“จิตใจที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้” จม.จากกระบี่ ถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์

“จิตใจที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้” จม.จากกระบี่ ถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์

17 ก.พ. 2559 เพจเฟซบุ๊กหยุดถ่านหินกระบี่ เผยแพร่จดมายเปิดผนึกลงนามโดยประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ 3 ฝ่ายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ‘ถ้าใจไม่เป็นธรรม กรรมการ 3 ฝ่ายก็จะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งอันใหม่’ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ มีแผนเข้าระบบผลิตไฟฟ้าในปี 2561-2562 โดยสร้างในพื้นที่ของ กฟผ.ที่ อ.คลองขนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้ากระบี่เดิม ซึ่งใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า มีกำลังผลิต 340 เมกะวัตต์ และจะใช้เส้นทางเดินเรือบ้านคลองรั้วขนส่งถ่านหิน ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันและกินน้ำลึกเท่ากับเรือขนส่งน้ำมันเตาในปัจจุบัน

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) มีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 แห่ง กำลังการผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.มุ่งผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งได้จัดรับฟังความคิดเห็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา และโรงไฟฟ้าเทพา 1,000 เมกะวัตต์ รับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ไปเมื่อปลายเดือน ก.ค.2558 

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 19 ก.พ.นี้ ประชาชนจากเทพา สงขลา และปัตตานีเองก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่กรุงเทพฯ

สำหรับ จดมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ มีรายละเอียด ดังนี้

20161702174617.jpg

จดมายเปิดผนึกถึง พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ 
ประธานกรรมการ 3 ฝ่ายกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

‘ถ้าใจไม่เป็นธรรม กรรมการ 3 ฝ่ายก็จะกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งอันใหม่’

การเรียกร้องมานานหลายปีของชาวกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงต่อการหยุดยั้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น รัฐไม่เคยได้ยินตลอดมา ปล่อยให้เสียงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดังกลบทำเนียบรัฐบาลมาเป็นเวลานาน จนประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ต้องมานั่งอดข้าวประท้วงเป็นเวลา  14 วัน เอาความยากลำบากมาแลกกับการที่รัฐบาลจะฟังเราบ้าง การดำเนินการครั้งนั้นส่งผลให้เสียงของประชาชนดังลอดเข้าไปในทำเนียบได้บ้าง นำมาสู่การการเจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อตกลง 3 ประการ 

อยากให้พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ จำ 3 ประการนี้ไว้ให้ดี ข้อแรก คือการหยุดกระบวนการพิจารณาอนุมัติรายงานอีไอเอ ข้อสองหยุดการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ข้อสามคือกระบี่ขอผลิตไฟฟ้าเองจากโรงงานปาล์มโดยขอเวลารัฐบาลพิสูจน์ 3 ปี ภายใต้การสนับสนุนเรื่องสายส่งของรัฐบาล 

นี่คือ 3 ประการ ของข้อเรียกร้องในคราวนั้น ข้อเรียกร้อง 2 ข้อแรกได้รับการปฏิบัติ แต่ข้อที่สามรัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจจึงขอตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาข้อเสนอนี้โดยให้มีองค์ประกอบของบุคคล 3 ฝ่ายคือ ประชาชน ราชการและ สนช. แต่กว่าจะมีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายใช้เวลาเกือบครึ่งปี 

ครั้งนั้นเรามีคำถามว่าทำไมต้องใช้เวลาถึงครึ่งปี วางเกมส์อะไรกันอยู่หรือเปล่า?

ครั้นเมื่อมีการแต่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว หน้าที่ของกรรมการระบุชัดในคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีลงนามว่า ขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องของชาวกระบี่ คำว่าข้อเรียกร้องจึงหมายถึงข้อ 3 คือการพิจารณาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโรงปาล์ม แต่เมื่อมีการประชุมกรรมการ 3 ฝ่าย พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ กลับตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วยชุดพลังงานหมุนเวียน ชุดอีไอเอ และชุดติดตามรับฟังความเห็น ปัญหาจึงมีอยู่ว่าทำไมจึงตั้งกรรมการขึ้นมา3ชุดในเมื่อข้อเรียกร้องที่จะต้องพิจารณามีข้อเดียวคือเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากโรงปาล์ม ต้องการให้ภาพมันเบลอใช่หรือไม่ หรือต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับรายงานอีไอเอของ กฟผ. 

การตั้งกรรมการขึ้นมา 3 ชุดจึงดูเหมือนขัดกับข้อเรียกร้องของชาวกระบี่ที่มีต่อนายกรัฐมนตรีในคราวนั้น อย่างไรก็ตามอาจจะเข้าใจได้ว่าพลเอกสกน สัจจานิตย์ ต้องการความชัดเจนทั้งหมดจึงตั้งอนุกรรมการถึง 3 ชุด ต่อประเด็นนี้จึงทำความเข้าใจได้อยู่บ้าง ต่อมาข้อสงสัยในตัวพลเอกสกน สัจจานิตย์ เริ่มมีมากขึ้นเมื่อมีการตั้งที่ปรึกษาขึ้นมา 5 คน ปัญหาคืออะไร?

ปัญหาของการตั้งที่ปรึกษามีอยู่ 2 ประการ ประการแรก ทำไมต้องตั้งที่ปรึกษาขึ้นมาในเมื่อทั้งกรรมการ 3 ฝ่าย และอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด นับรวมแล้วเกือบ 100 ชีวิต ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จำนวนนับ 100 คนนี้ยังไม่เพียงพอเช่นนั้นหรือ? 

ปัญหาประการแรกนั้นน่าสงสัย แต่ปัญหาประการที่สองทำให้เราตั้งข้อสังเกตต่อพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ว่ายังมีความเป็นธรรมต่อการพิจารณาข้อเสนอของจังหวัดกระบี่อยู่หรือไม่ เพราะได้ตั้งที่ปรึกษาขึ้นมา 5 คน 1 ใน 5 คนนั้น มีชื่อว่า นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานบริษัท ปตท. คำถามว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน? ปัญหาอยู่ตรงที่ ปตท.เป็น 2 บริษัทใหญ่ของไทยที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับถ่านหิน ในขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการบริหารของบริษัท ปตท. การตั้งที่ปรึกษาในลักษณะนี้เป็นการเอนเอียงต่อทิศทางการทำงานของกรรมการ 3 ฝ่าย นี่ยังไม่นับรวมที่ปรึกษาอีก 4 คนที่ยังไม่ได้สืบประวัติว่าเกี่ยวข้องอันใดกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกิจการถ่านหินหรือไม่ การตั้งที่ปรึกษาครั้งนี้จึงส่อเจตนาของพลเอกสกน สัจจานิตย์ จนอาจจะนำไปสู่ข้อสงสัยได้ว่าเอนเอียงหรือไม่?

เราจึงขอน้อมเตือนไปยังพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ว่า มีแต่จิตใจที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ จิตใจที่เอนเอียงจะนำมาสู่ปัญหาใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น กรณีกรรมการ 3 ฝ่ายหากยังมีชื่อของที่ปรึกษาซึ่งมีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับกิจการถ่านหิน จะทำให้การทำงานหลังจากนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอาจก่อปัญหาใหม่มาอย่างไม่รู้จบ เราขอเรียกร้องต่อพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ว่าเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายจงจัดการกับรายชื่อที่ปรึกษาเสียใหม่ให้สะอาดโปร่งใส มิเช่นนั้นเราจะขอเรียกร้องร้องให้กรรมการในส่วนของประชาชนจังหวัดกระบี่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะชาวกระบี่ไม่ควรปฏิบัติงานในกรรมการชุดที่มีเจตนาอันน่าสงสัย

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ