ศูนย์ทนายความฯ ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก

ศูนย์ทนายความฯ ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก

 

จากแถลงการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรื่องการข่มขู่คุกคามการทำงานของนักกฎหมายและองค์กรสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา

เนื่องจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ร่วมกันจัดเวที “รายงานสิทธิมนุษยชนและเวทีเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” แต่ก่อนหน้าวันที่จัดงาน คือวันที่ 1 กันยายน 2557 ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและองค์กรร่วมจัดงาน ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ และถ้าหากองค์กรยังยืนยันดำเนินกิจกรรมต่อไปอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คนขึ้นไป 

ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีความเห็นต่อพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่คือ

การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และเสวนาถึงความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในช่วงหลังรัฐประหารเท่านั้น ไม่ใช่การชุมนุมทางทางการเมืองแต่อย่างใด อีกทั้ง การจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาจากข้อมูลที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และคดีความในความรับผิดชอบของทางศูนย์ทนายความฯรวมถึงองค์กรภาคี ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพในฐานะนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีประกาศกฎอัยการศึก การติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ข้อมูลสู่สังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

การแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ถูกรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ อีกทั้ง คสช. ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดย คสช. เองก็ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนชาวไทย ที่จะได้รับการคุ้มครองตามประเพณีในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ไทยมีอยู่แล้ว การขอให้ยุติกิจกรรมจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว

การที่เจ้าหน้าที่ทหาร ขอความร่วมมือ ให้ยุติการจัดงานออกไปก่อน โดยแจ้งว่า หากทางศูนย์ยังยืนยันจัดกิจกรรมจะถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ ซึ่งทางศูนย์มองพฤติการณ์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการข่มขู่คุกคามนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสังคม และลิดรอนสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมถึงครอบครัว ไม่ได้รับความเป็นธรรมและการชดเชยเยียวยา ซึ่งขัดต่อภาพลักษณ์ที่ คสช. ได้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอประณามพฤติการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้น แต่ยังยืนยังถึงหน้าที่ของนักกฎหมายในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และพร้อมนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วันหลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นในช่องทางอื่นต่อไป เพื่อไม่ให้เหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่างๆจางหาย โดยผู้ที่ถูกละเมิดและครอบครัวไม่ได้รับการค้นหาความจริงและความยุติธรรม ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันข้อเสนอในรายงานดังกล่าวต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ

1. ขอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ

2. ยกเลิกการกักตัว จับกุม ควบคุมบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก

3. ยกเลิกการจำกัด ควบคุม เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทุกรูปแบบ

4. ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ