‘คุกในคุก’ รายงานฉบับใหม่ ‘แอมเนสตี้ฯ’ เผยการทรมานนักโทษทางความคิดใน ‘คุกเวียดนาม’

‘คุกในคุก’ รายงานฉบับใหม่ ‘แอมเนสตี้ฯ’ เผยการทรมานนักโทษทางความคิดใน ‘คุกเวียดนาม’

แอมเนสตี้ออกรายงาน ‘คุกในคุก’ เปิดโปงการทรมานนักโทษทางความคิดในคุกเวียดนามซึ่งมีทั้งถูกทรมาน ขังเดี่ยว ขังมืด ไม่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และอื่น ๆ พร้อมเรียกร้องให้ทางการเวียดนามยุติการละเมิดสิทธิและแก้กฎหมายตามหลักมาตรฐานสากล

20161307162513.jpg

13 ก.ค. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “คุกในคุก: การทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณต่อนักโทษทางความคิดในเวียดนาม” ซึ่งมาจากการลงไปทำวิจัยในพื้นที่กับอดีตนักโทษทางความคิดในเวียดนามที่ต่างต้องเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายภายในคุกหลากหลายรูปแบบ เพียงเพราะใช้เสรีภาพในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันของพวกเขาเท่านั้น

ข้อมูลในรายงานได้มาจากการสัมภาษณ์อดีตนักโทษทางความคิดชาวเวียดนาม 18 คน (เป็นหญิงเจ็ดคนและชาย 11 คน) ทุกคนถูกปล่อยตัวในช่วงไม่เกินห้าปีที่ผ่านมา โดยแต่ละคนได้เล่าถึงประสบการณ์อันโหดร้ายภายในคุกที่พวกเขาต้องเผชิญ ตั้งแต่การกักขังแบบไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก การบังคับให้สูญหายต่อนักโทษ (อุ้มหาย) การสร้างความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดทางร่างกาย การขังเดี่ยว การปฏิเสธความช่วยเหลือทางการแพทย์ ไปจนถึงการสั่งย้ายพวกเขาไปยังคุกต่าง ๆ หลาย ๆ ครั้งเพื่อให้พวกเขาต้องอยู่ห่างจากครอบครัวและผู้สนับสนุนในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณและเป็นสิ่งต้องห้ามตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ดาร์ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา หนึ่งในอดีตนักโทษทางความคิดที่ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้เปิดเผยว่า “ตอนที่พวกเขาจับกุมผม เขาขังผมไว้ในคุกมืด ๆ ถึง 10 เดือน … ผมนับไม่ถูกเลยว่าพวกเขาซ้อมผมกี่ครั้ง พวกเขาซ้อมผมตอนไหนก็ได้ที่พวกเขาต้องการ … พวกเขาบอกผมว่านี่เป็นผลจากอาชญากรรมที่ผมก่อ ทั้งๆ ที่ผมแค่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ สิทธิในที่ดิน และความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น … พวกเขาบอกว่าผมจะตายในคุก ในห้องขังห้องนั้น และครอบครัวของผมจะไม่มีวันรับรู้”

20161307162559.jpg

ปัจจุบัน แม้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักโทษของทางการเวียดนามจะตรวจสอบได้ยากและรายงานฉบับนี้ได้ถูกเขียนขึ้นจากข้อมูลของอดีตนักโทษทางความคิดที่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว แต่แอมเนสตี้ยังคงพบว่าการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ยังคงมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกับนักโทษทางความคิดที่ยังไม่ถูกปล่อยตัวในปัจจุบันด้วย

เวียดนามถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และเป็นประเทศที่มีการจับกุมและคุมขังนักโทษทางความคิดมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย พรรคคอมมิวนิสต์ได้คุกคามและปราบปรามผู้ที่เห็นต่างอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยปราศจากความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นภัยต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง

ในขณะที่กลไกต่าง ๆ ของรัฐเป็นไปเพื่อปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามกลับมีบทบาทพิเศษที่แตกต่างออกไป ได้แก่ การดูแลตำรวจและระบบเรือนจำทั่วประเทศซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณต่อนักโทษทางความคิดจำนวนมากตามที่ได้นำเสนอผ่านรายงานฉบับนี้

20161307162614.jpg

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องต่อทางการเวียดนามดังนี้

• ให้ยุติการจับกุม ดำเนินคดี และตัดสินลงโทษต่อประชาชนจากความเชื่อ รวมทั้งการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางศาสนา ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค และสิทธิแรงงานของพวกเขา ตลอดจนให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนที่ถูกกักขังอยู่ในขณะนี้โดยทันที

• ให้ยุติการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณในสถานีตำรวจ ศูนย์ควบคุมตัว และเรือนจำต่างๆ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ เจ้าหน้าที่เรือนจำ และนักโทษ ซึ่งครอบคลุมถึงการบังคับบุคคลให้สูญหาย การขังแบบตัดขาดจากโลกภายนอก การขังเดี่ยว การทำร้ายร่างกาย การลงโทษนักโทษด้วยการย้ายเรือนจำ และการปฏิเสธความช่วยเหลือทางการแพทย์

• ให้สืบสวนข้อร้องเรียนและรายงานการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณอื่นๆ อย่างรวดเร็ว เป็นกลาง อิสระ และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแก้แค้นต่อผู้ร้องเรียน พยาน และคนอื่นๆ ที่อาจตกอยู่ในความเสี่ยง ตลอดจนให้ดำเนินคดีต่อทุกคนที่มีพยานหลักฐานทำให้เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งทางราชการและช่วงเวลาที่พวกเขาก่อเหตุ

• ให้แก้กฎหมายในประเทศ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาคบังคับคดี และกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการบังคับใช้การคุมขังและกักขัง ให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และมาตรฐานสากลอื่นๆ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อนักโทษ นอกจากนี้ ยังให้ยุติหนังสือเวียนของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะฉบับที่ 37 ที่เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติต่อนักโทษทางความคิดอีกด้วย

เอกสารแนบ: รายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษ 
PRISONS WITHIN PRISONS: Torture and Ill-Treatment of Prisoners of Conscience in Viet Nam

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ