คอลัมน์: ไม่ใช้อารมณ์ เรื่อง: สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์ ภาพ: โกวิท โพธิสาร
เหตุการณ์อื้อฉาวในมาเลเซีย กรณีที่ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค จากพรรคร่วมรัฐบาล BN (Barisan Nasional) ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย เข้าบัญชีตัวเอง และใช้อำนาจในการกำจัดขั้วตรงข้าม เช่น สั่งปลดรัฐมนตรี ดึงพวกตนเองเข้ามาแทน สั่งปิดสื่อที่ออกโจมตีประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต จนในที่สุด คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของมาเลเซียเปิดเผยว่า นาจิบไม่ได้ยักยอกเงินจากกองทุน แต่เงินที่เข้าบัญชีนั้นเป็นเงินบริจาค
แม้เรื่องนี้อาจจบด้วยความเคลือบแคลงสงสัย แต่กลับสะท้อนให้เห็นความเข้มข้นในการต่อสู้ทางการเมือง การต่อรองบนความหลากหลาย และการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี
ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี 2500 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง พรรคอัมโน (United Malays National Organisation UMNO) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตลอด และนาจิบ ราซัค ก็คือตัวแทนจากพรรคอัมโนในพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล BN (Barisan Nasional) ของมาเลเซีย หลังการเลือกตั้งปี 2013 ที่ผ่านมา
ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีความหลายหลายทางเชื้อสายมาก โดยหลักๆ ประกอบไปด้วยเชื้อสายมาเลย์ เกือบ 50 % จีน 24 % อินเดย 7 % และชนพื้นเมืองอื่นๆ 11 % ด้วยความหลากหลายทางเชื้อสาย ศาสนา และพหุวัฒนธรรม จึงเกิดพรรคการเมืองราว 30 พรรค ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เพื่อเข้าไปต่อรอง เช่น พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรค Parti Islam SeMalaysia (PAS) พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย หรือ Malaysia Chinese Association (MCA) พรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือพรรค Parti Gerakan Rakyat Malaysia พรรคกิจประชาธิปไตย หรือ Democratic Action Party (DAP)
แต่พรรคแนวร่วมแห่งชาติ BN (Barisan Nasional) ที่มีฐานเสียงเชื้อสายมาเลย์ เป็นพรรคที่ครองอำนาจมาโดยตลอดในเกือบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา และแผ่อิทธิพลไปทั่วทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น ทั้งครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างยาวนาน สามารถชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด โดยเต็มไปด้วยข้อหาการทุจริตคอรัปชั่น โกงเลือกตั้ง และนโยบายประชานิยม New Economic Policy , New Economic Model (NEM) เปิดช่องให้ภาครัฐคอรัปชั่นอย่างมากมาย สร้างความเบื่อหน่ายแก่เสียงส่วนน้อยและฝ่ายค้าน เช่น เชื้อสายจีน อินเดีย และมุสลิมบางส่วน เป็นอย่างมาก
คำถามคือการครองอำนาจอย่างยาวนานผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ จะทำให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติครองอำนาจต่อไปโดยใช้เสียงส่วนใหญ่และเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การเลือกตั้ง’ ได้ตลอดหรือไม่ ในยุคสมัยที่มีความซับซ้อนทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ ความต้องการต่อรองผลประโยชน์ที่สูงมากขึ้นขนาดนี้
มากไปกว่านั้น ตัวชี้วัดความเสื่อมของพรรคแนวร่วมแห่งชาติคือผลของการการเลือกตั้งที่ผ่านมา 3 ครั้งใน 10 ปี ที่มีการวิเคาะห์กันว่านี่คือ ‘สึนามิทางการเมืองมาเลเซีย’ ที่เกิดจากความเบื่อหน่ายการบริหารประเทศของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ
ปรากฎการณ์การเลือกตั้งปี 2008 ที่ นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ประกาศยุบสภา จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 222 ที่นั่ง พรรคแนวร่วมแห่งชาติ ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 140 ที่นั่ง แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วยพรรค DAP (Democratic Action Party) พรรค PAS (Parti Islam Se-Malaysia) และพรรค PKR (Parti Keadilan Rakyat) ได้ 82 ที่นั่ง
โดยแตกต่างจากปี 2004 เพราะฝ่ายค้านสามารถแย่งชิงคะแนนเสียงในหลายพื้นที่และทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นถึง 62 ที่นั่ง
ตารางเปรียบเทียบจำนวนสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร ทั้งในปี 2004 เเละ 2008
(ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.pataniforum.com/single.php?id=140 )
เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลสะท้านสะเทือนอย่างมหาศาลต่อพรรคแนวร่วมแห่งชาติ และการเมืองมาเลเซียอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนั้น การเลือกตั้งในปี 2013 ที่ผ่านมา แม้ว่าพรรคแนวร่วมแห่งชาติสามารถชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้ง และโดนโจมตีว่าทุจริตเลือกตั้งก็ตาม แต่จำนวนที่นั่งก็ลดลงถึง 7 ที่ เมื่อเทียบกับปี 2008 โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ที่นั่ง 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 7 ที่นั่ง โดยมีปรากฎการณ์ที่น่าแปลกใจอีกคือ พรรคแนวร่วมรัฐบาลเช่น พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย (MCA หรือ Malaysian Chinese Association) ได้เทคะแนนไปทางฝ่ายค้านอย่างมหาศาล นั่นหมายถึงการแสดงออกของคนจีนในมาเลเซียที่ไม่พอใจกลุ่มอำนาจเก่า และเป็นการสั่งสอนพรรคของตัวเองที่ยังคงร่วมกับฝ่ายรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติ
การครองอำนาจอย่างยาวนานชอบธรรมด้วยระบอบประชาธิปไตยของอัมโนและพรรคแนวร่วมแห่งชาติ เต็มไปด้วยข้อกล่าวหามากมาย เล่นพรรคเล่นพวก ทุจริตคอรัปชั่น แต่จากปรากฎการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมา 2-3 ครั้ง นั่นคือความฝ่ายแพ้ของเสียงส่วนมาก และเป็นการสะสมชัยชนะของเสียงส่วนน้อยไปเรื่อยๆ ด้วยการเทคะแนนไปให้ผ่ายค้านอย่างมากมาย ปฎิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายรัฐบาลเริ่มหมดความชอบธรรมแล้ว
ถึงที่สุดว่า นาจิบ ราซัค จะยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป และอาจหลุดพ้นข้อกล่าวหาทุจริต แต่การเมืองของมาเลเซียหลังจากนี้คงไม่สามารถกลับไปเหมือนเก่าได้อีกต่อไป รวมถึงการเกิดขึ้นของ Bersih ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชนที่ชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2007 เพราะไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา อาทิ การทุจริตเลือกตั้ง การเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ ลิดรอนเสรีภาพสื่อ รวมถึงจะมีการชุมนุม Bersih 4.0 จากเหตุการณ์ทุจริตของนายกรัฐมนตรีหลังจากนี้
แม้ว่าที่ผ่านมาพรรคอัมโนจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมแห่งชาติมาโดยตลอด และเต็มไปด้วยการโกง อยู่ได้เพราะการเลือกตั้ง แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมา และหลังจากนี้อาจถูกตัดสินให้ออกจากอำนาจด้วย ‘การเลือกตั้ง’ เช่นกัน
ที่น่าสนใจคือกองทัพเองแทบไม่มีบทบาทในเวทีการเมืองเนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดให้กองทัพมีบทบาทน้อยมาก โดยมุ่งไปที่การป้องกันประเทศมากกว่า
เหนืออื่นใด แม้ประเทศมาเลเซียจะมีความวุ่นวายขนาดไหน แต่กองทัพก็ไม่เคยทำรัฐประหาร