‘เวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป 2’ ขอพื้นที่ปลอดภัย จี้รัฐหยุดควบคุมสิทธิเสรีภาพ

‘เวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป 2’ ขอพื้นที่ปลอดภัย จี้รัฐหยุดควบคุมสิทธิเสรีภาพ

ที่มาภาพ: NGO COD กป.อพช.

เวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 2 แถลงขอพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชนในการแสดงความเห็นเรื่องการปฏิรูปและการเคลื่อนไหวเรื่องที่กระทบสิทธิ ระบุความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากทั่วประเทศไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการปฏิรูปประเทศ พร้อมเสนอ คสช.ให้ทบทวนกฎอัยการศึก

วันที่ 25 ก.พ. 2558 สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) จัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 2 ‘จับตา’ การเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม ณ ห้องประชุม อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 

เวทีเริ่มด้วย รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณะประโยชน์ และประชาสังคม นิด้า กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และกล่าวเปิดสภาประชาชนโดย บำรุง คะโยธา ต่อด้วยตัวแทนภาคประชาชนนำเสนอ 4 กรณีปัญหาจากพื้นที่ ซึ่งมีการลิดรอนสิทธิของประชาชน คือ กฎหมายเหมืองแร่ ในพื้นที่ทองคำและเหมืองแร่โปแตส  กรณีการสัมปทานปิโตรเลียม บ้านนามูล – ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น แผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้ กรณีปัญหาสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน กรณีปัญหาการทำกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่

จากนั้นตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ออกคำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ฉบับที่ 3 “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

คำประกาศมีรายละเอียด ดังนี้

000

คำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปฉบับที่ 3: “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน 
เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน”

ในวาระการปฏิรูปประเทศไทยและสภาวะการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ปกติ ได้มีหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคธุรกิจบางองค์กร ใช้โอกาสนี้อพยพโยกย้ายชุมชน คุกคามจำกัดการใช้สิทธิชุมชนในการปกป้องคุ้มครองตนเองให้สามารถดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การละเมิดสิทธิชุมชน การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การขยายอำนาจรัฐในการอนุมัติอนุญาตโครงการที่ต้องใช้ความรอบคอบ ในการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน จนอาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง ดังกรณี

1) การใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปควบคุมการแสดงความคิดเห็น การรวมกลุ่มร้องเรียนหรือแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการใช้สิทธิชุมชน เช่น การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น หรือ การควบคุมการประชุมรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ จ.กระบี่

2) การจัดทำและเร่งปฏิบัติการตามแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งส่งผลเป็นการทำลายพืชผลทรัพย์สินของเกษตรกร ในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน และการอพยพชุมชนบ้านโคกยาวและบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

3) การเร่งรัดให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่น พระราชบัญญัติแร่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และอาจมีการเพิ่มอำนาจหน่วยงานราชการ การลดขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และอนุมัติอนุญาตโดยไม่รอการกำหนดหลักการสิทธิเสรีภาพ และการวางระบบปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคม มีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำ การรวมศูนย์อำนาจ การกระจุกตัวของรายได้ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม การจัดสวัสดิการโดยรัฐที่ไม่ทั่วถึงสำหรับคนทุกคน

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า รัฐบาลต้องหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย

ด้วยจิตคารวะ
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป
25 กุมภาพันธ์ 2558

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ