ศาลพิพากษา คดีผลกระทบด้านมลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

ศาลพิพากษา คดีผลกระทบด้านมลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาฟื้นฟูชีวิตของชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม เช่น ให้รื้อถอนสนามกอล์ฟแล้วให้ปลูกป่าทดแทน ให้อพยพชาวบ้านที่ประสงค์จะอพยพออกนอกรัศมี 5 กม.

วันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา  10.00 น .  ที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่  ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง  เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.16-31/2553 ระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับพวกรวม 11 คน ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เป็นเงื่อนไขท้ายประทานบัตรเหมืองแร่ 

โดยศาลปกครองสูงสุด มีพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองขั้นต้น เป็น ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังนี้

1.ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างทีทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้

2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัฐมีผลกระทบ  5 กิโลเมตร

3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถอดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และปลูกป่าทดแทน  เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4.ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้สายพานที่ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน  ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ผล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรวม ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunkerในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่ต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ทั้งนี้ตามข้อเรียกร้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ให้ กฟผ.ชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1,086 ล้านบาทนั้น ทางศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้มีการตัดสินเรื่องนี้แต่อย่างใด เนื่องจากหลักฐานการยื่นฟ้องของชาวบ้าน ที่กล่าวว่าทาง กฟผ.ปล่อยมลพิษจนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และสุขภาพโดยรวม ยังไม่ชัดเจน

ส่วนคดีที่ชาวบ้านเรียกร้องค่าชดเชย มีกำหนดการในวันที่ 25 ก.พ.2558 ศาลปกครองเชียงใหม่  นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้ป่วย 131 ราย ซึ่งมีเอกสารยืนยันทางการแพทย์ที่ยื่นฟ้อง กฟผ.ด้วย หากศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กฟผ.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 131 ราย รวมเป็นเงิน 1,086 ล้านบาท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ