องค์กรสิทธิ์-นักกฎหมาย ร้องสอบสวน ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ปราบปรามผู้ชุมนุมครบรอบรัฐประหาร

องค์กรสิทธิ์-นักกฎหมาย ร้องสอบสวน ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ปราบปรามผู้ชุมนุมครบรอบรัฐประหาร

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ออกแถลงการณ์ขอให้มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบหนึ่งปี 1 รัฐประหาร นำคนผิดมาลงโทษทั้งทางวินัยและกฎหมาย ด้าน “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม” ร้องยุติดำเนินคดี ตั้งคณะกรรมการที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจจับกุม

23 พ.ค. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ “ขอให้มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบหนึ่งปี 1 รัฐประหาร” ระบุถึงเหตุการณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและที่จังหวัดขอนแก่น โดยแสดงความห่วงใยต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปราม จับกุม และตั้งข้อหาต่อการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและปราศจากความรุนแรง 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเรียกร้อง คือ 1.ให้มีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์โดยทันที อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพในทุกกรณี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้การยุติการชุมนุมเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก

2.การสืบสวนสอบสวนต้องนำมาซึ่งการนำคนผิดมาลงโทษทั้งทางวินัยและกฎหมาย รวมทั้งการพิจารณาการชดเชย การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาต่อผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และไม่จำกัดสิทธิผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย 3.ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุในการปราบปราม ยุติการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐบาลควรเคารพและปกป้องคุ้มครอง

และ 4.ขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาการสั่งคดีด้วยความเป็นธรรม การตั้งข้อหาต่อนักศึกษาสมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นต่อกลุ่มนักศึกษาจนเกิดสมควร ไม่เป็นธรรม

ในวันเดียวกัน (23 พ.ค. 2558) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม แถลงการณ์ “ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษา ที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร” โดยระบุว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว

อีกทั้ง มีข้อเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ 1.ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ

2. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในการเข้าควบคุมตัวและจับกุมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนและนักศึกษา หากการกระทำผิดต้องมีการลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว 

 

20152405021918.jpg

ขอให้มีการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลัง
ปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบในวันครบรอบหนึ่งปี 1 รัฐประหาร

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีการจับกุมนักศึกษาที่ชุมนุมอย่างสงบจำนวนทั้งสิ้น 34 คนหลังการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่หอศิลปกรุงเทพ โดยมีการรายงานว่ามีการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบในการยุติการชุมนุมโดยสงบ การใช้กำลังส่งผลให้มีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสองรายถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และมีภาพเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบใช้กำลัง บีบคอ ล๊อคคอ ดึงผม ดึงศีรษะ จับผู้ชุมนุมลากถูไปบนพื้นถนน เป็นต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมชายอายุ 24 ปีที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกาย โดยการเตะ ต่อย ชกทำร้าย จนมีร่องรอยบาดแผลตามร่างกาย มีการกอดรัดคอและมีเจ้าหน้าที่บางรายใช้หัวเข่ากดกระแทกบริเวณหน้าอก และลากผู้เสียหายรายนี้จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง มีการข่มขู่ทางวาจาและขณะนั้นก็มีการรุมเตะทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและสลบไป เจ้าหน้าที่ได้นำน้ำมาราดที่หน้าจนฟื้นแล้วผู้เสียหายก็มีอาการหายใจไม่ออก จนอาเจียน ต่อมาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้เสียหายมีบาดแผลบริเวณหน้า คอ แขนทั้งสองข้าง ตาขวาปิดเกือบสนิท มีอาการบาดเจ็บที่ซี่โครงด้านขวา ปัจจุบันยังคงพักรักษาตัวและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่าการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสงบสันติต้องได้รับการเคารพ การกระทำของเจ้าหน้าที่เพื่อยุติการชุมนุมหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่สมควรกว่าเหตุและได้สัดส่วน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาทั้ง 34 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหา อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก่อนปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนพร้อมให้ผู้ชุมนุมทุกรายเขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหว 

ในวันเดียวกันมีเหตุการณ์ยุติการชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่น มีนักศึกษาจำนวน 7 ราย ถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นเวลาหนึ่งคืน ต่อมาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 3 /2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร โดยล่าสุดเช้านี้ นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คนได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงใยต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปราม จับกุมและตั้งข้อหา การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและปราศจากความรุนแรง ขอเรียกร้องดังนี้ 

1) ขอเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์โดยทันที อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพในทุกกรณี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้การยุติการชุมนุมเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอีก

2) การสืบสวนสอบสวนต้องนำมาซึ่งการนำคนผิดมาลงโทษทั้งทางวินัยและกฎหมาย รวมทั้งการพิจารณาการชดเชย การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาต่อผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสมและเพียงพอ และไม่จำกัดสิทธิผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย 

3) ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุในการปราบปราม ยุติการชุมนุมโดยสงบของประชาชน อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐบาลควรเคารพและปกป้องคุ้มครอง

4) ขอให้พนักงานสอบสวนพิจารณาการสั่งคดีด้วยความเป็นธรรม การตั้งข้อหาต่อนักศึกษาสมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นต่อกลุ่มนักศึกษาจนเกิดสมควร ไม่เป็นธรรม

000

20152405022003.jpg20152405022018.jpg

แถลงการณ์ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบและสันติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร

จากกรณีที่มีประชาชน นักศึกษา ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ปรากฏตามภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ทำกิจกรรมบริเวณดังกล่าวรวม 46 ราย โดยในการเข้าจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่สมควรต่อประชาชนและนักศึกษาบางรายจนได้รับบาดเจ็บ และมีการตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น จำนวน 7 คน นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนและนักศึกษาดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไว้ ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

2. ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐมีหน้าที่ต้องผูกพันตามพันธะกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 19 “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก…” และข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540 รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน และพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

3. ด้วยเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนและนักศึกษาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการชุมนุมโดยสงบและสันติ อีกทั้งไม่อาจใช้อำนาจและกระทำการที่ก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนแต่อย่างใด

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้

1. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ

2. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในการเข้าควบคุมตัวและจับกุมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีการใช้อำนาจอันส่งผลกระทบต่อสิทธิในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนและนักศึกษา หากการกระทำผิดต้องมีการลงโทษผู้กระทำความผิดและเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว 

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ