฟ้องลงวันที่ 12 พ.ย. 2558 คดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 นัดวันที่ 21 มี.ค.ปีหน้า
สำหรับแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org “เรียกร้องให้บริษํททุ่งคำและผู้ถือหุ้นถอนฟ้องน้องพลอย นักข่าวพลเมือง” เริ่มรณรงค์ออนไลน์ไป 1 วัน มีผู้สนับสนุน 1,094 คน
ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งบริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ถือหุ้นอยู่ 98.86 เปอร์เซ็นต์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2534 หลังจากชนะการประมูลพื้นที่และได้รับประทานบัตร ใน จ.เลย และในปี 2538 จึงได้ส่งแผนการทำเหมืองแร่และยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำ
ในปี 2546 กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำ 6 แห่งแก่ บริษัท ทุ่งคำจำกัด ครอบคลุมพื้นที่ 2.07 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่เพิ่มอีก 91.02 ตารางกิโลเมตรใน อ.วังสะพุง และ อ.เมือง จ.เลย ซึ่งประกอบไปด้วยการยื่นคำขอประทานบัตรจำนวน 114 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 52.62 ตารางกิโลเมตร และ คำขออาชญาบัตรพิเศษจำนวน 8 แปลง เนื้อที่รวม 38.4 ตารางกิโลเมตร)
การพัฒนาโครงการและการก่อสร้างโรงแต่งแร่ทองคำแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2549 และเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.2549
ข้อมูลเหมืองแร่ทองคำ: http://www.tongkahharbour.com/indexTHL_TH.html