สิ้นแสงฉาน : เป็นมากกว่าหนัง – คุยความคิดกับนางเอก โปรดิวเซอร์ และคนไทใหญ่

สิ้นแสงฉาน : เป็นมากกว่าหนัง – คุยความคิดกับนางเอก โปรดิวเซอร์ และคนไทใหญ่

เสียงบ่นเสียดายดังระงมจากผู้ชมจำนวนมากที่พลาดการได้ชม เมื่อสถานเอกอัครราชทูตออสเตรียประจําประเทศไทย จัดฉายภาพยนต์เรื่อง “สิ้นแสงฉาน” Twilight Over Burma รอบพิเศษ ที่กรุงเทพ และเชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2559 แต่บัตรไม่เพียงพอต่อความต้องการและยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถฉายภาพยนต์เรื่องนี้ในไทยหรือเมียนมาได้แพร่หลายแค่ไหน (ล่าสุดได้รับแจ้งว่า จะมีการฉายที่กรุงย่างกุ้ง ในเทศกาลหนัง Human Rights Human Dignity International Film Festival เพียง 2 รอบเท่านั้นคือ  15 มิ.ย. โรงภาพยนตร์ Naypyitaw เวลา 12:45 17 มิ.ย. โรงภาพยนตร์ Junction Square เวลา 15:30 น. แต่ล่าสุดของล่าสุดคือ ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายแล้ว จากหน่วยเซ็นเซอร์ของเมียนมาร์  http://transbordernews.in.th/home/?p=13055 )

เมื่อครั้งสิ้นแสนฉานเปิดฉายรอบพิเศษที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากตัวแทนจากสถานกงศุลต่างๆ ยังมีนักแสดง กลุ่มชาวไทยใหญ่ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับเชิญเข้าร่วม เพราะเชียงใหม่เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนี้และยังมีนักแสดงจากที่นี่หลายคนปรากฏในเรื่อง เราได้พูดคุยกับคนไทยใหญ่และนักแสดงภาพยนต์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากเรื่องนี้  สิ่งที่ได้พูดคุยทำให้พบว่า “สิ้นแสงฉาน”เป็นมากกว่านวนิยายหรือภาพยนต์จริงๆ

ปรดิวเซอร์ นักแสดง กงสุลออสเตรียประจำจังหวัดเชียงใหม่ และชาวไทใหญ่ในวันฉายภาพยนต์สิ้นแสงฉานรอบพิเศษที่เชียงใหม่

“เนื้อเรื่องอาจเป็นหนังประวัติชีวิตของผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ที่นั่น แต่สำหรับตัวเองคิดว่านี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ข้อมูลประวัติศาสตร์หรือภาพยนตร์  แต่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในอดีต  ซึ่งคนไทยใหญ่จำนวนมากอยากดู โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่จะได้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมให้กับทั้งคนกลุ่มชาติพันธุ์  หรือแม้แต่การต้องต่อสู้ของไทยใหญ่ เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมเราต้องเรียกร้องให้มีความเสมอภาค และยังต่อสู้อยู่จนถึงทุกวันนี้” จ๋ามตอง ชาวไทยใหญ่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าบอกกับเรา

สิ้นแสนฉาน Twilight Over Burma สร้างมาจากหนังสือชื่อ Twilight Over Burma – My Life as a Shan Princess เขียนโดย อิงเง เซอร์เจน เจ้าของชะตากรรมอันพลิกผัน  ปัจจุบันเธอยังคงมีชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา

หนังเปิดเรื่องด้วยฉากน่าตื่นเต้นของการหาทางออกนอกประเทศเมียนมาของ “อิงเง” หรือ “สุจันทรีมหาเทวี” และลูกๆ หลังจากเจ้าจาแสงถูกจับกุมตัวไป ในห้วงการยึดครองประเทศของนายพลเนวิน    เรื่องราวย้อนดำเนินไปถึงการคิดคำนึงของ “อิงเง เซอร์เจน” ที่ย้อนไป กว่า 50 ปีก่อน จากเด็กสาวชาวออสเตรีย เธอได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และพบรักกับเด็กหนุ่มเอเชียนักเรียนวิศวกรรมเหมืองแร่ โดยที่ไม่รู้เลยว่าเขาคือเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าไทใหญ่แห่งเมืองสีป้อ รัฐฉาน

เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตคู่และเดินทางมายังเมืองสีป้อ ชีวิตของ “อิงเง” เปลี่ยนแปลงจากหญิงสาวธรรมดาสู่ “สุจันทรีมหาเทวี” ชายาแห่งเจ้าจ่าแสง แห่งเมืองสีป้อ ที่ต้องเรียนรู้ปรับตัวทั้งการใช้ชีวิตและทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองในเมียนมาขณะนั้น ซึ่งก็ต้องแลกกับชีวิตที่ผกพันดังซิลเดอเรลล่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นายพลเนวินเข้ายึดอำนาจในปี 2505 และเจ้าจ่าแสงถูกจับตัวและหายสาบสูญไป “อดีตมหาเทวี”เฝ้ารอและติดตามข่าวคราวของเจ้าจ่าแสง กระทั่งสถานการณ์ตึงเครียด เธอจึงได้พาลูกสาวทั้ง 2 ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่สหัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน  

20160606173039.jpg

                                                     จามตอง กับโปรดิวเซอร์ “สิ้นแสงฉาน”
 

“อดีตมหาเทวีก็พูดถึงภาพยนต์เรื่องนี้ว่า หวังว่าจะทำให้ผู้ได้รับชมเข้าใจว่าเหตุการณ์ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร  และสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันว่ายังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ และทุกวันนี้อดีตมหาเทวี ยังเขียนหนังสือ และระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัย และผู้ที่ได้รับความลำบาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน งานสาธารณะประโยชน์ของชาวไทใหญ่ทั้งในไทใหญ่ เมืองไทย และในพม่า” จามตองบอก

อะไร ? ที่ปรากฏอยู่ในหนัง และยังเกิดขึ้นในทุกวันนี้  จามตองอธิบายว่า ในหนังเราเห็นความเจ็บปวดของอิงเง กับลูกๆ แม้เหตุการณ์จะยาวนานตั้งแต่ปี 1962  แต่อดีตมหาเทวีและลูกๆ มีชีวิตที่เติบโตขึ้นมากับความทุกข์และเจ็บปวดทั้งจากการที่เจ้าจ่าแสงถูกจับหายตัวไป แม้จะเขียนจดหมายสอบถามเรียกร้องความเป็นจริงและคำขอโทษ แต่ไม่ได้รับคำตอบ สิ่งที่คือภาพสะท้อนที่ปรากฏอยู่กับหลายๆ ครอบครัวของคนไทยใหญ่ในปัจจุบัน 

“การต่อสู้ การถูกละเมิด การยังไม่มีความเสมอภาคที่ปรากฏในหนัง ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาก กองทัพทหารเมียนมายังใช้เครื่องบินรบโจมตีในเมืองสีป้อ เมืองจ๊อกแม ที่ประชาชนหลายพันคนต้องลี้ภัย สถานการณ์ยังเหมือนในหนัง ยังไม่มีความยุติธรรมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่มีสิทธิปกครองตนเอง หรือมีความเสมอภาคทางการเมืองแบบสหพันธรัฐจริงๆ แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีก็ตาม”  

20160606174033.jpg

จามตอง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวไทใหญ่ เจ้าของรางวัลสันติภาพนักศึกษาจากกลุ่มนักศึกษานานาชาติประเทศนอร์เวย์

จามตองบอกด้วยว่า สิ่งที่เธอหวังคือ ภาพยนต์หรือนวนิยายเรื่องนี้จะทำให้ผู้คนสนใจมากกว่าความเป็นหนัง แต่ทำให้เราได้ระลึกว่า สถานการณ์ในรัฐฉานตอนนี้ก็ไม่มีเปลี่ยนแปลงแท้จริง และชาวไทใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ถึงตอนนี้ยังไม่มีการเจรจาทางการเมือง มีแต่การพูด การลงนาม แต่ความเป็นจริง หนึ่งในสี่ของทหารพม่ายังคุมอยู่ในรัฐฉาน และในเขตชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่  และด้วยสาเหตุของสงครามภายในยาวนานนาเอง ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ในรัฐฉานหลายกลุ่มต้องหนีมาประเทศไทยและยังไม่สามารถกลับบ้านได้ คนที่ถูกขับไล่จากหมู่บ้านจำนวนหนึ่งก็ยังไม่สามารถกลับไปในบ้านตัวเองได้เพราะการสู้รบอยู่

                                             

โปสเตอร์ภาพยนต์ สิ้นแสงฉาน – ภาพจากอินเตอร์เน็ต

การเปิดใจถึงเบื้องหลังความคิดความรู้สึกของอัลเฟรด ดอยช์ โปรดิวเซอร์ และมาเรีย เอห์ริช นักแสดงสาวชาวเยอรมันซึ่งรับบทเป็น “อิงเง” ก็ชัดเจนว่า “สิ้นแสงฉาน” เป็นมากกว่าภาพยนต์

อัลเฟรด ดอยช์ โปรดิวเซอร์เล่าว่า เขาได้อ่านหนังสือเรื่องราวของอิงเง ซึ่งเป็นชาวออสเตรียและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เป็นเรื่องที่ยากที่จะระดมทุนในการผลิตหนังลักษณะนี้ในออสเตรีย เพราะมันแพง และมีคำถามว่าทำไมจะต้องใช้จ่ายเงินและไปถ่ายทำเรื่องราวในเมียนมา แต่เราก็อธิบายว่านี่คือเรื่องราวของผู้หญิงออสเตรีย นั่นเป็นจุดเริ่มต้น  และไม่ใช่ว่าภาพยนต์เรื่องนี้จะเพิ่งมาเริ่มทำ เขาและทีมงานใช้เวลากว่า 9 ปีในการหาเงินทุน ตัดเลือกตัวนักแสดง เขียนบท ปรับบทมากมาย  ไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษว่าจะทำตอนนั้นหรือตอนนี้ และการทำหนังเรื่องนี้ก็ยากเรื่องการเลือกสถานที่ถ่ายทำ เช่นฉากเกี่ยวกับแม่น้ำ ที่จะต้องย้อนอดีต แต่พม่าทุกวันนี้ไม่เหมือนอดีต ตอนนี้ทุกบ้านมีทีวี มีน้ำอัดลม มีสิ่งต่างๆที่ ไม่สามารถเอามันออกไปจากฉากไปได้ เลยมีการใช้พื้นที่อื่นในการเซ็ทถ่ายทำที่สามารถจะจัดการได้  และมีหลายฉากในภาพยนต์ที่ดัดแปลงจากหนังสือเพื่อให้มีลักษณะของภาพยนต์ที่สมบูรณ์ขึ้น

สำหรับมาเรีย เธอเป็นชาวเยอรมัน แต่ได้รับเลือกให้เป็นนักแสดงนำ เธอเล่าว่าเอเจนซี่ส่งเธอมาคัดตัวแสดงบทอิงเง่ โดยมอบบทสิ้นแสงฉานให้เธออ่าน เธอตื่นเต้นและประทับใจชีวิตที่เป็นเหตุการณ์จริงเรื่องนี้มาก และอยากจะแสดง แต่จะต้องไปคัดเลือก เธอหวังว่าจะทำได้และก็เป็นจริง เธอจึงตั้งใจกับการแสดงครั้งนี้มาก  

“สำหรับฉันมันน่าตื่นเต้นมาก ฉันมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก ต้องเรียนรู้ ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทีมงานพาฉันไปสถานที่ต่างๆ ไปเยี่ยมชมวัด เขาให้ฉันศึกษาวัฒนธรรมที่น่าจะใช้ประโยชน์ได้ แต่ฉันไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ บางครั้งฉันรู้สึกเหมือนทำอะไรไม่ค่อยถูก อย่างการไหว้ เหมือนฉันทำไม่ถูกวิธี แต่เมื่อรับรู้ความหมายมากขึ้น ก็เริ่มจะเข้าใจ และจะรักวัฒนธรรมเอเชีย   และอีกอย่าง มันเกิดเรื่องน่าเศร้าในใจฉัน ที่ไม่สามารถทำตัวสนุกได้ตลอดเวลาหลังจากเลือกที่จะแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว  อย่างฉากที่อิงเงรับรู้ว่าเจ้าจ่าแสงอาจจะตายไปแล้ว ทุกคนร้องไห้กับฉากนั้น มันเป็นฉากที่ยากมากและเป็นฉากที่ดีมากที่ผู้ชมจะรับรู้ว่าเรารู้สึกกับเรื่องราวนี้อย่างไร” 

มาเรีย ยังเล่าถึงความรู้สึกของเธอต่อสถานการณ์จริงในเมียนมา และประสบการณ์ตรงของเธอเมื่อเดินทางไปเมืองสีป้อด้วยว่า

“ฉันรู้สึกกังวลเหมือนกันที่มาฉายภาพยนต์ให้คนไทใหญ่ คนพม่าหรือคนไทยชม ฉันหวังว่าจะผู้ชมชอบภาพยนต์เรื่องนี้ และหวังว่าบางอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี  ก่อนหน้านี้ฉันไม่ค่อยทราบสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมามากนัก แต่ตอนนี้ก็ได้ทราบข่าวสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในเมียนมาเพิ่มขึ้นจากการติดตามข่าวสาร และสิ่งที่ยังอยู่ในความคิดของฉันและรู้สึกขนลุกคือ หลังจากที่เราถ่ายทำสิ้นแสงฉานเสร็จ ฉันและทีมงานได้ไปที่มัณฑะเลย์ แล้วก็ไปที่เมืองสีป้อ เป็นประสบการร์ที่น่ามหัศจรรย์มาก ฉันจินตนาการถึงเมืองสีป้อ อยากรู้ว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร  

เมื่อไปถึงที่นั่น ใจฉันเต้นแรงมาก วันแรกเราไปถึงและเข้าที่พัก วันที่สองฉันจึงอยากไปเห็นพระราชวัง  ก่อนจะไปถึงที่นั่น ฉันจินตนาการถึงผู้คน เหตุการณ์ที่รับรู้มา มันน่าขนลุกมาก เมื่อเราเข้าไปในพระราชวังเดิม  ฉันเจอผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อฉันบอกเธอเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอถามว่าจะมาถ่ายทำที่นี่หรือ  ฉันตอบไปว่า ไม่ๆๆ เราถ่ายทำเสร็จแล้ว ฉันแสดงเป็นอิเง  ถึงตอนนั้นมันยากที่ปลีกตัวออกมา เพราะเธออยากให้ฉันนั่งคุยเรื่องนี้ ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรเลยบอกว่า  ฉันรู้ว่าอิงเงต้องออกจากประเทศนี้ และไม่สามารถเอาอะไรไปด้วย ฉันอยากจะติดต่อเธอ อยากจะนำของบางอย่างไปให้เธอ ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าไม่สามารถทำได้หรอกเพราะทหารเอาทุกอย่างไป  ฉันช็อคและคิดว่าเป็นเรื่องเศร้าและอยากจะร้องไห้  ฉันจิตนาการถึงความสวยงามของพระราชวังที่ฉันเห็นในภาพ แต่มันไม่ใช่  ฉันเลยเดินออกไปบริเวณรอบๆ  ผู้หญิงคนนั้นบอกฉันว่าถ้ากลับมาอีกครั้งจะมีบางอย่างมอบให้

เมื่อฉันกลับไป เธอให้หนังสือฉันมา 3 เล่ม เล่มแรกเกี่ยวกับประชาธิปไตยในอเมริกา เล่มที่สองเป็นหนังสือเกี่ยวกับปืน และอีกเล่มเป็นหนังสือสนุกๆ  ฉันเอาหนังสือสามเล่มนี้กลับออกมาจากเมียนมามาถึงเยอรมันด้วยความกดดันว่ามันจะเสียหาย  ตอนนี้หนังสืออยู่กับฉันและฉันยังไม่ได้มอบหนังสือพวกนั้นให้กับอิเง แต่ฉันอยากจะส่งมันให้เธอ นั่นก็เป็นประสบการณ์ของฉันที่เมืองสีป้อ”

บันทึกผู้เกี่ยวข้องไว้ในวันที่การรอคอย “สิ้นแสงฉาน” ยังคงเป็นไป …ทั้งการรอคอยที่ภาพยนต์เรื่องนี้จะได้การฉายแพร่หลาย และรอคอยการเปลี่ยนแปลงในรัฐฉานจะเกิดขึ้นแท้จริง

20160606174235.jpg

                                            ฉากที่อิงเง และเจ้าจ่าแสงพบกันที่สหรัฐอเมริกา – ภาพจากอินเตอร์เน็ต

20160606174308.jpg

                                             ฉากที่เจ้าจาแสงถูกควบคุมตัว – ภาพจากอินเตอร์เน็ต

20160606174329.jpg

                                                              สุจันทรีมหาเทวีกับลูกสาวทั้งสอง

20160606174244.jpg
ภาพครอบครัวของเจ้าจ่าแสงและอิงเง-ภาพจากอินเตอร์เน็ต

                                                           

อิงเง ปัจจุบันพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา -ภาพจากอินเตอร์เน็ต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ