เครือข่ายนักวิชาการฯ หารือ กกต. ปมประชามติ – ‘สมชัย’ เตือน NDM หยุดแจกเอกสารแย้ง

เครือข่ายนักวิชาการฯ หารือ กกต. ปมประชามติ – ‘สมชัย’ เตือน NDM หยุดแจกเอกสารแย้ง

วันนี้ (14 ก.ค. 2559) เวลาประมาณ 9.00 น.ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เข้าพบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นจดหมายและหารือในประเด็นว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และ ประชามติที่เสรี (free) และเป็นธรรม (fair) ณ ห้องประชุม 202 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยการนัดหมายมี รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นผู้ร่วมหารือกับตัวแทน คนส.

20161507000204.jpg

 

เครือข่ายนักวิชาการหารือ ‘สมชัย’ ร้องเพิ่มพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นประชามติ

ประชาไท รายงานว่า อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวว่า ขณะที่รัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญในฐานะกติกาที่กำหนดอนาคตของสังคมไทย และเนื้อหารัฐธรรมนูญมีความสลับซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้การประชามติบรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวกลับทำได้จำกัด เนื่องจาก หนึ่ง พ.ร.บ.ประชามติถูกตีความบังคับใช้อย่างไม่สม่ำเสมอและลักลั่น 

บางกรณี กกต. บอกว่าไม่ผิด เช่น กรณีที่นักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แต่บางกรณีกลับถูกมองว่าผิด เช่น กรณีที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี นอกจากนี้ยังไม่บังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มทางสังคมและนักการเมืองที่รณรงค์ให้รับร่าง ส่งผลให้ขาดความเข้าใจร่วมกันว่า ที่สุดแล้วการรณรงค์ทำได้แค่ไหน

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า จากสถิติของคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ประชามติ มี 113 คดี โดย 94 คดีเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2258 ทำให้เกิดคำถามว่า การรณรงค์แบบไหนที่ทำได้ กกต.อาจต้องชี้ว่ากลุ่มที่อยากรณรงค์ ชี้แจงต้องทำอย่างไร

เครือข่ายฯ เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อ กกต. คือ ให้ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี สนับสนุนให้แต่ละฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผย และปกป้องบุคคล กลุ่ม และองค์กรที่รณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญจากการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยว

20161507000211.jpg

‘สมชัย’ ชี้เอกสารความเห็นแย้งไม่ผิด แต่เอกสาร 7 เหตุผล ส่อผิดกฎหมาย

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีที่บ้านโป่งว่า ได้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โทรมาสอบถามในวันดังกล่าวแล้วว่าเอกสารความเห็นแย้งไม่ผิด ส่วนเอกสารแผ่นพับชือ ‘7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นั้น เขามองว่าผิด เพราะมีหลายข้อความเป็นเท็จ 

อย่างไรก็ตาม จะหารือกับ กรธ.บ่ายนี้ ถึงเอกสารต่าง ๆ โดยเอกสารที่จะหารือ เช่น เอกสารความเห็นแย้ง ใบปลิว NDM สติ๊กเกอร์ NDM จดหมายกรณีลำปาง โดยเมื่อได้ข้อสรุปจะทำหนังสือแจ้งความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กกต.ในพื้นที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวเลย ไม่ว่าชี้หรือเป็นพยาน

ส่วนกรณีที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐรณรงค์ให้รับนั้น สมชัยยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความเป็นกลาง หากพบเห็นการกระทำให้แจ้ง กกต. พร้อมชี้ด้วยว่า แม้ในมาตรา 62 พ.ร.บ.ประชามติ จะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐสามารถหายานพาหนะเพื่อพาคนไปใช้สิทธิได้ แต่ กกต.ได้กำหนดแนวทางให้การอำนวยความสะดวกทำได้เฉพาะในสองกรณี คือ ในพื้นที่ยากลำบากในการเดินทางไปใช้สิทธิ และคนพิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยตนเองเท่านั้น โดยต้องขออนุมัติจาก กกต.เขตด้วย จึงจะทำได้

สำหรับกรณีสถิติคดี สมชัยตอบว่า อยากให้แยกข้อเท็จจริง เพราะมีเพียง 19 คดีเท่านั้นที่เกี่ยวกับกฎหมายประชามติ อีก 94 คดีเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งผิดตามประกาศ คสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเกิดก่อน ขณะ หรือหลังประชามติก็ถูกจับทั้งนั้น พร้อมชี้ว่า กกต.ดูแลในขอบเขตของตัวเองคือ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่มีสิทธิไปยุ่งกับส่วนอื่น

สมชัยกล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายฯ เสนอให้เปิดพื้นที่ถกเถียงนั้น นอกจากรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ซึ่งพยายามบาลานซ์ให้ฝ่ายต่างๆ มาแสดงความเห็นแล้ว ขณะนี้ได้ทาบทามสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเพื่อขอช่วงเวลาทำรายการ ความยาว 50 นาที 10 ตอน เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ กรณี 30 บาทรักษาทุกโรค เรียนฟรี 12 ปี เบี้ยสูงอายุ ทรัพยากรธรรมชาติ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยจะเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มนักวิชาการด้วย 40% ส่วนที่เหลือจะเชิญกลุ่มในสังคมอื่น ๆ เข้าร่วม

ทั้งนี้ เอกสารรณรงค์ของกลุ่ม NDM ที่สมชัยระบุว่าผิดนั้น เป็นแผ่นพับที่กางออกมาจะเป็นกระดาษขนาดใหญ่ ด้านหน้าแผ่นพับเขียนว่า 7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหา 59 ประชามติเพื่ออนาคต และมีข้อความอีกว่า “รัฐธรรมนูญเป็นรากฐานอันสำคัญที่นำประชาชนไปสู่อนาคตที่ดีกว่า จึงควรถูกเขียนเพื่อประชาชนทั้งในวันนี้และวันหน้า ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่วันหนึ่งก็จะต้องตายจากไป ซึ่งที่จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนได้นั้นคงจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากประชาชนเอง” 

ข้างใต้แผ่นพับด้านหน้า มีสัญลักษณ์วงกลมสีม่วงอันใหญ่ เขียนว่า “VOTE NO ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ขณะที่เมื่อพลิกไปอีกด้าน จะเป็นรูปการ์ตูนประกอบข้อความ ตรงกลางเป็นภาพใหญ่ รูปคล้ายทหารกำลังกินพานรัฐธรรมนูญ และมีรูปภาพเล็กอื่นๆ ประกอบข้อความ ซึ่งมีดังนี้ เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด, ส.ว.ทหารตั้งโดยทหาร, นายกฯ คนนอก, สถาปนาข้าราชการเป็นใหญ่, คสช.ยังเป็นใหญ่ในแผ่นดิน, องค์กรแต่งตั้งอยู่เหนือประชาชน, ทำหลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพ

20161507000150.jpg

ความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ

 

กรธ.-กกต.หารือปมรณรงค์ประชามติ เผยแพร่เอกสารบิดเบือนร่าง รธน.

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.20 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เป็นประธานการประชุม โดยได้เชิญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับการรณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและกรณีการเผยแพร่เอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 

หลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง นายสมชัย ให้สัมภาษณ์ว่า มีการหารือ 2 แนวทาง คือ 1. แนวทางการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น เพื่อให้วันที่ 7 สิงหาคมประชาชนจะได้ไม่ไปลงประชามติแบบว่างเปล่า โดยต้องสร้างบรรยากาศและเปิดโอกาสให้มีการถกเถียง ภายใต้กรอบกติและไม่ผิดกฎหมาย โดยจะมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2 สัปดาห์ก่อนลงประชามติลงหนังสือพิมพ์ประจำวัน 3 ฉบับ และคาดว่าจะทำให้หนังสือพิมพ์ดังกล่าวมียอดขายกว่า 1 ล้านเล่ม ถือเป็นช่องทางให้ประชาชนรับรู้เนื้อหาสาระแบบเต็ม ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดรายการสาระร่างรัฐธรรมนูญเพื่อออกรายการทางโทรทัศน์ 10 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที และจะเชิญทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ยังเคลือบแคลงมาพูดคุยกันถกเถียงกัน ส่วนหัวข้อจะเลือกที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการและประสานงาน

นายสมชัย กล่าวต่อว่า แนวทางที่ 2 คือการหารือเอกสารที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ พบว่ามีความเห็นตรงกัน ที่มีเอกสารบิดเบือนและข้อความเป็นเท็จ คือกรณีพบจดหมายแจกจ่ายใน จ.ลำปางและ จ.เชียงใหม่ กกต.และกรธ.เห็นตรงกันว่า มี 3 ประการที่บิดเบือนผิดจากร่างรัฐธรรมนูญ คือ 1.ประเด็นเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค 2.สิทธิการเรียนฟรี 12 ปี และ 3.เบี้ยผู้สูงอายุ โดยกกต.จะแจ้งกกต.จังหวัดและตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีอาญา จึงขอแนะนำว่า จากนี้ใครที่มีจดหมายในมือเมื่อทราบว่ามีความผิดแล้วก็ไม่ควรแจกจ่าย

สำหรับเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างฯ ของกลุ่ม NDM พบว่ามีข้อความที่อาจเป็นเท็จไม่สามารถแจกจ่ายในที่สาธารณะได้ จึงขอความร่วมมืออย่าแจกจ่าย ทั้งนี้การแจกเอกสารดังกล่าวก่อนหน้านี้จะไม่เอาเรื่อง ส่วนเอกสารความเห็นแย้ง ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ส่วนตัวเห็นว่าอาจไม่ผิด แม้กรธ.จะไม่มีข้อสรุป แต่ต้องรอการพิจารณาของอนุกรรมการใน กรธ.ให้เสร็จก่อน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ