ร้องหยุด ‘เผาทดสอบก๊าซดงมูลรอบ 2’ ชี้ไม่มีแจ้งใน EIA – ผลกระทบเดิมยังไม่แก้ไข

ร้องหยุด ‘เผาทดสอบก๊าซดงมูลรอบ 2’ ชี้ไม่มีแจ้งใน EIA – ผลกระทบเดิมยังไม่แก้ไข

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด เดินหน้าร้องผู้ว่าฯ ขอนแก่น ตรวจสอบการเผาทดสอบก๊าซดงมูลรอบ 2 เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้แจ้งใน EIA อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายังไม่มีการแก้ไข จี้หยุดดำเนินการให้ศึกษาผลกระทบก่อน

20150210153116.jpg

 
2 ต.ค. 2558 เวลาประมาณ 12.30 น. ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขอให้ตรวจสอบการเผาทดสอบก๊าซโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5 ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ครั้งที่ 2 โดยมีตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นออกมารับหนังสือจากชาวบ้าน

20150210153254.jpg

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ให้เหตุผลว่าการเผาทดสอบก๊าซครั้งที่ 2 เป็นขั้นตอนที่ไม่ได้แจ้งใน EIA อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนหน้าก็ยังไม่มีการแก้ไข ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและผลผลิตการเกษตรของประชาชน จึงต้องหยุดการดำเนินการเผาทดสอบที่จะเกิดขึ้นก่อน และเปิดพื้นที่ให้หลายส่วนเข้ามาศึกษาผลกระทบและเก็บข้อมูล รวมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ฯ ประมาณ 20 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอรายงานการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคีโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซ ดงมูล 5 กับนายอำเภอกระนวนด้วย

ทั้งนี้ การเผาทดสอบก๊าซดังกล่าว ดำเนินการเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการเผาทดสอบก๊าซครั้งแรกไปเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในรอบนี้บริษัทฯ แจ้งว่าจะทำการเผาทดสอบก๊าซ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 15 วัน เริ่มเผาทดสอบก๊าซประมาณวันที่ 7 ต.ค. 2558 และการวัดแรงดันก๊าซต่อเนื่องอีก 30 วัน

หนังสือของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ระบุว่า จากการติดตามการดำเนินโครงการของบริษัทฯ พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่น การกำจัดขยะ และการลักลอบใช้น้ำสาธารณะของชุมชน 4 แหล่ง โดยไม่แจ้งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น 

นอกจากนั้นแล้ว ก่อนจะถึงระยะเผาทดสอบก๊าซ ซึ่งเป็นระยะที่มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ทำการเก็บข้อมูลทั้งด้านสุขภาพ และผลผลิตการเกษตร ของประชาชน อย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ระบุด้วยว่า ทางกลุ่มฯ ได้ยื่นหนังสือที่ 016/2558 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขอให้ชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะเผาทดสอบก๊าซ ของหลุมเจาะ ดงมูล 5 แต่ไม่ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลตามคำเรียกร้องของประชาชน โดยแจ้งว่ามีไตรภาคีทำหน้าที่ดังกล่าว

หลังจากบริษัทดำเนินโครงการ ผลปรากฏว่า ระยะเผาทดสอบก๊าซ มียางพาราของชาวบ้านตายในหลายแปลง บางส่วนชาวบ้านยืนยันว่าเกิดจากการเผาทดสอบก๊าซ ไม่ยอมรับการชดเชยจาก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่ให้เหตุผลว่ายางตายจากภัยแล้ง และเชื้อรา เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และเกษตรกรในพื้นที่รอบฐานบางส่วนไม่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่ได้ เพราะระหว่างการขุดเจาะมีเสียงดัง และช่วงเวลาที่เผาทดสอบก็มีกลิ่นเหม็นจนไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้ 

ขณะที่เกษตรกรบางส่วนที่ทนสูดดมกลิ่นเหม็น ก็เกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งผื่นคัน และร่างกายอ่อนเพลีย แม้บริษัทจะมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวได้ 

“จากการดำเนินการที่ผ่านมาเราพบว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์ผลกระทบและรับผิดชอบความเสียหายกับชุมชนอย่างเป็นธรรม ขณะที่ความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมยังเป็นข้อพิพาทไม่มีข้อยุติ” 

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ระบุถึงการเผาทดสอบก๊าซครั้งที่ 2 ด้วยว่า ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ได้แจ้งว่าบริษัทจะมีการเผาทดสอบก๊าซ 2 รอบ การเผาทดสอบครั้งนี้ อาจเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะยุติการเผาทดสอบก๊าซ ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2558 ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และคาดว่าจะเกิดความเสียหายอีก

20150210153550.jpg

 

หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีรายละเอียดดังนี้

 

วันที่ 2 ตุลาคม 2558

เรื่อง     ขอให้ตรวจสอบการเผาทดสอบก๊าซโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5 รอบที่ 2 

เรียน     ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

สิ่งที่ส่งมาด้วย
1. สำเนาหนังสือขอให้ชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะเผาทดสอบก๊าซ ของหลุมเจาะ ดงมูล 5
2. ข่าวประชาสัมพันธ์การเผาทดสอบก๊าซ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 15 วัน

เนื่องจาก เรากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามที่ทางกลุ่มฯ ได้คัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เรื่อยมา เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม หลุมเจาะ ดงมูล-5 แปลงสำรวจบนบก L 27/43 ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แต่กระนั้น บริษัทยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการต่อไป โดยอ้างว่ามีมาตรการป้องกันผลกระทบที่ดี และกระทำถูกต้องตามกฎหมาย

จากการติดตามการดำเนินโครงการของบริษัทฯ พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เช่น การกำจัดขยะ และการลักลอบใช้น้ำสาธารณะของชุมชน 4 แหล่ง โดยไม่แจ้งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ก่อนจะถึงระยะเผาทดสอบก๊าซ ซึ่งเป็นระยะที่มีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ทำการเก็บข้อมูลทั้งด้านสุขภาพ และผลผลิตการเกษตร ของประชาชน อย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้ยื่นหนังสือที่ 016/2558 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขอให้ชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะเผาทดสอบก๊าซ ของหลุมเจาะ ดงมูล 5 แต่ท่านไม่ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลตามคำเรียกร้องของประชาชน แจ้งว่ามีไตรภาคีทำหน้าที่ดังกล่าว หลังจากบริษัทดำเนินโครงการ ผลปรากฏว่า ระยะเผาทดสอบก๊าซ มียางพาราของชาวบ้านตายในหลายแปลง บางส่วนชาวบ้านยืนยันว่าเกิดจากการเผาทดสอบก๊าซ ไม่ยอมรับการชดเชยจาก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่ให้เหตุผลว่ายางตายจากภัยแล้ง และเชื้อรา เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ และเกษตรกรในพื้นที่รอบฐานบางส่วนไม่สามารถทำการเกษตรในพื้นที่ได้ เพราะระหว่างการขุดเจาะมีเสียงดัง และช่วงเวลาที่เผาทดสอบก็มีกลิ่นเหม็นจนไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้ ขณะที่เกษตรกรบางส่วนที่ทนสูดดมกลิ่นเหม็น ก็เกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งผื่นคัน และร่างกายอ่อนเพลีย แม้บริษัทจะมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวได้ จากการดำเนินการที่ผ่านมาเราพบว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์ผลกระทบและรับผิดชอบความเสียหายกับชุมชนอย่างเป็นธรรม ขณะที่ความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมยังเป็นข้อพิพาทไม่มีข้อยุติ บริษัทกลับแจ้งว่าจะทำการเผาทดสอบก๊าซ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 15 วัน ซึ่งจะเริ่มเผาทดสอบก๊าซประมาณวันที่ 7 ตุลาคม 2558 และการวัดแรงดันก๊าซต่อเนื่องอีก 30 วัน ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ไม่ได้แจ้งว่าบริษัทจะมีการเผาทดสอบก๊าซ 2 รอบ การเผาทดสอบครั้งนี้ อาจเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะยุติการเผาทดสอบก๊าซ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น และคาดว่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชนอีกครั้ง 

ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ตรวจสอบการเผาทดสอบก๊าซ 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 15 วัน และการวัดแรงดันก๊าซต่อเนื่องอีก 30 วัน ของโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5 และขอให้เลื่อนการเผาก๊าซออกไป จนกว่าจะมีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพิสูจน์ข้อเท็จจริง 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ไม่รับหนังสือ! ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ 3 พื้นที่พลาดหวัง รมต.พลังงานเปลี่ยนแผนการเดินทางหนี 

จับตาเผาทดสอบก๊าซ ‘ดงมูล-5’ ชาวบ้านพ้อ ผู้ว่าฯ ขอนแก่นบอก ‘เกิดผลกระทบค่อยมาร้องเรียน’
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ