28 เม.ย. 2559 เฟซบุ๊กเพจ FTA Watch ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เผยแพร่ข้อมูลว่าวันพรุ่งนี้ (29 เม.ย. 2559) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำสรุปข้อดีข้อเสียการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ยอมเผยแพร่งานวิจัย TPP ที่จัดจ้างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ ITD ไปศึกษา โดยอ้างว่า ยังไม่มีการตรวจรับ ทีมวิจัยยังต้องแก้ไขงานวิจัยอีกมาก แต่กระทรวงพาณิชย์กลับอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยนี้โดยตลอดว่าไทยจะได้ประโยชน์ TPP
FTA Watch เรียกร้องให้รัฐบาล คสช.มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ต้องเผยแพร่งานวิจัยนี้ต่อสาธารณะเพื่อให้นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สอบทาน เพื่อความถูกต้องของงานวิจัยและลดข้อกังขาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ แม้จะเป็นหน่วยงานที่รับวิจัยแต่ก็เป็นสถาบันในเครือเจริญโภคภัณฑ์
“ย้ำอีกครั้งว่า การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง TPP นั้น จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง มีผลต่องบประมาณแผ่นดินอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีผลผูกผันประเทศยาวนานหลายชั่วอายุคน ดังนั้นการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใสและธรรมาภิบาล ขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักในเรื่องนี้” FTA Watch ระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เคยเผยแพร่ข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะนำข้อมูลที่เป็นกลางเข้าสู่ที่ประชุม กนศ.หรือไม่
“พณ.ยกขบวนไปฟังคำอธิบายในเนื้อหาจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ทั้งที่หากดูจากคำแถลงของยูเอสทีอาร์หลังการเจรจาสิ้นสุดก็จะพบว่า พูดความจริงครึ่งเดียว เน้นแต่ส่วนดี บางส่วนบิดเบือนความเป็นจริง เช่น การเข้าถึงยาที่อ้างว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อเท็จจริงการเจรจาต่อรองจัดซื้อยาหรือนำยาเข้าสู่ระบบหลักประกันทำไม่ได้ การปล่อยให้เอกชนฟ้องร้องล้มนโยบายรัฐยังสามารถทำได้ มีข้อจำกัดเพียงการควบคุมยาสูบ แต่จากกรณีที่ออสเตรเลียถูกฟ้อง อุตฯ ยาสูบก็บิดฟ้องประเด็นเครื่องหมายการค้าซึ่งยังคงทำได้ เนื้อหา TPP มีความซับซ้อนมาก การฟังคำอธิบายจากยูเอสทีอาร์โดยไม่ฟังข้อสังเกตจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมทั่วโลก สุดท้าย กนศ.จะได้ข้อสรุปที่ไม่มีคุณภาพจาก พณ.”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์ยังตั้งข้อสังเกตที่จนถึงขณะนี้ พณ.ยังไม่ยอมเผยแพร่งานวิจัยที่จ้างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และ ITD ไปจัดทำ โดยอ้างว่า ยังไม่มีการตรวจรับ ทีมวิจัยยังต้องแก้ไขงานวิจัย แต่ พณ.กลับอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยนี้โดยตลอดว่า ไทยจะได้ประโยชน์ TPP
“พณ.ต้องเผยแพร่งานวิจัยนี้ต่อสาธารณะเพื่อให้นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สอบทาน เพื่อความถูกต้องของงานวิจัยและลดข้อกังขาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หน่วยงานที่รับวิจัยแต่ก็เป็นสถาบันในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สนับสนุน TPP”
ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอว็อทช์ ยังชี้ว่า พณ.ซึ่งเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจยังไม่มีข้อเสนอถึงการรองรับผลกระทบของ TPP ต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ และกระทบกับยุทธศาสตร์ 20 ปีเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม, การแก้ไขปัญหาความยากจน และผลกระทบกับเกษตรกรและผู้บริโภคจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และสินค้าจีเอ็มโอซึ่งจะกระทบกับยุทธศาสตร์การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงของไทยแน่ๆ
ทางด้าน รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาผลกระทบของ Global Supply Chain จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีต่ออุตสาหกรรมไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ชี้ว่า จากการศึกษาข้อมูลผลประโยชน์ที่ไทยคาดว่าจะได้จาก TPP อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ซับซ้อนและแม้ประเทศไทยจะไม่เข้าร่วม TPP อุตฯ รถยนต์ไทยไม่กระทบ และเชื่อญี่ปุ่นอยากได้กลไกระงับข้อพิพาทเฉพาะ
“กฎแหล่งกำเนิดสินค้าบางประเภทก็รุนแรงขนาดที่ผู้ประกอบการไม่ทำตาม ไม่ใช่สิทธิพิเศษทางภาษีที่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มที่จะไปเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อให้ได้สิทธิห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจไม่คุ้ม มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่เข้าทีพีพีแล้วซัพพลาย เชน จะต้องเปลี่ยนเสมอไป มันอาจจะเปลี่ยน แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะเป็นผลจากเอฟทีเอเพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ”
รศ.ดร.อาชนัน กล่าวด้วยว่า ข้อสันนิษฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดที่ญี่ปุ่นผลักดันให้ไทยเข้าร่วม TPP ไม่ใช่ supply chain แต่ต้องการกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) เพราะภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นย่อมมีความวิตกกังวล
ทั้งนี้ กลุ่มเอฟทีเอ วอชท์เคยอธิบายไว้ว่า หัวใจของ ISDS คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ โดยผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่น ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ของธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการตัดสินของ ICSID ถือเป็นที่สิ้นสุด