‘14 ประชาธิปไตยใหม่’ ลุ้นค้านฝากขังผัด 2 พรุ่งนี้–‘78 นักกฎหมาย’ เข้าชื่อยันไม่ผิด ค้านสั่งฟ้อง

‘14 ประชาธิปไตยใหม่’ ลุ้นค้านฝากขังผัด 2 พรุ่งนี้–‘78 นักกฎหมาย’ เข้าชื่อยันไม่ผิด ค้านสั่งฟ้อง

เรียกผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ต่อจาก 14 ประชาธิปไตยใหม่ รองอธิการบดี มธ.ขอศาลทหารค้านฝากขัง 14 นักศึกษา-นักกิจกรรม ด้านโฆษก คสช. เผย ใช้ กม.ปกติ ดูแลศาลทหารพรุ่งนี้ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพยืนยันพิจารณาคดีโปร่งใส ส่วน 78 นักกฎหมาย-ทนายความเข้าชื่อ ยันไม่ผิด ค้านสั่งฟ้อง

20150607215633.jpg

ภาพ: บรรยากาศกิจกรรม “ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ” ณ กำแพงประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้กำลังใจ 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เย็นวันนี้ (6 ก.ค. 2558)

เรียกผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ต่อจาก 14 ประชาธิปไตยใหม่

6 ก.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการโพสต์ภาพหมายเรียกผู้ต้องหาในเฟซบุ๊ก ออกโดย สน.สำราญราษฎร์ ส่งถึงบารมี ไชยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ระบุเหตุ “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยให้ไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกที่ สน.สำราญราษฎร์ ในวันที่ 10 ก.ค. 2558 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ คาดว่าเป็นหมายแจ้งข้อกล่าวหาต่อเนื่องจากกรณีของ 14 นักศึกษานักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐเคยให้ข่าวต่อสื่อมวลชนไว้ 

ส่วน ในพรุ่งนี้ (7 ก.ค.2558) เจ้าหน้าที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังทั้ง 14 คน ต่อศาลทหารเป็นผัดที่ 2 โดยทีมทนายความระบุว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลและประเด็นในการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ซึ่งเหตุผลที่จะชี้แจงต่อศาลคือนักศึกษาทั้ง 14 คนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ก็รู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษามาโดยตลอด 

20150607220911.jpg

 

รองอธิการบดี มธ.ขอศาลทหารค้านฝากขัง 14 นักศึกษา-นักกิจกรรม

ด้านเดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนายต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ได้เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาศาลทหารกรุงเทพ ที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เพื่อคัดค้านการฝากขังผลัดที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดผลัดแรกในวันที่ 7 ก.ค.นี้ 

เนื้อหาในจดหมายดังกล่าวระบุว่า ตามที่ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติหมายจับนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน 14 คนที่ได้มีการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และอนุมัติให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ในเรือนจำเป็นเวลา 12 วัน จึงขอให้ศาลทหารฯ โปรดพิจารณาไม่อนุมัติฝากขังจำเลยทั้ง 14 คนต่อ เนื่องจากพฤติกรรม 14 คน ไม่ปรากฏว่าจะมีการหลบหนี และเป็นสิ่งที่กระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาทั้ง 14 คนมากเกินไปโดยไม่จำเป็น 

ขณะเดียวกันตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรมนั้น ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเอาตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำ จึงเป็นเรื่องที่กระทบ ต่อความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม และการแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเป็นสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ และการได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาก็เป็นสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีอยู่ด้วย

การใช้และการตีความมาตรา 44 จึงต้องคำนึงถึงมาตรา 2 มาตรา 3 และมาตรา 4 ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกขังในระหว่างการดำเนินคดี 

 

โฆษก คสช. เผย ใช้ กม.ปกติ ดูแลศาลทหารพรุ่งนี้ 

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการดูแลรักษาความปลอดภัย กรณีที่พนักงานสอบสวนยื่นฝากขังนักศึกษา 14 คน ตามความผิดในมาตรา 116 และ 83 ผลัด 2 ที่ศาลทหารกรุงเทพ ในวันที่ 7 ก.ค. 2558 หลังจากที่ครบกำหนดฝากขังผลัดแรก 12 วัน ว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยในเบื้องต้นจะใช้กฏหมายปกติ คือเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดูแล ในส่วนของทหาร เรามีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว

ส่วน คสช.จะมีคำสั่งการห้ามนักศึกษา 14 คนเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่นั้น ถือเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณา โดยดูจากพฤติกรรมต่างๆ

 

หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพยืนยันพิจารณาคดี 14 นศ.โปร่งใส

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ กล่าวถึงการพิจารณาคดีกลุ่มนักศึกษาดาวดิน ว่า ในส่วนของศาลทหารจะดูแลบริเวณภายในเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอก จะเป็นหน้าที่ของกองรักษาความปลอดภัย สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าศาลทหารพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ไม่มีปิดบัง แต่เนื่องจากห้องพิจารณาคดีภายในศาลค่อนข้างเล็ก รองรับคนได้เพียง 20-30 คน จึงต้องส่งตัวแทนเฉพาะญาติของ 14 คน และทนายความเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาเท่านั้น ส่วนผู้สื่อข่าวต้องตกลงกันเอง ว่าใครจะเป็นตัวแทนร่วมฟังการพิจารณาคดี

ทั้งนี้ ในการขึ้นพิจารณาคดีพลเรือนแต่ละครั้งของศาลทหาร องค์คณะพิจารณาคดีทั้ง 3 เป็นตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นผู้พิพากษาทั้ง 3 ท่าน จึงขอให้มั่นใจในความโปร่งใสของคดี เพราะทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดี ไม่ใช่อำนาจพิจารณาของคนใดคนหนึ่ง

นายกฯ ย้ำ 14 นักศึกษาต้องขึ้นศาลทหาร

ส่วนคมชัดลึก รายงานว่า เมื่อเวลา 11.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีกับ 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย ด้วยกระบวนการยุติธรรม
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎหมายประกาศไว้อย่างไร ต้องรู้ว่าทหารเขาทำอย่างไรในยามที่ไม่ปกติ หรือเมื่อที่ต้องใช้อำนาจพิเศษ เพราะมีการประกาศออกมาแล้ว ว่าคดีใดที่จะต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ประกาศมาหลังจากเกิดการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหว โดยหลังจากนี้ต้องว่าไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะดูแลได้แค่ไหน แต่ก็มักจะขุดคุ้ยให้ได้ เขามีการประกาศคำสั่ง คสช.แล้ว เวลาเขียนข่าวก็เขียนให้มันชัด ว่ากี่เรื่องที่ขึ้นศาลทหาร 1. คดีอาญามาตรา 112 และ 2. ขัดคำสั่ง คสช. ซึ่งหมายถึงกฎหมายตามคำสั่ง คสช.ทุกฉบับ
 
“พอได้แล้ว ไม่ว่าจะแต่งตั้ง ซื้อโน่นซื้อนี่ เขียนกันให้พัลวัน มันได้อะไรกับประเทศชาติบ้าง ผมอยากจะรู้นัก เขาเขียนกฎหมายมาก็จะแหกกฎหมายทุกดอก ผมถามว่ากฎหมายเหล่านี้ใช้กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า คนอื่นเขาโดนด้วยหรือเปล่า เมื่อขัดขืนกฎหมาย คสช. แล้วเขาโวยวายไหมเล่า ทำไมจะต้องให้พื้นที่ อย่างนี้ทุกวันๆ กลัวมันจะไม่เดือดร้อนหรืออย่างไร กลัวจะไม่ปลุกขึ้นมาทั้งประเทศหรืออย่างไร ชอบแบบนั้นใช่หรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์โมโห ก่อนจะกล่าวต่อว่า มีเรื่องอื่นจะถามอีกหรือไม่ จากนั้นจึงเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันที

78 นักกฎหมาย-ทนายความเข้าชื่อ ยันไม่ผิด ค้านสั่งฟ้อง

วันเดียวกันนี้ (6 พ.ค.2558) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) พร้อมด้วยองค์กรและบุคคล 78 รายชื่อร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คน ที่ถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งปัจจุบันถูกฝากขังโดยอำนาจศาลทหาร

แถลงการณ์ระบุ ดังนี้

แถลงการณ์
เรื่อง เรียกร้องให้สั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คน
เพราะการแสดงความคิดเห็นโดยสงบและสันติไม่ใช่อาชญากรรม 

จากกรณีจับกุมกลุ่มนักศึกษา 14 คน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ปัจจุบันนักศึกษาทั้ง 14 คน ถูกฝากขังโดยอำนาจศาลทหารนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่านักศึกษาทั้ง 14 คนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ คสช. และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจภายหลังการรัฐประหารในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการชุมนุมแสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้ความรุนแรง และไม่มีพฤติการณ์หรือการกระทำใดที่จะถือได้ว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในทางกลับกัน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมและปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่นักศึกษาได้รับรู้จากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาด้วยตนเองอย่างจริงจัง เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกันกับความมั่นคงของรัฐ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) นักกฎหมาย ทนายความ และบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การแสดงความเห็นของนักศึกษาทั้ง 14 คนที่แตกต่างจากรัฐโดยสันติวิธี จึงถือเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) ที่รัฐไทยเป็นภาคี และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 ได้รับรองพันธกรณีดังกล่าวที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ด้วยเหตุผลดังกล่าว การกระทำของนักศึกษาจึงไม่ถือว่าเป็นความผิด การดำเนินคดีนักศึกษา 14 คนต่อไป ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากความเป็นธรรม กระทบต่อความมั่นคงในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และหลักประกันสิทธิของประชาชนเสียเอง

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) องค์กร และบุคคลดังมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1. ให้พนักงานสอบสวนและ/หรืออัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนักศึกษาทั้ง 14 คน และปล่อยตัวไป เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการสันติวิธี และปราศจากความ รุนแรง      

2. ให้ คสช.ยุติการเจรจาในลักษณะกดดันญาติของนักศึกษา อันอาจถือได้ว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของ บุคคลเหล่านั้น อีกทั้งควรยุติให้ข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นลดความน่าเชื่อถือ และอาจจะเป็นการสร้างความเกลียดชังต่อนักศึกษา ซึ่งอาจจะนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น 

ความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือความมั่นคงของรัฐ

1.    สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
2.    สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
3.    มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
4.    นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ
5.    นายศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย
6.    นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ
7.    นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ
8.    นางอำพร สังข์ทอง ทนายความ
9.    นางสาวดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย
10.    นางสาวปรีดา ทองชุมนุม ทนายความ
11.    นายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ
12.    นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ
13.    นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักกฎหมาย 
14.    นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ
15.    นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ทนายความ
16.    นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ทนายความ
17.    นางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ
18.    นางสาวผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ
19.    นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ
20.    นายธรธรร การมั่งมี นักกฎหมาย
21.    นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ
22.    นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความ
23.    นายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมาย
24.    นางสาวชันษา สุพรรณเมือง นักกฎหมาย
25.    นางสาวมึดา นาวานาถ นักกฎหมาย
26.    นางสาวฐิติวรดา ธรรมพิริยะกุล นักกฎหมาย
27.    นายอิสระพงศ์ เวียงวงษ์ นักกฎหมาย
28.    นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ ทนายความ
29.    นายบัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
30.    นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมาย
31.    นางสาวมาซีเต๊าะ หมันหล๊ะ นักกฎหมาย
32.    นายฐิติรัช สร้อยสุวรรณ นักกฎหมาย
33.    นางสาวหนึ่งฤทัย คชสาร นักกฎหมาย
34.    นางสาวสุธาทิพย์ อมปาน นักกฎหมาย
35.    นางสาวคุณัญญา สองสมุทร ทนายความ
36.    นางสาวธันย์ชนก เชาวนทรงธรรม
37.    นายปภพ เสียมหาญ นักกฎหมาย
38.    นางสาวจิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ
39.    นางสาวอรยา ไกรนิรากุล
40.    นางสาวผกามาส คำฉ่ำ
41.    นางเจนจิณณ์ เอมะ
42.    นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย
43.    นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ 
44.    นายสุทธิเกียรติ คชโส นักกฎหมาย
45.    นายปรีดา นาคผิว ทนายความ
46.    นางสาวศุภดี วนประภาเวช 
47.    นางสาวอัญญาณี ไชยชมภู 
48.    นายพนม บุตะเขียว ทนายความ 
49.    นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ 
50.    นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความ 
51.    นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ 
52.    นายอนุชา วินทะไชย นักสิทธิมนุษยชน 
53.    นายวัชระศักดิ์ วิจิตรจันทร์ นักกฎหมาย 
54.    นางสาวสุนิดา ปิยกุลพานิช์ นักกฎหมาย 
55.    นางสาวยลดา ธนกรสกุล 
56.    นางศุกาญจน์ตา สุกไผ่ตา 
57.    นางสาวหมวยอู หนั่นต่า 
58.    นางสาวชนิดาภา ประกายเพชร ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด 
59.    นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ทนายความอิสระ 
60.    นางสาวมนัญญา พูลศิริ นักกฎหมาย 
61.    นางสาวมนทนา ดวงประภา นักกฎหมาย 
62.    นางสาวอุบลวรรณ บุญรัตนสมัย นักกฎหมาย
63.    นางสาวสุภารัตน์ พระโนเรศ นักพัฒนาองค์กรเอกชน
64.    นางสาวอุลัยรัตน์ ชูด้วง นักพัฒนาองค์กรเอกชน
65.    นางสาวนิภาวรรณ แก้วแสนทิพย์ 
66.    นางสาววสี ภูเต็มเกียรติ
67.    นางสาวศิวาพร ฝอดสูงเนิน
68.    นางสาวกรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย
69.    นางสาวชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ นักกฎหมาย
70.     นางสาวประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า ทนายความ
71.    นางสาวปรียาภรณ์ ขันกำเหนิด นักกฎหมาย
72.    นางสาวอชิชญา อ๊อตวงษ์ นักกฎหมาย
73.    นางสาวโสพิศ จ๊ะสุนา ทนายความ
74.    นายกิตติชัย จงไกรจักร นักกฎหมาย
75.    นางสาวหทัยกานต์ เรณูมาศ
76.    นางสาวธัญรัศม์ ขวัญพสุมนต์
77.    นางสาวอัชฌา สงฆ์เจริญ นักกฎหมาย
78.    นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ นักกฎหมาย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ