เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคอีสาน แถลงการณ์ “ผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล ไม่ใช่คำตอบ”

เครือข่ายภาคประชาสังคมภาคอีสาน แถลงการณ์ “ผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล ไม่ใช่คำตอบ”

20151205101206.jpg

12 พ.ค. 2558 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคอีสาน ร่วมแถลงการณ์แสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล”  โดยยืนยันรัฐหยุดโครงการดังกล่าว และหาวิธีจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่าร่วมกับประชาชนคนอีสาน พร้อมย้ำ! แถลงการณ์ครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง เพราะเป็นการแสดงจุดยืนของเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอีสานในการปกป้องผลประโยชน์ของคนอีสาน

 

แถลงการณ์

“ผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล ไม่ใช่คำตอบของคนอีสาน”

มายาคติเรื่อง “อีสานแล้งซ้ำซาก” กลายเป็นช่องทางของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องน้ำเพื่อนำเสนอโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตลอดมา “โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล” นับเป็นโครงการล่าสุดที่ กรมชลประทาน และ มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ต่างผลักดันจะให้เกิดขึ้นให้ได้ในยุคนี้ ทั้งที่ปัจจุบันนี้แม่น้ำโขงนั้นมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศมาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนและเขื่อนที่กำลังก่อสร้างคือเขื่อนไซยะบุรี ได้ส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำโขงและระดับน้ำที่ขึ้นๆลงๆอย่างเห็นได้ชัดทำให้เราไม่สามารถจะกำหนดทิศทางของน้ำได้  ประกอบกับปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอที่จะผันเข้ามาเติมในภาคอีสานอย่างแน่นอน และในฤดูฝนเองน้ำในภาคอีสานก็มีมากอยู่แล้ว จะผัน ไปเก็บที่ไหน นี้คือความจริงที่รัฐจะต้องกล้าที่จะฟังเสียงของคนลุ่มน้ำ ไม่ใช่เร่งแต่จะผลักดันโครงการอย่างเดียวเพื่อนำงบประมาณมาตอบสนองคนแค่ไม่กี่กลุ่ม

บทเรียนการจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ในอีสานกว่า 40 ปี แทบจะเป็นบทสรุปความล้มเหลวในทุกโครงการ ได้แก่ โครงการโขง-ชี-มูล เขื่อนปากมูล โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการน้ำแก้จน ฯลฯ ผลที่เกิดจากโครงการเหล่านี้ได้ทำให้ระบบนิเวศสำคัญของอีสานพังพินาศไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ การแพร่กระจายของดินเค็ม การสูญเสียที่ดินทำกิน การสูญเสียพันธุ์ปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาและรอการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้มามากกว่า 20 ปี และผ่านมาแล้ว มากกว่า 10 รัฐบาล โครงการบางแห่งก็กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลวประจานผลงานภาครัฐ บทเรียนและงบประมาณรัฐหลายแสนล้านบาทเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่าและสร้างปัญหามากมายในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ทบทวนแนวทางรูปแบบโครงการแต่อย่างใด กลับจะเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่โดยละเลยกระบวนการและขั้นตอนที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญและติดตามมาตลอด และยังวนเวียนซ้ำซากกับโครงการแบบเดิมๆ ที่เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เงินมากขึ้น และสร้างผลกระทบมากขึ้น

ในยุคที่ทางหน่วยงานรัฐยังพยายามผลักดันโครงการเมกะโปรเจคนี้ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของอีสาน การโหมข่าวว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยต่อโครงการนี้ และการใช้งานวัฒนธรรมประเพณีของคนลุ่มน้ำโขง ในวันที่ 18 เมษายน 2558 ที่แก่งคุดคู้ จังหวัดเลย เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ นับเป็นวิธีการที่ถือว่าไม่จริงใจ และไม่เคารพวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น

พวกเราองค์กรประชาชนต่างๆ ขอแสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล” และหาก กรมชลประทาน และ มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ในฐานะผู้ผลักดันโครงการมีความจริงใจ ก็ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลและเปิดเวทีให้ประชาชนทั้งภาคอีสาน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ได้แสดงความคิดเห็นและเปิดให้มีการถกเถียงกันถึงความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งให้โอกาสประชาชนได้เสนอทางเลือกอันหลากหลายในการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับระบบนิเวศอีสานทั้งหมดที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ทาม ทุ่ง โคก ภู ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละพื้นถิ่นและสามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้อง มีความยั่งยืนกว่า ถูกกว่า บริหารจัดการง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นที่จะต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ หรือใช้แม่น้ำระหว่างประเทศเลย กรมชลประทานไม่ควรสร้างภาพ บิดเบือน และสมรู้ร่วมคิดกับภาคประชาชนจอมปลอม ทำการรวบรัดตัดตอนดำเนินโครงการ โดยออกแบบกำหนดรูปแบบวิธีการทางวิศวกรรมทั้งหมดเอาไว้แล้ว โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของภาคอีสาน รัฐจึงควรจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่ใช่มีส่วนร่วมเพียงแค่ทำไปตามรูปแบบขั้นตอนให้เสร็จๆ ไปตามกฎหมายทั้งที่ได้กำหนดทุกอย่างเอาไว้แล้ว ประชาชนคนอีสานไม่ควรถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนาที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด และนำความหายนะมาให้เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

รัฐต้องหยุด! โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และหาวิธีจัดการน้ำที่ยั่งยืนกว่าร่วมกับประชาชนคนอีสาน

ลงชื่อ

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน

การจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

กลุ่มศึกษาการพัฒนาภาคอีสาน

โครงการทามมูล จ.สุรินทร์

เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสาน

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง(กรณีคัดค้านเขื่อนปากชม) อ.ปากชม จ.เลย

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู

กลุ่มเกษตรและประมงพื้นบ้านเชียงคาน

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

ศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช)

กป.อพช.อีสาน

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง

มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)

20151205101505.jpg

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ