เสวนาเฟรชชี่: ความเป็นมนุษย์แนวราบในการรับน้อง

เสวนาเฟรชชี่: ความเป็นมนุษย์แนวราบในการรับน้อง

unnamed (3)

เรื่องเเละภาพ: กองบรรณาธิการ

23 สิงหาคม ที่ผ่านมา ThaiPBS และ เว็บไซต์ AfterShake จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘เฟรชชี่ – ห้ามจีบ… ห้ามรัก… ห้ามว้ากน้อง’ ที่ชั้น 2 อาคารกิจกรรมนักศึกษา ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ปทิตตา มาประเสริฐ – นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา / กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ธารินทร์ เมตตา – ตัวเเทนนักศึกษาที่อยู่ในระบบ Sotus จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ – กลุ่มสมัชชาเสรีเเห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมี วิภาพร วัฒนวิทย์ จาก ThaiPBS ดำเนินการสนทนา

บ่ายสี่โมงเย็น เราเดินผ่านลานโพธิ์ หน้าตึกศิลปศาสตร์ สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งนักศึกษารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2516  เพื่อไปฟังงานเสวนาดังกล่าว

unnamed (4)

ธารินทร์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนิสิตจากเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่แรกๆ ของระบบโซตัสในประเทศไทย การที่ต้องมีรับน้องเข้มข้น โดยเฉพาะคณะวนศาสตร์ เพราะหลังจบการศึกษา ต้องเจอภาวะการงานที่ไม่สวยหรู อย่างงานป่าไม้

“พอผมได้ไปฝึกงาน แรงกดดันมันยิ่งกว่าแรงว้าก คุณไปเจอคนตัดไม้ ไปเจอสัตว์ป่า รับน้องเราทำเพื่อให้เขาสามารถไปอยู่กับสังคมแบบนี้ได้ อีกเรื่องหนึ่งคือความสามัคคี ระบบโซตัสไม่ได้ให้อำนาจรุ่นพี่ แต่คือการที่รุ่นน้องเคารพพี่ และรุ่นพี่ให้เกียรติน้อง”

นิสิตจากเกษตรศาสตร์ชี้แจงว่า การรับน้องแต่ละครั้งมีกระบวนการ มีการเตรียมการ ผ่านการคุย ประชุม ถกเถียง มาหลายครั้ง

“ถ้าไม่มีกระบวนการที่หลอมรวมให้คนต่างที่ต่างถิ่นเข้ามารวมกัน ถ้าเป็นอิสระจริงๆ จะทำกันหรือเปล่า เอาจริงๆ ถ้าเทียบกับคำว่าโซตัสสมัยก่อน ก็เปลี่ยนมามากพอสมควรแล้ว บางสิ่งที่ผมพูด ผมบอกน้องว่า ถ้ามันไม่เหมาะสม ก็ให้มันหยุดแค่นี้ อย่าให้มันมีต่อ สิ่งที่ผมพยายามถ่ายทอดคือต้องการให้กับน้องจริงๆ”

“ถ้าระบบนี้ยังถูกมองว่าเป็นการกดขี่สิทธิเสรีภาพ ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับน้องแบบนี้มันจะหายไป เพียงแต่ถ้ามันจะหาย ก็อยากให้มันหายไปอย่างที่ความเป็นน้องเป็นพี่คงอยู่ แต่ผมว่าในปัจจุบัน สิ่งนี้ยังจำเป็นอยู่ครับ”

unnamed (1)

ปทิตตา ถามกลับว่า การรับน้องนั้นมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร นั่นแหละคือประเด็นสำคัญ

“เคยรับน้องตอนเข้าชั้น ม.4 กิจกรรมที่ชอบมากสุดคือการบายศรี มันคือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ดีงาม ตอนนั้นรุ่นพี่เข้ามาพูดว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเข้าเตรียมอุดม อาจเหนื่อย อาจลำบาก มีอะไรปรึกษาพี่ได้นะ มันทำให้เรารู้สึกว่า พี่คนนี้น่านับถือ พี่คนนี้ปรึกษาได้ การที่รุ่นน้องจะเคารพรุ่นพี่ ไม่ควรเป็นการบังคับว่า ฉันแก่กว่าเธอ เธอต้องเคารพฉัน คือมันมีอีกหลายทางที่ทำให้น้องเคารพได้”

เธอเสริมว่า เด็กปัจจุบันมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการความเคารพซึ่งกันและกัน รับน้องแบบไหนถ้ารับไม่ได้จริงๆ คงต้องพูดกันตรงๆ

ประสิทธิ์ มองว่า การทำกิจกรรมใดๆ ไม่ควรเป็นเรื่องบังคับ ควรเป็นกิจกรรมเปิด ใครอยากร่วมก็ร่วม ที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรับน้อง ว่าต้องการผลิตคนแบบไหนออกสู่สังคม  

“สิ่งที่ไม่ชอบคือเรื่องของการกดทับ การสร้างสังคมขึ้นมาแล้วให้คนคิดตามทั้งหมด มันมีวิธีการบางอย่าง เช่น การเช็คยอด ใช้มาตรการทางสังคม ไม่ให้ตรารุ่น ไม่ให้โน่นนี่  มันต้องวางเป้าหมายว่าเราออกแบบกิจกรรมไปเพื่ออะไร การรับน้องจะนำไปสู่สองสิ่งได้อย่างไร คือการจัดการเชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง และมหาวิทยาลัยในอุดมคติของพวกคุณเป็นแบบไหน เป็นประชาธิปไตยหรือไม่”

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า การอัดกรอบความคิดจากรุ่นพี่ส่งต่อๆ กันมา เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน

“คือสิ่งที่ดี รุ่นพี่ทำมา สืบทอดกันมา มันมีคำพูดหนึ่งที่มักได้ยินตลอดคือ ถ้าไม่ดีจริงจะอยู่ได้ถึงทุกวันนี้หรือมันจำเป็นไหมครับว่า สิ่งไม่ดีจะอยู่ไม่ได้ เพราะสิ่งที่ดีก็ยังหายไปได้อยู่ดี อีกอย่าง มันเป็นเรื่องโครงสร้างสังคมไทย คือต้องยอมรับว่ายังมีระบบที่เป็นระบบอุปถัมภ์อยู่

“เราต้องกลับมาที่ความเข้าใจในความเป็นคน คือเรายังมองว่ามีคนสูงกว่าเรา คือถ้าจะเปลี่ยนได้ต้องให้คนทำความเข้าใจในตัวเองว่า มีสิทธิเสรีภาพ คือเข้าใจในความเป็นคนของตัวเอง”

 unnamed (2)

ผศ.ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตว่า  ถ้ารุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ แล้วรุ่นพี่ต้องเคารพรุ่นน้องหรือไม่ ถ้าใช่ อย่างนั้นแสดงว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องเคารพซึ่งกันและกันสิ แต่ที่ผ่านมา ในระบบโซตัสคือระบบที่รุ่นน้องต้องเคารพและเชื่อฟังรุ่นพี่ เพราะรุ่นพี่มีอำนาจ ส่วนรุ่นน้องมีหน้าที่ต้องทำ มันคือสังคม ‘แนวดิ่ง’ เป็นสังคมอำนาจนิยม ซึ่งเริ่มต้นจากโรงเรียนเตรียมทหาร

“ไม่ต้องไปพูดถึงว่าเราปกครองด้วยระบบอะไร บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะสีผิวอะไร เรามีความเป็นคนเท่ากันไหม พอเรามีความเป็นคนเท่ากัน บวกกับระบบประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนหลักการความเชื่อที่ว่า ทุกคนเสมอกัน คือมีเงินมากกว่าก็เป็นเพียงแค่ความแตกต่าง เหมือนผมอยู่กับนักศึกษา ผมเป็นรองอธิการบดี นักศึกษาเป็นนักศึกษา เราต่างกันที่บทบาท หน้าที่ แต่เราเสมอภาคกัน”

อาจารย์ปริญญาบอกว่า ประชาธิปไตยคือสังคมแนวราบ ความรัก ความสามัคคี เป็นเรื่องดี แต่ต้องทำโดยที่เราเท่าเทียมกัน

“ในอีกด้านหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมโซเชียลมีเดีย ในเฟซบุ๊คคุณจะเป็นใคร คุณมีหนึ่งไลค์เท่ากันครับ ซึ่งปัจจัยนี้จะทำให้การรับน้องแบบอำนาจนิยมถูกต่อต้านมากขึ้นแล้ว ยุค 14 ตุลา คือยุคที่พ่อแม่เลี้ยงลูกบังคับ ยุคพฤษภา 35 เป็นยุคครึ่งๆ รุ่นนี้ เติบโตในแบบใช้เหตุผลหมดแล้ว ถ้าระบบรับน้องไม่ปรับ มันหมดไปเอง”

เมื่อถามถึงการรับน้องยังมีความจำเป็นอยู่ไหม อาจารย์ปริญญาตอบว่า อยู่ที่วัตถุประสงค์

“ผมว่านักศึกษาจัดกิจกรรมอะไรก็ทำไปเถอะ ถ้าเป็นเรื่องการเรียนรู้ เป็นเรื่องดีนะครับ เพราะว่านักศึกษาใหม่มาเรียน เขาอาจไม่รู้ว่าจะลงทะเบียนยังไง โรงอาหารอยู่ไหน เดินออกไปตรงนั้นข้ามไปฝั่งโน้นมีเกาเหลาอร่อยนะ ถ้าวัตถุประสงค์คือเป็นไปเพื่อสิ่งนี้ เรียนรู้ ทำเพื่อรู้จักกัน เป็นสิ่งที่ดี”

สุดท้าย อาจารย์ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า ที่ประชาธิปไตยอาจล้มเหลว เพราะคนที่มีบทบาทในสังคมส่วนใหญ่ คนที่เข้าไปบริหารประเทศราว 90 เปอร์เซ็นต์ จบมหาวิทยาลัยซึ่งมีการศึกษาแบบแนวดิ่ง

“ไม่แปลกใจทำไมประชาธิปไตยไทยไม่ไปไหนสักที” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ