ศาลฎีกาให้อิสรภาพ (ชั่วคราว) ผู้เฒ่าวัย 73 คืนสู่เทือกเขาภูพาน

ศาลฎีกาให้อิสรภาพ (ชั่วคราว) ผู้เฒ่าวัย 73 คืนสู่เทือกเขาภูพาน

รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

ญาติพี่น้อง รวมทั้งชาวบ้านผู้มาคอยให้กำลังใจ ต่างโหมเข้าปลอบ พร้อมร่วมผูกข้อต่อแขนพ่อเฒ่าวัย 73 หลังศาลสกลนครมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ในคดีความถูกกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน-ดงกระเชอ

20152709155527.jpg

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2558 ที่เรือนจำจังหวัดสกลนคร ผู้ได้รับผลกระทบด้านที่ดินทำกิน เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมรับร่วมกันรับขวัญนายสำราญ กลางรัก วัย 73 ปี ชาวบ้านจำปาทอง หมู่ที่ 10 ต. หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร หลังศาลฎีกามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว กรณีถูกกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน-ดงกระเชอ

นายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลในคดีนี้ว่า จากเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดสกลนครนัดฟังคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2617/2557 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร โจทก์ กับ นายสำราญ กลางรัก จำเลย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี 

ภรรยาจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันโดยใช้ที่โฉนดที่ดินมูลค่า 600,000 บาท ศาลจังหวัดสกลนครได้มีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2558 โดยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ด้วยเกรงว่าจะมีการหลบหนี

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2558 จำเลยได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต่อศาลฎีกา จากนั้นเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดสกลนครได้นัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา โดยศาลฎีกา ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีหลักประกัน 350,000 บาท 

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2558 ภริยาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวโดยใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน ศาลจังหวัดสกลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ 

แม้จะเป็นการปล่อยตัวเพียงชั่วคราว แต่ทั้งญาติๆ พี่น้อง และผู้มาร่วมให้กำลังใจต่างแสดงความดีใจ โอบกอด พร้อมกับทำการผูกข้อแขนเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมา

ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า นายสำราญ เป็น 1 ในจำนวน 31ที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวต่างเป็นหนี้สินต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาล เช่น นางจันทร์จิรา ดียา เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 ศาลพิพากษา ปรับ 35,000 บาท จำคุก 2 ปี จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 เดือน ปรับ 17,000 บาท 

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.58 ศาลจังหวัดสกลนคร นัดฟังคำพิพากษา นายภักดี ศรีสวัสดิ์ ลงโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี และในวันที่ 18 มิ.ย. 58 ศาลจังหวัดสกลนครนัดฟังคำพิพากษา นายประเสริฐศักดิ์ บุระวงศ์ โดยศาลพิพากษา ให้คำคุก 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา เป็นต้น 

เหล่านี้คือตัวอย่างของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ภายใต้ คำสั่ง คสช. ที่ 64/57 

20152709155551.jpg

 

ลำดับเหตุการณ์ และพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ทำการละเมิด 

วันที่ 20 พ.ย. 2555 เจ้าหน้าที่ป่าไม้พรรณนานิคม เขต 7 กำนันตำบลหลุบเลา และผู้ใหญ่บ้าน กองกำลังทหารบก และตำรวจภูธรภูพาน ได้ประกาศหลอกชาวบ้านว่า บุคคลใดที่มีพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าภูทบ ให้นำเอกสารการถือครอง และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านมา ยื่นกับเจ้าหน้าที่ เพื่อจะทำเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้ นอกจากนี้ยังหลอกอีกว่า บุคคลใดที่มีพื้นที่เกิน 15 ไร่ ให้ทำการแบ่งที่ดินให้กับลูกหลานคนในครอบครัว และให้นำเอกสารของคนในครอบครัวมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งชาวบ้านก็มีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ จึงได้หลงเชื่อ พร้อมนำเอกสารทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่ต้องการส่งไปให้

กระทั่งวันที่ 14 มี.ค. 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูพานมีหมายเรียกว่าชาวบ้านได้บุกรุกป่าสงวน และได้ให้ชาวบ้านมารายงานตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หากไม่รีบปฏิบัติตามคำสั่ง จะออกหมายจับดำเนินคดี ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับ ชาวบ้านจึงพาไปรายงานตัวตามหมายเรียก

ต่อมา หลังรัฐประหาร ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนขึ้นมากกว่าเดิมเป็น เพราะหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้ามากระทำการขมขู่ คุกคาม ห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ ในพื้นที่ของตนเองโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจพื้นที่โดยตลอด เหตุเพราะเกรงว่าชาวบ้านจะแอบลักลอบเข้าไปทำมาหากิน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก ด้วยไม่มีที่ทำกินที่อื่น ทำให้ต้องเสี่ยงชีวิตที่ต้องแอบเข้าไปกรีดยางในสวนของตัวเอง หากเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาก็จะรีบหลบหนีทันที

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ได้เข้าไปบุกยึดทรัพย์สินของชาวบ้าน และได้บุกเข้าไปในกระท่อมของชาวบ้าน ทำลายข้าวของ และได้ขโมยเอาขี้ยาง นอกจากนี้ยังได้ปล่อยไก่ ปล่อยห่าน ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ออกจากคอกจนหมด

แม้จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวคือ นับแต่วันที่ 16 ส.ค. 2557 ได้ไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ชะลอการตัดยางและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์ฯ จังหวัดมารับเรื่อง และผู้ว่าจังหวัดสกลนคร แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์ฯตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับได้รับคำตอบว่าทางอำเภอได้เร่งรัดทางอัยการให้ดำเนินคดีไปแล้ว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ