แด่นักเรียนด้วยรัก กับ ศาสวัต บุญศรี

แด่นักเรียนด้วยรัก กับ ศาสวัต บุญศรี

01

เรื่องและภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

ในช่วงที่ผ่านมาปีเศษๆ มีความพยายามในการปฏิรูปในหลายๆ ด้าน แน่นอน หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่ไม่แตะไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับอนาคตของประเทศอันสำคัญ

การศึกษาที่มาจากการพิจารณาและความเห็นของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า มีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เด็กจบออกมามีความรู้ที่ดี เป็นคนดีของชาติ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง แต่นั่นพอเพียงไหม ในยุคนี้สมัยนี้ ที่เด็กๆ ต่างก็มีความคิดความเห็นใหม่ๆ ที่อยากให้คุณลุงคุณป้าคุณน้าคุณอาทั้งหลายรับฟัง

นอกจากโลกแห่งการเรียนรู้ในเชิงวิชาการแล้ว กิจกรรมเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ถูกหยิบยกมาใช้เป็นแนวร่วมด้วยเช่นกัน เอาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายๆ สมุดความดีสมัยชั้นประถมหรือมัธยมนั่นแหละ แต่รูปแบบถูกเปลี่ยนเป็นบันทึกกิจกรรมที่เจ้าตัวได้ทำ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ถูกวางแผนไว้ในระดับอุมศึกษา

ถึงเวลาหรือยังในการตั้งคำถามอย่างจริงๆ จังๆ ถึงเรื่องวิธีการมากกว่าผลลัพธ์ เราคุยกับ ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ถึงเรื่องดังกล่าว รวมทั้ง การออกแบบการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างครูกับศิษย์ การกระจายโอกาสทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยี เกรดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพคนจริงไหม เทรนด์การศึกษาในอนาคต และคำถามคลาสสิก เรื่องที่ว่าการศึกษาไทยนั้นมีขึ้นเพื่อป้อนคนเข้าสู่สายพานอุตสาหกรรม

พอมาถึงจุดที่เริ่มมีการบังคับใช้สมุดกิจกรรมแบบนี้ อาจารย์คิดว่ามันสะท้อนวิธีคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการศึกษาไทย

แน่นอน โดยส่วนตัวบอกก่อนว่าไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ใครไปทำกิจกรรม เนื่องจากแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน สำหรับผมที่เป็นอาจารย์ฝ่ายกิจการนักศึกษา ดูแลกิจกรรมของเด็กทั้งคณะ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับใครให้มาทำ สมมติว่าเป็นกิจกรรมไหว้ครู หรือแม้แต่รับน้องก็ตาม ไม่ควรเป็นกิจกรรมบังคับ ใครอยากทำก็ทำ ใครไม่อยากทำก็ไม่ต้องร่วม

จริงๆ เป็นแนวคิดที่ถกเถียงกันได้นะครับว่า เรื่องไม่ควรเรียนหนังสืออย่างเดียว ควรทำกิจกรรม มีคำพูดแบบที่เราเคยได้ยินกันว่า เด็กเรียนเก่งมักจะทำงานไม่เก่ง เพราะไม่ทำกิจกรรม ซึ่งมันก็ทั้งจริงและไม่จริง เลยมีการกดดันทางอ้อม

โดยส่วนหนึ่งผมมองว่า เพราะการที่เรามุ่งผลิตบัณฑิตไปเพื่อตอบสนองตลาด วิชาเรียนต่างๆ เลยถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นผลิตคนที่สามารถทำงานได้จริง ส่วนวิชาความรู้เรื่องความเป็นมนุษย์ การใช้ชีวิตต่างๆ จะถูกลดทอนลง เราจะไม่แปลกใจเลยถ้าเกิดมองย้อนกลับไปเมื่อยุคที่อาจยังไม่ทุนนิยมจ๋า แต่พูดอย่างนี้ก็อาจไม่แฟร์เท่าไหร่

อย่างสมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหลายๆ วิชาที่มุ่งเน้นความเป็นมนุษย์ หมายถึงวิชาที่มีการถกเถียงกัน มีการหาความหมายคุณค่าของชีวิต ความหมายของการดำเนินชีวิตต่างๆ วิชาอย่างนี้มันถูกลดทอนลงไป ซึ่งในยุคนั้น ผมรู้สึกว่าพอเรียนวิชาแบบนี้แล้วอยากไปทำกิจกรรมข้างนอกเองตามที่สนใจ เห็นผมอ้วนๆ อย่างนี้ เป็นโค้ชบาสนะ เราอยากทำ สนุกกับมันตรงนั้น

ผมคิดว่าคนทำกิจกรรมส่วนใหญ่มีฟีลลิ่งนี้อยู่ ถ้าเริ่มต้นที่มึงต้องไปทำ มันไม่มีความสุข แล้วมันจะกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน

 เป็นเพราะเราเน้นเรื่องมุ่งผลิตบัณฑิตไปเพื่อตอบสนองตลาดอย่างเดียวหรือ มีปัจจัยอื่นไหม

มันแล้วแต่คาแร็กเตอร์ของมหาวิทยาลัย และคาแร็กเตอร์ของหลักสูตรด้วย ต้องเล่าอย่างนี้ครับ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีพันธกิจ คือเป้าหมาย อยากให้บัณฑิตเป็นยังไง มันตอบสนองต่อเนื่องมาถึงหลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรก็จะมีคาแร็กเตอร์ มีมุมมองที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าระยะหลังๆ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) อยากให้บัณฑิตมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่โดยทัศนะของผมคือ แต่ละมหาวิทยาลัยมีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง มีมุมมองทัศนคติของตัวเอง

ยกตัวอย่าง ผมจบคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ ตอนนั้นยังเป็นภาควิชาอยู่ มีวิชาที่ให้ไปฝึกงานในหน่วยงานบริการชุมชน พอโตมาเป็นอาจารย์ก็ไปเช็คหลักสูตรดู ผมพบว่ามันไม่มีเลย คืออย่างน้อยสัก 2 สัปดาห์ อยากให้เด็กไปอยู่กับหน่วยงานแบบนี้ ไม่ว่าเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอ็นจีโอก็ตาม ซึ่งนี่จะเห็นว่าคาแร็กเตอร์ที่มหาวิทยาลัยอยากให้เด็กมีมันเป็นอย่างไร รวมถึงวิชาต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กออกไปข้างนอกแล้วเป็นไปตามนั้น ซึ่งมันก็ไม่ผิดใดๆ ถ้าบางคณะจะไม่มี

“การผลิตบัณฑิตเข้าสู่สายพานมันมี 2 แง่ เมื่อก่อนผมมองมันในแง่ลบเหมือนกัน คำถามที่ตามมาคือถ้าไม่ทำแบบนี้ เด็กจะมีงานทำไหม ในเมื่อโลกใบนี้มันต้องมีเงิน เราไม่ได้อยู่กันแบบโรแมนติก แบบที่เข้าป่าไปเก็บของป่า เก็บของป่าเดี๋ยวก็ติดคุกอีก”

เรายังควรมองในแง่ลบไหม เรื่องการศึกษาป้อนคนเข้าสู่สายพานอุตสาหกรรม เพราะเห็นช่วงนี้พูดๆ กันว่า ก็เงินซื้อความสุขได้ และอุตสาหกรรมก็สร้างเม็ดเงิน

ผมเชื่อนะว่าเงินซื้อความสุขได้ คือตอนเป็นอาจารย์ปีแรกผมได้เงินเดือนหมื่นสาม คำถามคือผมจะไปเอาความสุขมาจากไหน มีแต่คนรวยเท่านั้นแหละที่เที่ยวสอนคนอื่น ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้  ผมว่ามันมาคู่กันนะ เรามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ไง ถ้าไม่ทำด้วยการหลอกตัวเองว่า สโลว์ไลฟ์ไปวันๆ

ทีนี้การผลิตบัณฑิตเข้าสู่สายพานมันมี 2 แง่ เมื่อก่อนผมมองมันในแง่ลบเหมือนกัน คำถามที่ตามมาคือ ถ้าไม่ทำแบบนี้ เด็กจะมีงานทำไหม ในเมื่อโลกใบนี้มันต้องมีเงิน เราไม่ได้อยู่กันแบบโรแมนติก แบบที่เข้าป่าไปเก็บของป่า เก็บของป่าเดี๋ยวก็ติดคุกอีก (หัวเราะ) คือเราไม่ได้มีชีวิตเหมือนในหนังเรื่อง little forest ประเทศไทยอยู่อย่างนั้นไม่ได้ ชาวนาที่รวยอยู่ตอนนี้ คือชาวนาที่รวยจากการขายที่ดิน ถ้าการเกษตรทำให้รวยได้จริงๆ เราคงไม่มานั่งเห็นชาวนาร้องไห้

ดังนั้น เรื่องการผลิตบัณฑิตไปสู่อุตสาหกรรม มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่สิ่งที่คุณต้องทำมากกว่านั้นคือ ทำให้เขามองเห็นคนเป็นคนด้วย เช่น คุณไปเหยียดสีผิวคนอื่น มองคนอื่นต่ำกว่าคุณเพียงเพราะเขาไม่ได้สัญชาติไทย อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา

แม้แต่ในเรื่องการเมืองคุณมองคนที่คิดต่างว่าเป็นคนอื่น ไม่ใช่พวกฉัน คือเป็นคนที่คิดร้าย อะไรอย่างงี้ เป็นสิ่งที่มันต้องสอนควบคู่ไปด้วย แต่มันอาจไม่ได้ถูกสอนเป็นหลัก การให้น้ำหนักของวิชา วิชาที่เป็นในเชิงช่างหรือการผลิตมันมีอยู่เยอะกว่ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่ามันสามารถสอดแทรกไปได้ หรืออาจอยู่ในวิชาพื้นฐานที่ทำให้เห็นความเป็นคนเท่ากัน มองทุกอย่างเป็นองค์รวม ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน ถ้าเราไม่มี แรงงานต่างชาติอย่างนี้เศรษฐกิจก็หวบเลย ใครจะมาทำด้วยค่าจ้างแรงงานถูก

ไม่ว่าเราจะสอนเพื่อป้อนเข้าระบบอุตสาหกรรม ยังไงต้องมีภาวะความเป็นคนอยู่ดี  ถ้าคนสนใจศาสนาก็จะมองทุกคนอย่างมีเมตตาอะไรแบบนี้ ในยุคหนึ่งฝั่งเอ็นจีโอสอนเด็กโดยให้อยู่แบบต้องปฏิเสธนู้นนั้นนี่ ถ้าปฏิเสธแล้วเอาอะไรกิน

อยากให้ช่วยอธิบายรายละเอียดของสมุดกิจกรรม

ในปีการศึกษาที่ผ่านมาให้ทำเฉพาะเด็กทุน คือมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัย จะมีโมเดลทำทรานสคริปต์กิจกรรม พูดง่ายๆ คือบันทึกว่าเด็กคนไหนทำอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเกรด จุดมุ่งหมายหนึ่งคือเขาต้องการช่วยเด็กได้สมัครงาน หมายถึงว่าเวลาสมัครงานก็เอาใบนี้ไปยืนยันว่าหนูทำกิจกรรมจริงนะ เรื่องนี้ก็ถกเถียงกันได้ว่าดีไหม เพราะเด็กบางคนก็ทำไม่ได้หวังผล ทำเพราะอยากทำจริงๆ ในขณะที่บางคนทำเพราะต้องทำ แต่ ณ เวลานี้มันไม่ได้มีการบังคับ คือบางมหาวิทยาลัยมีการให้คะแนนจิตพิสัย มันเคยเกิดเรื่องดราม่าที่อาจารย์คณะอื่นไปตัดคะแนนนิสิตอีกคณะหนึ่ง เพราะนิสิตแต่งตัวไม่เรียบร้อย มันเคยเกิดคดีแบบนี้

ผมพูดโดยภาพรวมๆ ว่า การบันทึกกิจกรรมยังไม่มีการบังคับจริงจัง ที่ต้องมีการบังคับคือของทุน กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) ส่วนหนึ่งคือรัฐบาล คสช. ต้องการให้เด็กที่ขอทุน ได้ทำกิจกรรมใดๆ ด้วย จริงๆ อาจต้องแยกกันนะ เรื่องบันทึกความดีก็เรื่องหนึ่ง ในระดับมหาวิทยาลัยผมไม่ชัวร์นะ แต่เท่าที่คุยกับมิตรสหายอาจารย์ด้วยกัน เรายังไม่เจอสมุดเล่มนี้ อาจมีในระดับมัธยม ประถม ไม่แน่ใจ แต่โดยโมเดลที่เขาเคยเสนอมา ก็เพื่อที่จะสร้างเด็กให้เป็นไปตามค่านิยมอะไรก็ว่ากันไป

มองอย่างไรถ้าวันหนึ่งมันถูกบังคับใช้กับเด็กทุกคน

ผมไม่เห็นด้วย จริงๆ มหาวิทยาลัยศิลปากรเอง เขาก็หยิบยืมโมเดลมาจากมหาวิทยาลัยอื่นนะครับ แสดงว่าโดยรวมๆ ระดับอุดมศึกษาไทยต้องมีการใช้อะไรแบบนี้บ้างแล้วล่ะ โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันต้องมานั่งคิดกันก่อนว่าคนคนหนึ่งจะทำกิจกรรมมันเกิดขึ้นจากอะไร โดยส่วนตัวผมคิดว่าการทำกิจกรรมต้องเริ่มจากอยากเป็นอาสาสมัคร ไม่ควรเกิดจากการบังคับ พอมันมีทรานสคริปต์แบบนี้ มีสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ครบ เด็กก็จะรู้สึกว่าเขาต้องไปร่วมเพื่อที่จะได้ให้ครบ

สมมติว่ามีนักเรียนสักคนออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง เพราะคิดว่าคือสิ่งที่มีประโยชน์ แล้วเอามาบันทึกลงสมุดกิจกรรม?

การบันทึกกิจกรรมที่เขากำหนดมามันมีกฎอีก ยกตัวอย่างของ กยศ. บอกว่า กิจกรรมนี้ต้องเป็นกิจกรรมที่คณะวิชาเป็นคนจัด หรือสมมติถ้ามีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยเป็นคนจัดแล้วเราไปร่วม น่าจะนับได้อยู่มั้ง แต่ว่ายังไม่เคยเจอ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่านั่นต้องนับได้นะ เพราะว่านั่นเป็นความสนใจของเขา เพียงแต่ว่าตัวกองทุนเองเขาอาจจะต้องการหลักฐานบางอย่างอ้างอิงว่าการที่คุณไปมาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มไหน ถ้ามันเกิดขึ้นจากองค์กรต่างๆ ที่คณาจารย์หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจัด มันก็น่าจะนับให้ได้

ต้องบอกก่อนว่าเรื่องที่ถามน่าสนใจ แต่ทุกวันนี้ตัวกฎเองยังมีความคลุมเครือเยอะมากว่าอะไรเป็นกิจกรรม แล้วจะนับยังไง ทุกวันนี้ยังหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้เลย เพราะเหมือนว่าเพิ่งเริ่มต้น อารมณ์เหมือนว่าอยากให้มีการทำแบบนี้ ก็สั่งเลยว่าต้องมี แล้วก็สร้างความงุนงงให้กับคณาจารย์ที่ดูแลเรื่องนี้

พอเวลาผ่านไป คิดว่ากิจกรรมทางการเมืองก็น่าจะนับได้ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเราไม่มีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ซึ่งตัวใหญ่คือการเมืองแบบที่มีนักการเมือง ระบบพรรคการเมืองต่างๆ หรือแม้แต่ตัวเล็กที่เป็น ‘การเมืองของเรื่องนั้นๆ’ การเมืองเรื่องเสื้อผ้า การเมืองเรื่องถนน ฯลฯ มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมทั้งนั้น

02

ตลอดหลายปีที่เป็นอาจารย์มา ได้สังเกตบ้างหรือเปล่าว่านักศึกษาแต่ละรุ่นที่สอน มีวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนในห้อง และการเรียนรู้นอกห้องอย่างไร

ผมเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่อื่น 2 ปี มาสอนที่นี่ 6 ปี เด็กรุ่นที่โตมากับอินเทอร์เน็ต จะรู้สึกว่าทุกอย่างสามารถหาได้ในนั้น ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง จากการที่เขาลงไปทำเอง อาจะกลายเป็นทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ  เช่น ถ้าเขาเลือกที่จะเรียน เขาก็ไปเสิร์ชกูเกิ้ล คือกูเกิ้ลเป็นพระมหาศาสดาของนักศึกษา อย่างที่ 2 คือไปถาม ถามใคร? ถามครู บางทีก็ไม่ถามครู แต่โพสต์เฟซบุ๊ค ถามในพันทิป รอคนมาตอบ จะได้ความคิดที่หลากหลาย ถูกบ้าง ผิดบ้าง ส่วนความรู้ที่เกิดจากการที่ตัวเองออกไปข้างนอก ไปลองถามดู ก็จะน้อย

แต่สมมติเราบอกว่า เฮ้ย กูเกิ้ลมันป็นความรู้นอกห้องเรียนนะ พันทิปก็เป็นความรู้นอกห้องเรียน จริงๆ มันก็ใช่ เพียงแต่อยู่ที่การนิยามบางอย่าง ความรู้นอกห้องเรียน สำหรับผมมันแยกไม่ออกกับความรู้ในห้องเรียน อย่างผมสอนภาพยนตร์ เด็กเรียนในห้อง แล้วการที่เขาไปดูหนังสักเรื่อง แล้วเขารู้สึกว่าอยากไปหาอะไรเพิ่มเติมมาถกเถียง ซึ่งจริงๆ มันเกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ ผมว่านี่คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้วล่ะ ไปหาอะไรมาอ่านเพิ่ม แน่นอนว่าทุกวันนี้ ข้อมูลมันเข้าถึงง่าย ความขวนขวายของเด็กๆ อาจลดน้อยลง แต่ทั้งนี้ไม่แปลกอะไร เขาอาจเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า แต่ไม่ลึก อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ในฐานะผู้สอน อาจารย์ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนออกแบบการเรียนการสอนร่วมด้วยหรือเปล่า

เล่าให้ฟังอย่างนี้แล้วกันครับ ผมเพิ่งไปสัมมนามา ตอนนี้กำลังมีความพยายามจะเปลี่ยน mindset หมายถึงยุคหนึ่งครูคือเขียนกระดาน เด็กจด ยุคหนึ่งครูคือปิ้งแผ่นใส พาวเวอร์พอยท์ ยุคหนึ่งครูถูกเปลี่ยนให้ยกเด็กเป็น child center เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ณ เวลานี้ แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษา จากเดิมที่ครูเคยเป็น lecturer กลายมาเป็น facilitator ผู้อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา

น่าสนใจมากเลย มีการเวิร์คช็อปในการสัมมนาด้วย ครูผู้สอนก็จะเตรียมเอกสารมาสัก 2 – 3 อัน จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มผู้เรียน คละกัน เขาก็จะให้นับ 1 2 3 4 5 คนที่ 1 อ่านจากนี่ถึงนี่ 2 อ่านจากนี่ถึงนี่ 3, 4, 5 จากนั้นให้เวลา 15 นาที อ่านพร้อมจดลงสมุดของใครของมัน พอทุกคนอ่านจบ ปิดสมุด ปิดหนังสือ แล้วให้สอน เหมือนผมเป็นคนที่ 1 นะ ผมก็สอนเพื่อน คนที่ 2 บอกเออๆ เรื่องคล้ายกันเลย ก็สอนต่อ ไปเรื่อยๆ จากนั้นทั้ง 5 คน ก็จะได้ความรู้ที่เกิดจากการสอนกันเอง วันนั้น วัดผลด้วยการที่ให้ทั้ง 5 คน วาดรูปชาร์ตความเชื่อมโยง คือครูยุคนี้ต้องสอนให้น้อยที่สุด (หัวเราะหนักมาก) ผมก็ยิ้มเลย สบาย

มันน่าสนใจในทิศทางที่ว่าเด็กได้ออกแบบบางอย่าง คือไม่ได้เกิดจากการที่มาฟังเท่านั้น มีสถานะเป็น passive อย่างเดียว คือเราต้องเข้าใจว่าเด็กไทย จะให้ตายยังไง เวลาเราถามมีใครสงสัยไหม ให้ยกมือ ชาติหน้าก็ไม่มีใครยก ใช่ไหมครับ แต่วิธีการเรียนแบบนี้ น่าจะเป็นวิธีที่น่าสนใจ ในการทำให้เด็กได้เกิดการสร้างองค์ความรู้ ชาร์ตหลังที่สอนไปแล้วคือการที่เด็กได้องค์ความรู้จากที่เขาสร้างขึ้นเอง โดยที่ครูเป็นเพียงแค่ผู้อำนวยความสะดวก พูดง่ายๆ คือ ครูแค่เตรียมเอกสารมาให้เด็กอ่าน ที่เหลือคุณสอนกันไป

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีนี้เวิร์คไหม แต่ผมว่าจะลองอยู่เหมือนกัน ถ้ามันเป็นวิชาที่ค่อนข้างแอดวานซ์ เด็กจะไปได้ถึงขั้นไหน

“เหมือนเวลาเราดูหนังญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่า เออ เราไปอยู่บ้านนอก มันก็มีบางอย่างได้นะ คือผมว่าการมีแท็บเล็ต มีอินเทอร์เน็ต น่าสนใจ มันสามารถส่งนวัตกรรม วิธีการสอนแบบใหม่ๆ วิธีการผลิตสื่อแบบใหม่ๆ”

คิดว่าการกระจายเทคโนโลยีไปให้ทั่วถึง อย่างอินเทอร์เน็ต หรือแท็บเล็ต มีผลต่อการกระจายโอกาสทางการศึกษามากน้อยแค่ไหน

แน่นอนอยู่แล้วครับ เหมือนเวลาเราดูหนังญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่า เออ เราไปอยู่บ้านนอก มันก็มีบางอย่างได้นะ คือผมว่าการมีแท็บเล็ต มีอินเทอร์เน็ต น่าสนใจ มันสามารถส่งนวัตกรรม วิธีการสอนแบบใหม่ๆ วิธีการผลิตสื่อแบบใหม่ๆ อย่างล่าสุดในงานสัมมนาเดียวกันกับที่เล่าเมื่อครู่ ผมเห็นอาจารย์คณะเภสัชฯ ปกติเวลาทำแล็บ เขาจะต้องเสียเวลาไปครึ่งชั่วโมงเลย ในการต้องบรีฟเด็กว่ากระบวนการในการทำแล็บวันนี้ ทำอะไรบ้าง แล้วเวลาทำแล็บทั้งหมดมี 3 ชั่วโมง ทำไม่ทัน เสียเวลา เขาเลยทำวิดีโอแนะนำวิธีการลง youtube เด็กดูมาก่อน มาถึงก็ทำได้เลย และเขาใช้วิธีการทำให้เด็กมีความสนใจ เช่น กลุ่มไหนทำเสร็จก่อน ก็ได้ถ่ายรูปลงเพจ คือฟังดูแล้วอาจไม่ใหม่ แต่มันใหม่สำหรับเขา และเป็นวิธีที่เขาสนใจทดลอง

ผมว่าเทคโนโลยีช่วยได้เยอะ เอาง่ายๆ เลย ผมสอนภาพยนตร์ เมื่อย้อนไปสัก 4 ปีก่อน ผมนึกไม่ออกเลยนะว่าผมจะหาหนังแต่ละเรื่องได้ยังไง ทุกวันนี้โอเค บางประเด็นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดลิขสิทธิ์ แต่ว่าผมคิดว่ามันนำมาซึ่งความรู้ บางทีผมให้ความสำคัญกับความรู้มากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติเราไปโหลดบิทมา (หัวเราะ) มันไม่มีขายในประเทศนี้ ถ้ามีขายเราก็ไปซื้อแล้ว มันเป็นหนังคลาสสิกที่ต้องดูนะ มันไม่มีขายในประเทศไทย ซึ่งถ้ามันมีอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศไทย แล้วก็ปรับวิธีการสอนบางอย่าง ผมว่ามันจะเปิดโลก

ในความเห็นของอาจารย์ คิดว่าเกรดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของนักศึกษาหรือบัณฑิต ได้มากน้อยแค่ไหน และคิดว่ามีตัวชี้วัดอื่นๆ อีกหรือเปล่า ที่สามารถนำมาใช้ประเมินผลผู้เรียนได้จริงๆ

ทุกวันนี้มีเกรดหลายแบบ เกรดแบบ A B C เกรดแบบ S U คือ ผ่าน ไม่ผ่าน ต้องบอกก่อนว่าเกรด วัดได้และวัดไม่ได้ คำถามคือ สมมติว่าเราตัด A ที่ 80 เด็กได้ 79 ได้ B+ ครูเขี้ยวมาก ไม่ปัดเลย สำหรับวิชาที่อาจารย์จริงจังกับการให้เกรด ไม่ได้ปล่อยมาก

ผมว่าเกรดสะท้อนคุณภาพงานเด็กได้ แต่เกรดไม่ใช่ทุกอย่าง  บางทีอย่างที่บอก B+ กับ A จริงๆ คอนเซ็ปต์นี้ผมเคยได้ยินรุ่นพี่ท่านหนึ่งไปเรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ แล้วเขาเล่าเรื่องการให้เกรด มันมีเกรด A B C D สมมติคุณได้ C ตัด A 80 B 79 C 69 อีกคะแนนเดียว ถ้าเป็นเด็กไทยจะรู้สึกเจ็บปวด

แต่สำหรับที่อังกฤษ มีวิธีคิดอีกแบบ จากที่รุ่นพี่ผมเล่าให้ฟัง เขาจะบอกว่าถ้าคุณพยายามอีกหน่อย เช่น งานชิ้นนี้มันยังไม่ดีพอ งานของคุณยังขาดการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ มันเลยทำให้คุณหายไป 1 คะแนน เขาจะมีคำอธิบายเกรดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นคำตอบบางอย่างที่ทำให้เด็กเกิดการพยายามพัฒนาตัวเอง แต่ทั้งนี้ ไทยผมยังไม่เคยเจอคอนเซปต์นี้ โดยสรุปคือ เรื่องเกรดสามารถวัดและไม่วัด พูดแบบดูตีมึนมากเลย แต่มันก็วัดประสิทธิภาพของผู้เรียนได้ แต่ไม่สามารถวัดได้อย่างละเอียด

ทุกวันนี้คิดว่าการศึกษาไทยมีปัญหาไหม
พอผมยิ่งมาสอนตรงนี้ ยิ่งพบว่าเรารู้เรื่องของคนอื่นน้อย ผมไม่สามารถไปตอบแทนคนเรียนวิศวะได้ ผมพูดได้ถึงแค่สาขาที่ผมสอนเท่านั้น ถ้าถามผมว่า การศึกษามีปัญหาไหม ก็ต้องนิยามปัญหาก่อน เช่น เราบอก เด็กไทยมีปัญหาคิดไม่เป็น อะไรก็ไม่รู้ ระบบคิดต่ำ แต่ถ้าปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้ในการประเมินคุณภาพบัณฑิตเด็กสามารถไปทำงานกับผู้ประกอบการได้ คำถามคือมันเฟลหรือเปล่า? เด็กจบใหม่มันก็มีความหลากหลาย

เด็กราชภัฏฯ มีทั้งเด็กเก่ง เด็กไม่เก่ง มหาลัยรัฐก็มีทั้งเด็กเก่ง เด็กไม่เก่ง  ถ้าสมมติแจ็คพ๊อต คุณเป็นเจ้านายคุณไปเจอแต่เด็ก รุ่นนี้ที่ไม่เก่ง หมายถึงตอนเรียนไม่ค่อยตั้งใจ มีทักษะการคิดต่ำ ไม่สามารถคิดเชื่อมโยงได้ คุณก็อาจมีภาพว่าเด็กสมัยนี้แย่

แต่โดยส่วนตัวผมว่า  เด็กสมัยนี้เก่งกว่าสมัยผมเรียน  เขามีทักษะบางอย่าง  โดยที่เขาสามารถไปช่วยงานผู้ประกอบการได้ อย่างเด็กผมที่ไปฝึกงานก็ไม่มีภาวะที่ต้องชงแต่กาแฟแล้ว คือไปทำงานได้เลย ในทักษะอาจไม่ได้สู้มืออาชีพ แต่ก็ไม่ได้ไปเป็นในลักษณะของตัวถ่วงเขา สามารถเข้าไปเป็นกลไกหนึ่งของเขาได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของเด็กยุคนี้ น่าจะเป็นสมาธิสั้น คือจุดร่วมของเด็กเจนนี้  เนี่องจากโตมากับความเร็ว

อย่างผมโตมากับทุกสื่อ ชีวิตตอนนี้ทุกคนถวิลหา สโลว์ไลฟ์ (หัวเราะ) เจนผมก็ผ่านมาหมด โทรเลขก็เคยใช้  คือตอนนี้มันเป็นแบบ ปึ้ง ปึ้ง ปึ้ง  เด็กทุกคนเลยขาดสมาธิ ขาดจุดร่วมที่จะทำอะไรได้  อาจต้องทำงานเป็น fragment เป็นส่วนๆ คือทำแล้วพัก ทำแล้วพัก

 03

มันเลยกลายเป็น feedback กลับมาหาผู้สอนด้วยหรือเปล่า เรื่องการออกแบบวิธีการที่ต้องสัมพันธ์กับลักษณะของผู้เรียน

คือล่าสุด ผมวางแผนว่า จะให้เด็กที่เรียนกับผม เขียนไดอารี่ด้วยมือ ห้ามพิมพ์ เพราะสมัยที่ผมเรียน ตัวเองได้ฝึกการเขียนไดอารี่ และรู้สึกว่าทุกครั้งที่เขียน ได้สร้างสมาธิจดจ่อมากขึ้น แต่การพิมพ์ โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าสามารถสร้างการจดจ่อได้เท่าการเขียนด้วยมือ

ทางหนึ่ง เราอย่ามองแบบโรแมนติก ว่ายุคเราดีกว่ายุคนี้ มันไม่จริงหรอกครับ (หัวเราะ) เพราะยุคนี้มันก็ดีกว่า เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า  แต่บางอย่างที่ผ่านมาอย่างในยุคเราที่มันสามารถเพิ่มสมาธิ ก็เอามาเพิ่ม

ผมและเพื่อนอาจารย์ มักรู้สึกว่าเด็กยุคนี้ ความรู้รอบตัวต่ำ ทั้งนี้ อาจเป็นลักษณะว่าความรู้มีง่าย อย่างสมมติ10 ปีที่แล้ว ยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่บูมในไทย คุณอยากหาข้อมูลสักเรื่องหนึ่งคุณต้องไปห้องสมุด และการหา 1 เล่ม ไม่ได้แปลว่าคุณได้ครบทั้งหมด เดี๋ยวนี้ คุณอยากได้อะไรคุณแค่เสิร์ชคีย์เวิร์ด มันก็โผล่มาให้คุณแล้ว เมื่อมีอะไรที่เขาอยากรู้เขาก็แค่เข้ากูเกิ้ล ไม่เหมือนเราหาในหนังสือ มันต้องผ่านบางอย่างมาก่อน แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าหนังสือดีกว่าสื่อบนโลกไซเบอร์ แต่เป็นเรื่องของลักษณะของวิธีใช้สื่อมากกว่า มันเลยสะท้อนออกมาโดยภาพรวม

เทรนด์การศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร

เทรนด์ล่าสุดเขาก็บอกว่าอาจารย์ควรเป็นผู้ให้คำปรึกษา ผมไม่รู้ว่าเวิร์คหรือเปล่า ไอเดียนี้เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานเอง ผมว่าก็ดีนะ ในระดับมหาลัยมันจะมี TQF  หรือ มคอ. คือมาตรฐานคุณภาพการอุดมศึกษา มันมีการมองว่า การทำหลักสูตรขึ้นมาหลักสูตรหนึ่ง จะมีการอ้างอิงจากวิชาชีพ เช่น  มคอ. 1 จะบอกว่าอยากให้ภาพหรือคุณลักษณะของบัณฑิตเป็นยังไง  มคอ.2 คือ การออกแบบหลักสูตร  มคอ.3 แยกไปตามรายวิชา

ปัญหาที่ผ่านมามี 2 กรณีใหญ่ๆ อย่างแรก มคอ.1  คือมันก็ไปทำวิจัย บางสาขาก็ขาด ยังไม่เสร็จ ท้ายที่สุดคือมหาลัยมันไม่ควรมีคาแร็กเตอร์เหมือนกัน คือบางทีการวัดผลหรือเชิงคุณภาพมันน่าจะมีได้หลายแบบ  ท้ายที่สุดในเชิงปฏิบัติมันก็เป็นอิสระของอาจารย์ผู้สอนแต่ละคน ส่วนเอกสารก็เขียนให้ดูดีไป  คือเราให้ความสนใจเรื่องเอกสารมาก จนท้ายที่สุด เราต้องมองว่าอยากให้ผลลัพธ์ออกมายังไง จริงอยู่ว่า มคอ. มันก็มองผลลัพธ์ แต่เราต้องมองว่าอะไรที่มันแปลกแยกไปจากกระแสหลัก เราทำได้ไหม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการถกเถียง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ