แรงงานข้ามชาติ ร้องเรียนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร เหตุนายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด หลังเจรจาร่วมภาครัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง นายจ้างนัดตรวจสอบตัวเลขค่าจ้าง-ค่าล่วงเวลาอีกครั้ง 29 ก.พ.นี้
27 ก.พ. 2558 เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2559 เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (BWRN) แจ้งข้อมูลว่ามีแรงงานข้ามชาติ บริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคลนิ่ง จำกัด ผลิตปลากระป๋อง ซึ่งมีแรงงานทั้งหมด 1,500 กว่าคน เป็นแรงงานไทย 200 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร เรื่องนายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด
อีกทั้งไม่นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบของ พ.ร.บ.ประกันสังคม การลาป่วยแรงงานไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนดและนายจ้างยังหักค่าจ้าง โดยแจ้งในสลิปเงินเดือนของแรงงาน ไม่มีการจัดให้มีวันหยุดพักร้อน วันหยุดประเพณี ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานที่มีกฎหมายแรงงานกำหนดการาคุ้มครองไว้แล้ว แต่นายจ้างไม่ปฏิบัติตาม
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559 กลุ่มแรงงานบริษัทโกลเด้นไพร้ซ์ แคลนิ่ง จำกัด ผลิต ได้นัดเจรจากันภายในบริษัท โดยเป็นการเจรจา 3 ฝ่าย โดยมีฝ่ายหน่วยงานส่วนจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนสวัสดิการจังหวัด และกระทรวงแรงงาน ฯลฯ ฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจาก 16 แผนก (16 คน)
ในการเจรจา ทางตัวแทนลูกจ้างได้เสนอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดย้อนหลังอย่างน้อยร้อยละ75 ซึ่งทางนายจ้างนัดให้ลูกจ้างตรวจสิทธิในวันที่ 29 ก.พ. 2559 ว่าตัวเลขการจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาถูกต้องหรือไม่ และลูกจ้างทั้งหมดต้องเข้าทำงานตามปกติ โดยเริ่มจากเข้าทำงานกะดึกคืนนี้ (26 ก.พ. 2559)
แหล่งข่าวซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ กล่าวว่า ทำงานมานานนับ 10 ปี แต่ไม่เคยได้รับสิทธิหรือสวัสดิการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดขั้นพื้นฐานไว้ และไม่ทราบเรื่องสิทธิตามกฎหมายเลย การที่ออกมาชุมนุมกันนั้นเพราะได้รับรู้ว่านายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายกำหนดขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างที่ได้รับกันนั้นวันละ 240-260 บาท ค่าล่วงเวลาแรงงานข้ามชาติได้ชั่วโมงละ 30 บาท คนไทยได้ชั่วโมงละ 40 บาท ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ด้านสุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (BWRN) กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ของแรงงานข้ามชาตินั้นได้เกิดปัญหามาตั้งแต่ ก.ค. 2558 และได้มีการเจรจาร่วมกับสมาคมทูน่าไทย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนครั้งนี้ลูกจ้างจึงหยุดงานเพื่อขอเจรจากับทางนายจ้างเอง โดยมีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครรับดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนทางกฎหมาย
สุธาสินี กล่าวด้วยว่า ทางผู้แทนแรงงานและเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เตรียมเอกสารหลักฐานทั้งหมดยื่นให้กับสวัสดิการฯ จังสมุทรสาครแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2559 ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้ติดต่อประสานงานพยามสอบถามความคืบหน้าตลอดแต่ไม่ได้ตอบรับถึงความคืบหน้า จนวันที่ 24 ก.พ. 2559 ทางเครือข่ายฯ ได้โทรศัพท์ประสานงานถึงความคืบหน้าอีกครั้ง ซึ่งได้รับคำตอบว่า ทำไมไม่มาเขียนคำร้อง คร.7 คำถามคือ ตลอดเวลาที่ผ่านม้เจ้าหน้าที่รัฐไม่นัดแรงงานไปเขียน คร.7 แต่ปล่อยเวลาล่วงเลย ซึ่งเป็นปัญหาต่ออายุความการร้องเรียนของลูกจ้าง
ที่มา: http://voicelabour.org/?p=24041