แถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ทำอาจารย์โดนหมายเรียกผิดคำสั่ง คสช.

แถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ทำอาจารย์โดนหมายเรียกผิดคำสั่ง คสช.

20 พ.ย.2558 กรณีเพจเฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโพสต์ภาพหมายเรียกผู้ต้องหา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับพวก ลงวันที่ 11 พ.ย.2558 ตั้งข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยนัดให้เข้ารายงานตัวที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.

20152011160226.png

วันนี้ (20 พ.ย. 2558) กลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเชียลมีเดีย โดยติดแฮชแท็ก #ทีมอาจารย์อรรถจักร์ และ #มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ด้านกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตร เผยแพร่จดหมายในเพจเฟซบุ๊ก ให้ความเห็นคัดค้านต่อการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

จดหมาย จากกลุ่มเสรีนนทรี ถึงเผด็จการ ผู้บ้าคลั่ง20 พฤศจิกายน 2558 ด้วยพวกเราอายุยังน้อยนัก ที่ผ่านมาได้เพียงอ่านหนัง…

Posted by กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ on Thursday, November 19, 2015

 

ด้านประชาไท รายงานบทสัมภาษณ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ระบุว่า หมายดังกล่าวถูกส่งไปยังนายคงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ตนเองยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด 

อรรถจักร์ กล่าวด้วยว่า หมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการจัดแถลงข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง) ร่วมกันจัดโดยคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ หลังจากนั้นนายทหารพระธรรมนูญได้เข้าแจ้งความต่อผู้ร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม คงกฤช อาจารย์ผู้ได้รับหมายเรียกฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้แต่อย่างใด ตนเองจึงได้โทรไปแจ้งตำรวจเจ้าของเรื่องแล้วเพื่อให้ถอนชื่อของคงกฤชออก และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการระบุด้วยว่า หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งนี้จะส่งถึงอาจารย์ทั้งหมด 8 ราย เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีตนเอง และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. อีกคนหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง

“คงจะรออีกสักพัก หากได้หมายเรียกก็คงไปตามหมายเรียก และอาจมีการแถลงข่าวหน้าสถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง” อรรถจักร์กล่าว

เมื่อถามอรรถจักร์ว่ามีความกังวลใจหรือหนักใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่หนักใจอะไร เรามีหน้าที่ที่จะต้องพูด ต้องแสดงความคิดเห็นต่อสังคมก็ต้องทำกันต่อไป จริงๆ ก็เคลียร์บทบาทนี้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่ให้ทำอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เราเป็นนักวิชาการก็มีหน้าที่ที่จะต้องพูดสิ่งที่เราคิดว่าควรต้องพูด”

“จริงๆ ผมก็ดีเฟนด์แทนมหาวิทยาลัยทั้งหมดทุกแห่งว่าไม่ใช่ค่ายทหาร ไม่ใช่ว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” อรรถจักร์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2558 นักวิชาการจากหลายสถาบันนำโดย ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ รศ.สมชายปรีชาศิลปกุล นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์นักวิชาการ ม.ทักษิณ ดร.มานะ นาคำ นักวิชาการ ม.ขอนแก่น และคณาจารย์มหาวิทยาลัยได้ร่วมแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ โรงแรมไอบิสถ ถนนคันคลองชลประทาน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่

แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย
เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา

จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง

ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่าการที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือสังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อสังคมไทย
เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ