เครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าชื่อร้อง Facebook ตอบคำถาม “ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่?”

เครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าชื่อร้อง Facebook ตอบคำถาม “ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่?”

20160705020237.jpg

6 พ.ค. 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ทำแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อผ่านทางเว็บไซต์ Chang.org ร้องเรียนเฟซบุ๊ก ตั้งคำถาม “Facebook ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่” ภายหลังจาก เกิดกรณีการควบคุมตัวแอดมินเพจเฟซบุ๊กล้อการเมือง และกระแสข่าวเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงกล่องข้อความพูดคุยส่วนตัวรวมทั้งข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ ก่อให้เกิดคำถามเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ 

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุรายข้อมูลในการรณรงค์ ดังนี้ 

20160705021444.jpg

ข้อมูลคำร้องจากรัฐบาลที่เฟซบุ๊กเผยแพร่ในรายงาน Government Requests Report นั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก เฟซบุ๊กแสดงความโปร่งใสว่าในปี 2557 เฟซบุ๊กได้พิจารณาปิดกั้นเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลไทยไป 35 ชิ้น โดยเป็นการปิดกั้นในครึ่งปีหลัง 30 ชิ้น ความโปร่งใสของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ ทำให้เรามีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

รายงานฉบับเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กมีประวัติที่ดีในการพิจารณาคำขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาล โดยระหว่างปี 2556 ถึง 2558 รัฐบาลไทยเคยขอข้อมูลผู้ใช้จำนวนรวม 16 ราย และเฟซบุ๊กไม่ให้ข้อมูลเลยสักราย

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2558 เท่านั้น

เราเข้าใจดีว่าเฟซบุ๊กจะตีพิมพ์รายงานครึ่งปีแรกของ 2559 ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่สถานการณ์ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยเต็มไปด้วยความกลัว สงสัย และไม่มั่นใจ เนื่องจากการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กและการปิดกั้นเนื้อหาบนเฟซบุ๊กในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้บนข้อเท็จจริงว่า การใช้งานเฟซบุ๊กยังปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยอยู่หรือไม่

เรามีความกังวลและต้องการให้เฟซบุ๊กตอบคำถามดังต่อไปนี้

1. ตั้งแต่เริ่มปี 2559 จนถึงขณะนี้ เฟซบุ๊กได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลของผู้ใช้ หรือการปิดกั้นเนื้อหา?

2. ในเดือนมกราคม 2559 คณะกรรมการปฏิรูปสื่อของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอ้างว่าเตรียมเข้าพบกับผู้บริหารของเฟซบุ๊ก เพื่อขอความร่วมมือกับเฟซบุ๊กในการลบเนื้อหาโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล — ตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2014 เฟซบุ๊กได้พบปะหารือกับรัฐบาล คณะกรรมการ หรือหน่วยงานของรัฐ เรื่องความร่วมมือในการลบเนื้อหาหรือความร่วมมืออื่นๆ หรือไม่?

3. ในเดือนเมษายน 2559 ผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กและนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 8 คนถูกจับ สองใน 8 คนดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากเขา ในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข่าวกับ BBC ว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จริง และเป็นการได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย — เฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐของไทยหรือไม่ หรือมีพนักงานของเฟซบุ๊กได้เข้าถึงข้อมูลใน inbox ของผู้ใช้หรือไม่?

4. ในเดือนพฤษภาคม 2559 มีหน้าเฟซบุ๊กที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากเมืองไทย โดยระบบแจ้งว่าเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น — เมื่อเฟซบุ๊กอ้างถึง “กฎหมายท้องถิ่น” เฟซบุ๊กกำลังอ้างถึงใด? กฎหมายปกติ เช่น ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกอย่างมาตรา 112 และมาตรา 116 หรือประกาศในภาวะพิเศษ เช่น คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามอำนาจอันกว้างขวางในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว?

นอกจากคำถามดังกล่าว เรามีข้อแนะนำต่อเฟซบุ๊กดังนี้

– กรณีที่เพจหรือเนื้อหาในเฟซบุ๊กถูกลบออกหรือถูกจำกัดการเข้าถึงในบางประเทศอันเนื่องมาจาก “ข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น” ควรระบุให้ผู้ใช้ทราบด้วยกว่ากฎหมายท้องถิ่นดังกล่าวนั้นคือกฎหมายใด ซึ่งข้อมูลนี้ควรจะปรากฏอยู่ในคำขอจากรัฐบาลอยู่แล้ว

– ข้อมูลเกี่ยวกับการลบเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลในรายงาน Government Requests Report ควรจำแนกประเภทเนื้อหามากกว่านี้เพื่อความชัดเจน และอย่างน้อยควรจำแนก เนื้อหาที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือความสงบเรียบร้อย ออกจากเนื้อหาที่เป็นการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลหรือแพร่กระจายมัลแวร์ เนื่องจากคำร้องบางส่วนจากรัฐบาลอาจเป็นคำร้องที่ชอบด้วยเหตุผล

– ผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 25 ล้านบัญชี เฟซบุ๊กมีความสำคัญกับชีวิตคนจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน และการมีส่วนร่วมกับชุมชน เฟซบุ๊กควรมีช่องทางสื่อสารกับผู้ใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อขจัดข้อสงสัยได้อย่างทันการณ์

– ประเทศไทยกำลังจะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ทั้งนี้ตลอดสองเดือนที่ผ่านมารัฐบาลมีท่าทีอย่างชัดเจนในในการปราบปรามผู้รณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ประกาศและคำสั่งของคสช. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ระเบียบการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามอำนาจอันกว้างขวางในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เฟซบุ๊กจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาคำขอ “ตามกฎหมาย” ของรัฐบาลไทย

– สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารกำลังพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยร่างมาตรา 20 (4) ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์สามารถขอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาได้ แม้ไม่ผิดกฎหมายใดเลย เฟซบุ๊กจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการทำตามคำขอ “ตามคำสั่งศาล” ของรัฐบาลไทย

ด้วยความนับถือ

ผู้ลงนาม

6 พฤษภาคม 2559

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ