สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ – ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ รับทราบข้อเท็จจริง ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตามที่ภาคประชาชนร่วมร้องเรียนจากผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 ประมาณ 09.00 ณ สำนักงานฝ่ายพัฒนาจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ (หน่วยจัดการป่าต้นน้ำ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ) ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากพื้นที่ชุมชนโคกยาวและชุมชนบ่อแก้ว ร่วมประชุมกับตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอำเภอคอนสาร หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า (ชย.4 คอนสาร) หัวหน้าสวนป่าคอนสาร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตามที่ภาคประชาชนร่วมร้องเรียนจากผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ
ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านทั้งในพื้นที่ชุมชนโคกยาวและชุมชนบ่อแก้ว ถือครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม รวมทั้งกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาลตามนโยบายที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอแนวเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของรัฐสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข โดยเสนอให้ยุติการปฏิบัติการ ข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามผลักดันไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ รวมทั้งยุติการดำเนินคดี ในช่วงระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม
นายสมเจตน์ โรจน์พัฒนกุล ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ชี้แจงว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง และมีมติให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน กระทั่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรับฟังข้อมูลที่ได้รับทราบจากการลงพื้นที่ นำไปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันร้องเรียนเป็นการต่อไป
นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งหัวหน้าป่าไม้ ชย.4 (กรณีชุมชนโคกยาว) และหัวหน้าสวนป่าคอนสาร ออป. (กรณีชุมชนบ่อแก้ว) ต่างยืนยัน และให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า ภายหลังได้มีหนังสือจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ให้ดำเนินการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ปัจจุบันหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการขับไล่ รื้อถอน หรือกระทำการใดๆ ได้ ตามนโยบาย จนกว่าจะได้รับคำสั่งที่ชัดเจนเป็นการต่อไป
หลังจากการประชุม ในเวลาประมาณ 11.00 น. คณะผู้ร่วมประชุมได้ร่วมกันลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น.ได้เดินทางไปที่ชุมชนบ่อแก้ว
นายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าว่า ภายหลังพื้นที่ทำกินเดิมจะถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามปี 2516 ต่อมาช่วงปี 2528 ได้มีโครงการปลูกสวนป่าทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูก เจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน รับปากว่าจะหาที่ดินทำกินให้ใหม่ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ที่จัดสรรให้มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว พวกตน กว่า 33 ครอบครัว จึงตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ จึงได้เกิดกระบวนการต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ทำกินคืนมานับแต่นั้น
กระทั่งปี พ.ศ.2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่จริง และในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อนสามารถทำกินในพื้นที่สวนป่าไปพลางก่อน
นายเด่น เผยอีกว่า แม้กระบวนการแก้ไขปัญหาจะดำเนินการต่อเนื่องมาถึง ปี 2553 ตามมติ ครม.เห็นชอบให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงระหว่างการแก้ไขปัญหา แต่ในพื้นที่ก็ยังถูกดำเนินคดีรวม 10 คน อีกทั้งพื้นที่ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินงานการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ แต่ในทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน ด้วยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการละเมิดสิทธิ ถูกข่มขู่ คุกคาม อยู่สืบเนื่องเรื่อยมา
กระทั่งหลังรัฐประหาร ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 เข้ามาปิดประกาศไล่รื้อชุมชนออกภายใน 15 วัน นับแต่วันปิดประกาศเมื่อวันที่ 25 ส.ค.57 ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ก็ยกขึ้นมาปิดประกาศไล่รื้อออกจากพื้นที่อีก ทั้งที่มีการประชุมร่วมกันระหว่างพีมูฟกับตัวแทนรัฐบาล ที่มีมติให้ยุติการดำเนินการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อความปกติสุขของประชาชน จนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่วายที่จะมาถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติการซ้ำๆ แบบนี้อีก
ส่วนนายนิด ต่อทุน ตัวแทนชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็มีเจ้าหน้าที่ของภาครัฐก็ลงมาตรวจสอบพื้นที่หลายครั้ง ต่างได้ข้อยุติร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินชาวบ้านจริง แล้วให้ส่งมอบที่ทำกินเดิมให้แก่ผู้เดือดร้อน อย่างไรก็ตามในภาคปฏิบัติยังไม่เคยเกิดขึ้นตามความจริง นอกจากหน่วยงานภาครัฐคอยหาจังหวะไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ กระทั่งหลังรัฐประหาร ถือเป็นยุคแห่งความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพชีวิตและจิตใจที่สุด
“คำสั่ง คสช.ที่ 64/57 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.57 ไล่รื้อชุมชนอกจากพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าย่อมเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การทำมาหากินขาดช่วง ต้องเดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป กระทั่งมาถึงวันนี้ ที่มีตัวแทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงขอฝากให้ดำเนินการตามขั้นตอนการแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต รวมทั้งแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 1,500 ไร่ ได้เกิดความเป็นจริงขึ้นมาด้วย”
นายนิด บอกอีกว่า ชุมชนบ่อแก้ว คือผู้สูญเสียที่ดินทำกิน หลังจาก อ.อ.ป.ยึดที่ดินทำกินไปปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ หรือสวนป่าคอนสาร กระทั่ง 17 ก.ค.52 ผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันบุกเข้าไปยึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาได้ และจัดตั้งเป็นชุมชนบ่อแก้ว ได้ร่วมพลิกฟื้นพัฒนาผืนดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยแนวคิดบริหารจัดการที่ดิน ไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรมอินทรีย์
จำนวนพื้นที่ที่ถูก อ.อ.ป.ยึดไปปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ กว่า 4,000 ไร่ ชุมชนบ่อแก้วยื่นข้อเสนอนำร่องเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนเพียง 1,500 ไร่ แม้จะมีมติให้ยกเลิกสวนป่าฯ และส่งมอบที่ดินคืนให้กับผู้เดือดร้อน แต่ในภาคปฎิบัติกลับไม่ดำเนินการอย่างใด นอกจากพื้นที่ 80 กว่าไร่ ที่พวกเรายึดคืนมาได้ ปัจจุบันผู้เดือดร้อนสามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่ได้เพียง 50 กว่าหลังคาเรือน แน่นอนว่าไม่เพียงพอสำหรับผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 270 ครอบครัว