ศาลเชียงใหม่สืบพยานโจทก์และจำเลย คดีทหารที่ฐานบ้านอรุโณทัยฟ้องชาวลาหู่ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังเผยแพร่คลิปชาวบ้านโต้เถียงกับทหารทางเฟซบุ๊ก ชาวบ้านกองผักปิ้งให้กำลังใจนักข่าวพลเมืองของชุมชน
เมื่อวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวลาหู่จากบ้านกองผักปิ้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กว่า 20 คน เดินทางจากหมู่บ้านมายังศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้กำลังใจ นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ซึ่งจะต้องขึ้นให้การและสืบพยาน ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตามนัดหมายสืบพยายานโจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.1676/58 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับนายไมตรี เจริญสืบสกุล ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยคดีนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาว่านำข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ทหารและกองทัพ
การนัดหมายสืบพยานครั้งนี้ พยานฝ่ายโจทก์ทั้งสิ้น 5 ปาก ฝ่ายจำเลย 8 ปาก ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟัง เช่นตัวแทนนักศึกษาด้านกฏหมายสิทธิมนุษยชนจากประเทศออสเตรเลีย ตัวแทนสภาทนายความ ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ตัวแทนสื่อมวลชนจากไทยพีบีเอส และชาวบ้านกองผักปิ้งอีกจำนวนหนึ่ง
ชาวบ้านบอกว่า “ไมตรีเป็นคนที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนับถือ เขาเป็นทั้งครูสอนศาสนา เขาทำกิจกรรมเพื่อรวมคนในชุมชนอยู่ตลอด และเขาเองทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนในหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้ เขาจะทำหนังสั้น ทำคลิปพวกวัฒนธรรมประเพณี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนลาหู่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ที่มาวันนี้ก็มาให้กำลังใจเขา” ทั้งนี้การสอบพยานโจทก์และจำเลยครั้งที่ 1 ใช้เวลา 3 วันและจะมีนัดครั้งต่อไป ในวันที่ 8มีนาคม 2559 เพื่ออ่านคำพิพากษา
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ มีรายงานว่า พื้นที่เกิดเหตุ คือบ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีประชากรราว 80 หลังคาเรือน โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ไกลจากตัวอำเภอเชียงดาวไปราว 50 กิโลเมตร มีหมู่บ้านของหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่ไกลจากกัน และยังมีหน่วยของเจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำอยู่ คือฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย
มีรายงานจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารฐานปฏิบัติการบ้านอรุโณทัย ระบุว่าเหตุเกิดตั้งแต่วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2557 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีเหตุทะเลาะกันของกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านกองผักปิ้ง และแจ้งเหตุมายังเจ้าหน้าที่ทหาร จึงเข้าระงับเหตุ บริเวณลานปูนกลางหมู่บ้าน ระหว่างการระงับเหตุ มีชาวบ้านอ้างว่า มีการทำร้ายชาวบ้านเกิดขึ้น จึงมีเสียงร้องโวยวาย ตะโกนว่า เจ้าหน้าที่ทำร้ายชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ยืนยันว่า ไม่มีเหตุนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ อาจจะเป็นความเข้าใจผิด
ขณะที่ข้อมูลจากชาวบ้านบ้านกองผักปิ้ง ยืนยันว่ามีเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายชาวบ้านเกิดขึ้นจริง โดยในคืนวันส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ วัน 31 ธ.ค.57 เวลาประมาณสองทุ่ม ชาวบ้านประมาณ 10 คน กำลังนั่งล้อมวงผิงไฟอยู่บริเวณมุมของลานสนามกีฬา ได้มีรถกระบะยี่ห้อเชฟโรเลตสีดำ พร้อมกับรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ขับเข้ามาจอดบริเวณถนนติดกับลานสนามกีฬา พร้อมส่องไฟหน้ารถเข้ามาทางกลุ่มชาวบ้านที่กำลังผิงไฟอยู่
จากนั้น ชาวบ้านระบุว่าได้มีกลุ่มบุคคลเป็นชายแปลกหน้าประมาณ 5 คน ในชุดนอกเครื่องแบบ แต่บางรายใส่กางเกงทหาร และมีคนหนึ่งถือปืนยาวในมือ ขณะที่หลายคนพกปืนสั้น บางรายใส่เสื้อเกราะกันกระสุน เดินเข้ามาหากลุ่มชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนตกใจกลัว วิ่งหนีออกไปก่อน ขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกราว 7 คน ไม่ได้ลุกหนีไปไหน ในจำนวนนี้มีหญิงสูงอายุ 1 ราย และเด็กชายอายุช่วงสิบปีต้นๆ จำนวน 3 คน
ชายกลุ่มดังกล่าวเข้ามาถึงสั่งให้ชาวบ้านก้มหน้าลง พร้อมกับมีการนำปืนมาจี้ ก่อนที่ชายคนหนึ่งในกลุ่มจะใช้ฝ่ามือตบที่ใบหน้าชาวบ้านทีละคน เด็กชายคนหนึ่งที่ถูกตบถึงกับร้องไห้ ชายคนดังกล่าวไม่ได้ชี้แจงใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่มีใครทราบสาเหตุการทำร้ายนี้ และชายคนดังกล่าว ก็ได้เดินหลบหายตัวไปทันที โดยขณะนั้นยังมีไฟจากรถกระบะส่องมาที่กลุ่มชาวบ้าน ทำให้เห็นใบหน้าของชายคนดังกล่าวไม่ชัด
สักพักหนึ่ง ชาวบ้านในหมู่บ้านทยอยกันออกมาดูว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดหนึ่ง ราว 5 นาย ขับรถเดินทางตามมา ส่วนชายนอกเครื่องแบบที่เหลือก็ยังอยู่ในบริเวณนั้น เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่าได้เกิดเหตุที่วัยรุ่นชาวไทใหญ่และชาวลาหู่ทะเลาะกัน เจ้าหน้าที่จึงขึ้นมาติดตาม
ส่วนชาวบ้านที่ตามมาถึง เมื่อทราบว่าคนที่ถูกตบหน้า มีคนแก่และเด็กด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น และต้องการให้เจ้าหน้าที่ขอโทษ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะมีการนัดหมายไปทำความเข้าใจกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในวันรุ่งขึ้น (1 ม.ค.2558)
จากเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.2557 ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า คนที่ทำร้ายชาวบ้านเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะมีทั้งการพกพาอาวุธปืน และมีท่าทางสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบอีกชุดที่ติดตามขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านได้เรียกร้อง ให้เจ้าหน้าที่ทหารหาตัวคนทำร้ายชาวบ้าน มาขอโทษชาวบ้าน ขณะที่มีการเจรจากันนั้นนายไมตรี ได้ใช้กล้องวีดีโอบันทึกคลิปวีดีโอไว้ ชาวบ้านได้ขอให้โพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊กของไมตรี เพื่อหาตัวคนผิดมาขอโทษชาวบ้าน โดยทุกครั้งที่มีเหตุการณ์หรือข่าวสารเกิดขึ้นในชุมชนไมตรีก็ใช้เฟซบุ๊กนี้ในการสื่อสารเรื่องราวอยู่แล้ว …
ต่อมามีการโพสต์คลิปดังกล่าว และมีเพจอื่นนำไปโพสต์ต่อโดยเพิ่มข้อความในลักษณะโจมตีทางการเมือง ไม่กี่วันจากนั้น นายไมตรีได้ทราบว่าเมื่อวันที่ 4 ม.ค. เจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าแจ้งความเอาผิด ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 คือนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายไมตรีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
รู้จักไมตรี …เจ้าของคลิปลาหู่ตกปลา
ผู้ถูกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นี่คือคลิป ลาหู่ตกปลา ที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อใหม่ มียอดวิวทำลายสถิติคลิปสั้นที่เผยแพร่ทางไทยพีบีเอส
https://www.youtube.com/watch?v=8BhOkke6_kQ
คลิปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการที่นี่บ้านเรา ตอน ลาหู่ เป็น อยู่ คือ หนึ่งในผลงานการถ่ายทำ ออกแบบการเล่าเรื่องของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ผลิตสื่อพลเมืองชาวลาหู่ที่ได้มาร่วมพัฒนารายการร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส เป็นไมตรีคนเดียวกันกับที่กำลังมีคดีทหารที่ฐานบ้านอรุโณทัย ฟ้องชาวลาหู่ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังเผยแพร่คลิปในเฟซบุ๊ค ชาวบ้านโต้เถียงกับทหารว่ามีเหตุทหารตบเด็กและผู้ใหญ่ในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 2557 ศาลอยู่ระหว่างสืบพยานทั้งสองฝ่าย วันนี้จึงอยากชวนไปทำความรู้จักไมตรีให้มากขึ้นกัน
ไมตรี จำเริญสุขสกุล ปัจจุบันอายุ32 ปี เขาเป็นผู้นำที่รวบรวมเยาวชนในหมู่บ้านกองผักปิ้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ที่เสี่ยงต่อการข้องแวะกับยาเสพติดมาเป็นกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่ เมื่อปี พ.ศ. 2544 เน้นการทำกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรม เช่นดนตรี ฟ้อนรำ รำดาบ ฝึกกังฟูลาหู่ และทำภาพยนต์ ปีพ.ศ. 2553 กลุ่มรักษ์ลาหู่ได้เข้าร่วม “เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง” ซึ่งเป็นเครือข่ายเชิงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ปี2554 ไมตรีเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการเกี่ยวก้อยของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” Ja Boe Means A Man of Fortuneซึ่งเล่าถึงสภาพปัญหาชนเผ่าลาหู่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรของรัฐบาลไทย และยังมีบทบาทเป็นวิทยากรพี่เลี้ยงให้แก่โครงการเกี่ยวก้อยทุกรุ่นเพื่อฝึกฝนเยาวชนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ให้ผลิตภาพยนตร์สั้นบอกเล่าเรื่องราวตนเองจนถึงปัจจุบัน
ทีมสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ได้พบกับ ไมตรี และทีมเยาวชนรักษ์ลาหู่ เมื่อปี 2556 ในช่วงที่กลุ่มรักษ์ลาหู่เริ่มทำหนังสั้น และผลงานที่สะท้อนวิถีชีวิตและสิ่งที่คนลาหู่กำลังเผชิญมีประเด็นน่าสนใจที่ควรจะขยายผล เราเห็นฝีมือในการผลิตสื่อของทีม จึงสนับสนุนชวนมาร่วมฝึกอบรมผลิตรายการ สองกำลังสื่อ บ้านเธอบ้านฉัน และ จนกระทั่งถึงรายการที่นี่บ้านเราและเหล่านี้คือผลงานของไมตรีและทีมรักษ์ลาหู่
รายการเด็กมีเรื่อง ตอน เล่าเรื่องลาหู่ https://www.youtube.com/watch?v=_Ird04zXaMM
บ้านเธอก็บ้านฉัน ตอน สัญชาติ อิสรภาพ https://www.youtube.com/watch?v=K_l_ccRaDgI
รายการที่นี่บ้านเราตอน ลาหู่ เป็น อยู่ คือ https://www.youtube.com/watch?v=XTkcjxJu5OU
รายการที่นี่บ้านเราตอน ปายสองแง่ https://www.youtube.com/watch?v=JSoIdw3uVUI
ไมตรียังได้ใช้ศักยภาพด้านงานสื่อเป็นนักข่าวพลเมือง ทำหน้าที่รายงานเรื่องราวความเป็นไปในพื้นที่ของตนเองเผยแพร่หลายช่องทางรวมทั้งสื่อใหม่ด้วย เพราะมีคนลาหู่ที่สื่อสารและเข้าถึงพื้นที่สื่อได้ไม่มากนัก
ไมตรีเคยพูดคุยกับไทยพีบีเอส ถึงเหตุผลของความต้องการสื่อสารของเขาว่า
“ผมเริ่มต้นงานสื่อ หลังจากรวมกลุ่มทำกิจกรรมของรักษ์ลาหู่ เราคิดว่าอยากทำหนังเล่น เอากล้องคอมแพคมาถ่ายหน้าบ้าน และหาหนังสือมาอ่านว่าตัดต่ออย่างไร ขอยืมใช้คอมพิวเตอร์ที่โบสถ์อรุโณทัย ซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 14 กิโลเมตร ไปขอนอนที่นั่น ตัดต่อหนังแล้วเอาไฟล์มาเปิดดูหัวเราะกันเฮฮา จากนั้นก็ขยายผลมากขึ้น มีการแสดงเป็นทีม 40-50 คน เป็นหนังลาหู่ทำได้ 3-4 เรื่องมีคนเห็น มาบอกว่าหลักการทำยังไม่ถูก สนใจเรียนหรือไม่ เขาก็ชวนไปเรียนด้านภาพยนต์ที่ฟิลิปปินส์ ร่วมโครงการหนังเกี่ยวก้อยกับกลุ่มเพื่อนไร้พรมแดน จากนั้นไปเรียนรู้กับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ทำเป็นสารคดีออกมาหลายตอน”
“ผมเริ่มต้นเรียนเพื่ออยากทำหนัง ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราเรียนจะเอามาสื่อสารให้คนอื่นแบบข่าว หรือสารคดี ไม่เคยคิด เรียนทำหนังคิดว่าจะทำให้ฉากนั้นๆ สนุกอย่างไร แต่พอได้เรียนกับไทยพีบีเอส การเขียนบท การค้นหาประเด็น ก็เริ่มมองหาว่าหมู่บ้านเราก็มีประเด็นที่สังคมจำเป็นต้องรับรู้เรื่องของลาหู่ เช่น สัญชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต การทำมาหากิน มีหลายอย่างที่สามารถสื่อไปได้ สิ่งที่ทำไปคือประเด็นสัญชาติ ในรายการ บ้านเธอก็บ้านฉันตอน สัญชาติ อิสระภาพ”
“ก่อนหน้าที่ทำรายการก็วิ่งวุ่นกันมากเรื่องสัญชาติเข้าออกหมู่บ้านกับสถานที่ราชการ เพราะเกี่ยวเนื่องกับหลักฐาน เราอาจขาดความรู้ในการได้มาเรื่องสัญชาติ วิ่งไปที่อำเภอ บอกว่าขาดเรื่องนี้ บางคนก็เข้าใจหรือไม่เข้าใจ กลับไปเอาเอกสารแล้วก็ไปอีกที เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าขาดอีกอย่าง สถานที่ราชการห่างจากหมู่บ้าน 30 กว่ากิโลเมตร ทำให้การติดต่อยาวนาน บางคนได้บ้าง บางคนไม่ได้ บางคนท้อไม่อยากทำ บางคนโดนหลอกลวง จ่ายเงินแต่ไม่ได้บัตรก็มี แต่หลังจากที่ทำรายการ เผยว่าการขอสัญชาติมันเหน็ดเหนื่อยมาก เดินเรื่องผ่านเด็กคนหนึ่งชื่อสุทิศ ที่ต้องไปเทศบาล อำเภอหลายครั้ง กับเดินเรื่องผ่าน นาคา ผู้หญิงที่ท้องแก่ไม่มีสัญชาติแต่กำลังจะคลอดลูก จะทำอย่างไร ซึ่งเมื่อเผยแพร่ไป ก็มีหน่วยงานเข้ามา ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่ามีวิธีอย่างไร จุดที่ชาวบ้านไม่เข้าใจก็จูงมือชาวบ้านไป ได้สัญชาติหลายพันคน ทำให้เรามีโอกาสใช้สื่อเป็นประโยชน์ด้านนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเราทำหนังเน้นความสนุก ถ่าย คนที่ดูจะสนุกกับเราไหม มองเหมือนกับที่เราตั้งใจจะเผยแพร่ไหม พอทำเป็นรายการ สารคดีไม่เชิงความสนุกอย่างเดียว ต้องมีสาระ มีความจริงด้วย และต้องคิดก่อนนำเสนอว่าถ้าเรานำเสนอไปคนที่ทำจะอยู่ได้ไหม เราจะเป็นอย่างไรด้วยหรือไม่ ต้องคิดว่าออกไปมีผลกับคนในชุมชน ได้หรือไม่ได้ ไม่เหมือนกับหนัง หนังเราสร้างตามที่เราคิดได้”
“เรื่องของสื่อผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีพลังเช่นนี้ ปัญหาของเราเมื่อเผยแพร่ออกไป ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของโลกของคนอีกหลายคนที่เราอาจมองไม่เห็นเขา แต่เมื่อสื่อเผยออไป มีคนมาช่วยงานเราได้ แต่สื่อก็เอาปัญหามาให้เราด้วยก็มี กรณีล่าสุดที่ผมโดน เอาคลิปไปลงสื่อใหม่ที่เกิดการทะเลาะกันของชาวบ้าน พอไปลงถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีไปว่าเอาคลิปไปลงโดยไม่ใช่ความจริง สื่อทำหน้าที่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็ช่วยให้ได้แผยแพร่มีคนมาช่วย อีกด้าน ทำให้เราเจอปัญหามากขึ้น อยู่ที่เราต้องเรียนรู้เรื่องของสื่อ และก็เป็นบทเรียนแก่ผมด้วย”